'บิ๊กป้อม-หม่อมอุ๋ย'กุนซือคสช.'ซ.ค.คอนเนกชั่น'

'บิ๊กป้อม-หม่อมอุ๋ย'กุนซือคสช.'ซ.ค.คอนเนกชั่น'

"คณะที่ปรึกษาทั้งหมดนี้ก็คือตัวเต็งที่จะได้รับเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่"

พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการยึดอำนาจรัฐ และเข้าควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้ 1 สัปดาห์ จึงเห็นโฉมหน้าคณะที่ปรึกษา คสช. จำนวน 10 คน

คณะที่ปรึกษา คสช. แบ่งออกเป็น 2 สายคือ สายทหาร ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ., พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ. , พล.อ.นพดล อินทปัญญา อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรอง ผบ.ทบ.

ส่วนสายพลเรือน ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ,สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ,ณรงค์ชัย อัครเศรณี และ ยงยุทธ ยุทธวงศ์

แทบไม่น่าเชื่อว่าในที่ปรึกษา 10 คน มีถึง 4 คนที่เรียนจบโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล และในนั้นมี 2 คน เป็นเพื่อนรักร่วมรุ่น "เลือดน้ำเงิน-ขาว" ที่สื่อหลายสำนักเรียกขานว่า "เซนต์คาเบรียลคอนเนกชั่น"

"ซ.ค.คอนเนกชั่น" ใน คสช.ที่ผู้คนกล่าวถึงนั้นคือ สายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ย้อนไปเมื่อปี 2549 เมื่อ คมช. จัดตั้งรัฐบาลพลเรือน ปรากฏว่าทั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีหลายคน ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เริ่มจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี , ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง, โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีอุตสาหกรรม , พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีคมนาคม และ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ด้วยเหตุนี้ ปลายปี 2549 สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และสมาคมผู้ปกครองและครูเซนต์คาเบรียล จึงจัดงาน "Saint Gabriel's Union is Strength น้ำเงินและขาว พลังแห่งเกียรติยศ" และมอบรางวัล Certificate of Vincent Mary ให้กับศิษย์เก่าดีเด่นที่ได้รับการดำรงตำแหน่งสำคัญ และรวมถึงบรรดา ครม.เลือดน้ำเงิน-ขาวด้วย

สำหรับวันนี้ "ซ.ค.คอนเนกชั่น" ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คนทั่วไปอีกครั้งในนาม "คณะที่ปรึกษา คสช." และยังพ่วงด้วยสายสัมพันธ์พิเศษ ที่ก่อรูปขึ้นโดย พล.อ.ประวิตร ผ่าน "มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด" ศูนย์รวมใจภายใน "กลุ่มเพื่อนประวิตร" อันคึกคักยามนี้

หลังจาก คสช.ประกาศแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ก็มีข่าวเล็กๆชิ้นหนึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช. ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เดินทางเป็นประธานในการมอบทุนการศึกษา ให้แก่บุตร-ธิดาของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่โรงเรียนวังน้ำเย็นวิทยาคม อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว

หากเปิดดูรายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด นอกจาก พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานกรรมการ ก็ยังพบ "บิ๊กเนม" มากมาย อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาเป็นรองประธานกรรมการ

พร้อมกับเหล่านายทหารอย่าง พล.อ.นพดล อินทปัญญา, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ,พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และน้องๆ จากบูรพาพยัคฆ์อีกหลายคน

นอกจากสายทหารบูรพาพยัคฆ์ ก็ยังมีตัวแทนกลุ่มทุนอย่าง พล.อ.พัฑฒะนะ พุธานานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด เป็นรองประธานกรรมการ

รวมถึงกรรมการที่ชื่อ ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ อดีตผู้บริหารองค์การโทรศัพท์ และผู้บริหาร "คอม-ลิงค์" บริษัทที่เคยวางระบบเคเบิลใยแก้วให้องค์การโทรศัพท์

สำหรับกรณีของ "คอม-ลิงค์" ยังผูกพันถึง "ซ.ค.คอนเนกชั่น" อีก 2 คนคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับ ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ผู้บริหารคอม-ลิงค์คนหนึ่ง ทั้่งคู่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นน้ำเงิน-ขาว

ทั้งหมดนี้ล้วนถักทอเป็น "เครือข่ายมูลนิธิอนุรักษ์ป่าฯ" ที่มีสำนักงานอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ (ร.1 รอ.)

ว่ากันว่า พล.อ.ประวิตร มิเพียงมี "ซ.ค.คอนเนกชั่น" หรือ "เครือข่ายมูลนิธิอนุรักษ์ป่าฯ" เท่านั้น หากยังมี "บิ๊กกี่" พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนรักร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 6 เป็นมือประสานสิบทิศ

"บิ๊กกี่" หรือ พล.อ.นพดล คือเพื่อนรักเตรียมทหารรุ่น 6 ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งชีวิตราชการของ พล.อ.นพดล จะอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)

ปี 2541 "บิ๊กกี่" ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. และ "บิ๊กป้อม" ก็ครองตำแหน่ง ผบ.พล.2 รอ. แต่เส้นทางเหล็กของสองนายทหารคู่นี้ สะดุดด้วยปัญหาบางประการ

แต่เมื่อถึงยุคไทยรักไทย "บิ๊กเหวียง" พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็น รมว.กลาโหม และในฐานะน้องรักของบิ๊กเหวียง จึงทำให้ "บิ๊กกี่" ได้เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม

ที่สำคัญ พล.อ.เชษฐา กับ "บิ๊กป้อม" ก็ถือเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ในหน่วย พล.ร.2 รอ. และบิ๊กเหวียง จึงเป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนบิ๊กป้อมขึ้นเป็น ผบ.ทบ.

บิ๊กกี่เป็นนายทหาร ที่รู้จักผู้คนกว้างขวาง โดยเฉพาะนักการเมืองก็คุ้นเคยเกือบทุกพรรค รวมถึงสื่อมวลชนระดับคอลัมนิสต์ขาใหญ่ ซึ่งคณะที่ปรึกษา คสช. ได้มอบหมายให้บิ๊กกี่ ทำงานด้านสื่อ เพื่อการอธิบายความเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของ คสช.

ทั้งบิ๊กป้อมกับบิ๊กกี่ ยังสนิทชิดเชื้อกับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. อันเนื่องมาจากการจัดตั้ง "รัฐบาลพลิกขั้ว" ในหน่วย ร.1 รอ. เมื่อปลายปี 2551

วงใน กปปส.ก็พูดถึงชื่อบิ๊กป้อมอยู่บ้าง จนไปสู่การขยายผลโจมตีอดีต ผบ.ทบ.ของคนเสื้อแดง

จะอย่างไรก็ตาม รายชื่อที่ปรึกษา คสช. ทั้ง 10 คน จะมีโครงสร้างคล้าย "คณะรัฐมนตรี" ภายใต้โครงสร้าง คสช. ที่มีหัวหน้า คสช. ที่เป็นทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จะเป็นผู้ขอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนประเทศ

เชื่อว่า คณะที่ปรึกษาทั้งหมดนี้ ก็คือตัวเต็งที่จะได้รับเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างแน่นอน