สนข.ตั้งงบ'แสนล้าน'ลุยโครงสร้างพื้นฐานปี58

สนข.ตั้งงบ'แสนล้าน'ลุยโครงสร้างพื้นฐานปี58

สนข.แจงแผนลงทุนโครงสร้างคมนาคมปี58 กว่าแสนล้านบาท ใช้เงินงบประมาณในโครงการปรับปรุงถนน ขยายช่องทางจราจรและใช้เงินกู้ลงทุนระบบราง

เปิดโครงการรถไฟรางคู่ 15 โครงการ ชี้โครงการรางคู่พร้อมลงทุนปี 58 กว่า 4 หมื่นล้านบาท เร่งสรุปผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเสนอ คสช.ตัดสินใจ ก.ค. นี้ ชูเส้นทาง กทม.-พิษณุโลก นำร่อง ไม่ทิ้งโมเดลลงทุนภาครัฐเอกชน ชี้ทุกโครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 12%

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศและประกาศนโยบายเร่งด่วนทางเศรษฐกิจหลายนโยบาย รวมถึงการฟื้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ที่จะผลักดันให้เริ่มลงทุนภายในปีนี้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข. กระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณหารือกันเบื้องต้นว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในปีงบประมาณ 2558 จะใช้วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเป็นการนำโครงการที่เคยบรรจุอยู่ในแผนการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมาจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน

โดยในระยะเร่งด่วนจะเป็นโครงการที่คำนึงถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดประชาคมอาเซียน ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับโครงการขยายถนนที่เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เป็น 4 ช่องทางจราจรโดยเฉพาะอยู่ในเส้นทางที่อยู่ในเครือข่ายของถนนอาเซียนที่จะเชื่อมไปยังด่านพรมแดนสำคัญๆ โครงการขยายช่องทางจราจรเป็น 4 ช่องทางจราจร โครงการบูรณะทางหลวงที่มีความเสียหายมากๆ เช่น ถนนเพชรเกษม ซึ่งจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2558

อย่างไรก็ตาม ในการใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 บางส่วนจะใช้เงินจากงบประมาณซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการที่เกี่ยวกับถนน ส่วนโครงการที่เป็นระบบรางทั้งหมด ทั้งโครงการรถไฟรางคู่และโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะใช้เงินกู้มาใช้ในการลงทุน

เดินหน้ารถไฟรางคู่ วงเงิน 4 หมื่นล้าน

สำหรับรายละเอียดในการลงทุนในปีงบประมาณ 2558 แบ่งเป็น 1.โครงการรถไฟรางคู่ วงเงิน 40,204 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินงบประมาณเฉพาะค่าเวนคืนแต่การลงทุนสร้างรางจะใช้เงินกู้ 2.โครงการรถไฟฟ้าที่สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีเนื่องจากได้รับอนุมัติแล้ว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีน้ำเงิน และสีแดงซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง วงเงิน 2,286 ล้านบาท ส่วนโครงการจะเริ่มเปิดประมูลในปีนี้ ได้แก่ โครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ส่วนโครงการที่จะต้องมาหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกำหนดการและการดำเนินการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู และสีเหลือง ซึ่งโครงการสายสีส้มแม้จะได้รับการอนุมัติแล้วแต่เนื่องจากโครงการมีความยาวมาก จึงต้องหารือกันว่าจะก่อสร้างในช่วงใดก่อน

3.โครงการปรับปรุงทางรถไฟและซ่อมแซม ราง ไม้หมอน และอื่นๆ วงเงิน 10,460 ล้านบาท 4.โครงการลงทุนสาขาการขนส่งทางถนน วงเงิน 47796 ล้านบาท และ 5.สาขาการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ การศึกษาโครงการท่าเรือน้ำลึกและชายฝั่ง วงเงิน 950 ล้านบาท

“โครงการที่ใช้เงินระดับหมื่นล้านบาทจะใช้เงินกู้ เพราะหากใช้เงินงบประมาณจะใช้ได้จำกัด ดังนั้นการใช้งบประมาณจะนำมาใช้จ่ายคืนเงินกู้เพราะสามารถทยอยจ่ายคืนเงินกู้ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงการคลังจะดูแลเพดานหนี้สาธารณะหลังจากที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งโครงการที่จะเริ่มในปี 2558 อาจไปอยู่ในไตรมาส 3 ปี 2558 ซึ่งอาจจะเริ่มโครงการได้ในปีงบประมาณ 2559 ทำให้ไม่กระทบต่อภาระงบประมาณในภาพรวม”

