ความดันสูงรักษาเหมือนโรคหัวใจ

ความดันสูงรักษาเหมือนโรคหัวใจ

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ พัฒนาวิธีรักษาด้วยการจี้ระบบประสาทอัตโนมัติ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับความดันโลหิตยาก

แม้ค่าความดันโลหิตจะสูงอย่างมาก แต่กลับไม่มีอาการแสดง ทำให้โรคความดันโลหิตสูงถือเป็น 'ภัยเงียบ' ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมความดันโลหิตให้ได้ ล่าสุด ความก้าวหน้าทางการแพทย์พัฒนาวิธีรักษาด้วยการจี้ระบบประสาทอัตโนมัติในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับความดันโลหิตยาก

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) จัดอยู่ในกลุ่มของโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ถือเป็นโรคเรื้อรัง และส่งผลเสียต่อร่างกายโดยตรง เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย อย่างที่หลายคนนึกไปไม่ถึง

พญ.ปิยนาฏ ปรียานนท์ อายุรแพทย์หัวใจและหลอดเลือด สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท อธิบายว่า สาเหตุของความดันโลหิตสูง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

ความดันโลหิตสูงปฐมภูมิ หรือความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension) ปัจจุบันทราบ สาเหตุแล้วว่าเป็นผลจากความไม่สมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติและ ฮอร์โมนที่ควบคุมการหดตัว หรือการขยายของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ซึ่งเป็นวงจรที่เกี่ยวเนื่องกันโดยตรง ระหว่างการสั่งการจากสมอง ประสาท ไขสันหลัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตทั้งสองข้าง รวมทั้งหน่วยไตที่อยู่ในเนื้อไต

และความดันโลหิตสูงที่เป็นผลจากภาวะโรคใดโรคหนึ่ง หรือความดันโลหิตสูงทุติยภูมิ (Secondary Hypertension) เช่น ภาวะธัยรอยด์ เป็นพิษ ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หรืออุดตัน เนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น

“ความดันโลหิตสูงปฐมภูมินั้น ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้เหมือนความดันโลหิตสูงทุติยภูมิที่หากรักษาโรคต้นตอก็จะหายตาม ในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรับพฤติกรรม ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง” พญ.ปิยนาฏอธิบาย

โรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงได้แก่ หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก, หลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน, หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, จอประสาทตาเสื่อม, ไตวายเรื้อรัง, หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ที่อยู่ในช่องอก หรือช่องท้อง โป่งพองและปริแตก, หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญของร่างกายตีบหรืออุดตัน

แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง อายุรแพทย์หัวใจและหลอดเลือด สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ทกล่าวว่า เริ่มจากการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำรงชีวิต เช่น ลดการบริโภคเกลือ และอาหารที่มีรสเค็มจัด เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ฯลฯ และหากมีความดันโลหิตสูงที่เป็นผลจากภาวะโรคใดโรคหนึ่ง (ความดันโลหิตสูงทุติยภูมิ) ให้การรักษาตามสาเหตุนั้น

หากควบคุมไม่ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำรงชีวิตดังกล่าว อาจต้องรับประทานยา ชนิดของยา และปริมาณยาที่ต้องรับประทานเพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แตกต่างกันไปใน

ผู้ป่วยแต่ละราย

ในกรณีที่ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนแนวทางการดำรงชีวิตอย่างเต็มที่ และรับประทานยาในชนิดและปริมาณที่มากแล้ว แต่ยังควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการจี้ระบบประสาทอัตโนมัติเมื่อมีข้อบ่งชี้

ข้อบ่งชี้คือ เป็นผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 80 ปี ที่มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ แม้จะได้รับยาลดความดันโลหิตสูงมากกว่า 3 ชนิด โดยที่หนึ่งชนิดในนั้นเป็นยาขับปัสสาวะ และได้รับยาดังกล่าวมาเป็นเวลา 3 เดือน ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมแล้ว

ารรักษาความดันโลหิตสูงที่ควบคุมยากด้วยการจี้ระบบประสาทอัตโนมัติ (Renal Denervation Therapy) เป็นการใช้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ จี้ทำลายร่างแหเส้นประสาทอัตโนมัติที่อยู่ในผนังของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตทั้งสองข้าง โดยใช้อุปกรณ์พิเศษสำหรับการจี้โดยเฉพาะ สอดผ่านหลอดเลือดแดงจากขาหนีบ ย้อนขึ้นไปถึงหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไต ซึ่งเป็นแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง

พญ.ปิยนาฏอธิบายเพิ่มว่า หัตถการดังกล่าว ทำในห้องตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization Laboratory) ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการในแผนกผู้ป่วยวิกฤติประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนย้ายไปพักที่หอผู้ป่วย และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน

การจี้ระบบประสาทอัตโนมัติเพื่อการรักษาความดันโลหิตสูงที่ควบคุมยาก แพทย์ชี้ว่า ไม่สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะธัยรอยด์เป็นพิษ, โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต, หลอดเลือดแดงเอออร์ต้าตีบ เป็นต้น รวมถึงคนที่เคยได้รับการทำบอลลูนใส่ขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตมาก่อน, ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์

“การรักษาด้วยการจี้ระบบประสาทอัตโนมัติสามารถควบคุมความดันให้เข้าสู่เกณฑ์ปกติ ผู้ป่วยทานยาน้อยลงหรืออาจไม่จำเป็นต้องทานยาควบคุมความดันอีก สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” อายุรแพทย์หัวใจและหลอดเลือด สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวททิ้งท้าย