นำร่อง ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย

สำหรับการลงทุนโครงการรถไฟรางคู่ ผ.อ. สนข.กล่าวว่า ตามแผนของกระทรวงคมนาคม มีทั้งหมด 15 เส้นทาง โดยโครงการที่พร้อมดำเนินการได้ทันที โดยศึกษาและจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จแล้ว คือ โครงการในเส้นทาง ฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย วงเงินลงทุน 11,348 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2557 ส่วนอีกโครงการที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการแต่จะต้องรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) พิจารณา และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2557 หรือต้นปี 2558 คือ โครงการชุมทางจิระ - ขอนแก่น วงเงินลงทุน 26,007 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่ต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ กกวล.และอาจเริ่มสร้างได้ในปี 2559 มีทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการลพบุรี - ปากน้ำโพ วงเงินลงทุน 24,842 ล้านบาท 2.โครงการมาบกะเบา - นครราชสีมา (ถนนจิระ) วงเงิน 29,855 ล้านบาท 3.โครงการนครปฐม - หัวหิน วงเงิน 20,038 ล้านบาท 4.โครงการประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร วงเงิน 17,293 ล้านบาท และโครงการเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ วงเงิน 77,486 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในปี 2559 และแล้วเสร็จภายในปี 2561 - 2562

สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ที่เป็นโครงการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา ออกแบบ และจัดทำ EIA ซึ่งคาดว่าอาจจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 ได้แก่ โครงการ บ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม วงเงินลงทุน 42,420 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีอีกหลายโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มการศึกษา ออกแบบ หรือจัดทำ EIA เลยแต่อยู่ในแผนที่อาจมีการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตได้แก่ 1.โครงการปกาน้ำโพ - เด่นชัย วงเงินนลงทุน 29882 ล้านบาท 2.โครงการขอนแก่น - หนองคาย วงเงิน 18,244 ล้านบาท 3.โครงการชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี วงเงิน 32399 ล้านบาท 4.โครงการหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 9,437 ล้านบาท 5.โครงการชุมพร - สุราษฎร์ธานี วงเงิน 17,510 ล้านบาท 5.โครงการ สุราษฎร์ธานี - ปาดังเบซาร์ 35,544 ล้านบาท และโครงการ 6.ชุมทางบ้านภาชี - อ.นครหลวง วงเงิน 2,934 ล้านบาท

เสนอผลศึกษารถไฟความเร็วสูง ก.ค.นี้

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง สนข.ได้ศึกษาทั้ง 4 เส้นทางไว้แล้วและอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 โครงการ มีเงินลงทุนรวมกว่า 8 แสนล้านบาท หรือมูลค่าการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อโครงการ ทั้งนี้จะนำเสนอผลการศึกษาโครงการให้ คสช.พิจารณาภายในเดือน ก.ค.นี้ว่าจะเดินหน้าลงทุนหรือไม่ ซึ่งโครงการที่จะเสนอ คสช.ว่าอาจจำเป็นที่จะก่อสร้างก่อน คือ โครงการ กทม. - พิษณุโลก ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ค่าโดยสารไม่สูงมากนักโดยอยู่ที่ประมาณ 800 บาทต่อเที่ยว ซึ่งกว่าที่โครงการจะสร้างเสร็จประมาณปี 2563

เปิดเอกชนร่วม "ไฮสปีด-มอเตอร์เวย์"

ส่วนแนวทางการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน นายจุฬา กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมวงเงินลงทุนประมาณ 70 % ของโครงการจะเป็นการลงทุนของภาครัฐ โดยในบางโครงการสามารถเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุน ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงหากรัฐเป็นผู้ลงทุนในระบบรางและเอกชนลงทุนในระบบการเดินรถ ก็จะทำให้สามารถประหยัดเงินลงทุนของภาครัฐลงได้ 30% ของวงเงินลงทุนในแต่ละโครงการ เช่นเดียวกับโครงการโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ที่จะใช้วิธี PPP เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ บางใหญ่ - บ้านโป่ง - กาญจนบุรี จะใช้รูปแบบการลงทุนในรูปแบบ PPP โดยใช้เงินงบประมาณเฉพาะในส่วนการเวนคืน ส่วนการก่อสร้างจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและให้สัมปทานกับเอกชนในการเก็บค่าผ่านทาง

แจงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 12%

สำหรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ นายจุฬา กล่าวว่า โดยปกติจะต้องมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 12% เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกทม.-ปริมณฑลหากทำครบทุกเส้นทางจะสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใช้เวลาในการลงทุนนาน ส่วนใหญ่จะเห็นผลในการคุ้มทุนในระยะเวลาประมาณ 7 - 10 ปี นับจากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จซึ่งจะให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจในระยะยาว