4 ทศวรรษ'ศรีวิกรม์' ภาพสะท้อนธุรกิจการเมือง

4 ทศวรรษ'ศรีวิกรม์' ภาพสะท้อนธุรกิจการเมือง

ศรีวิกรม์ จากยุค "ชอบทุกพรรค รักทุกคน" สู่ยุคเลือกข้าง-การเมืองท้องถนน

กลางปี 2531 "เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์" ตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อตัดสินใจนำทีม "กลุ่ม 10 มกรา" ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ มาจัดตั้ง "พรรคประชาชน" โดยตัวเขาเองนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค

ในการเลือกตั้งทั่วไปปีเดียวกันนั้น "เฉลิมพันธ์" นักอุตสาหกรรม และแลนด์ลอร์ดย่านถนนสุขุมวิท หิ้วกระเป๋าใบใหญ่ไปลงสมัคร ส.ส.นครราชสีมา

จำได้ว่า "เจ้าสัวเฉลิมพันธ์" ให้สัมภาษณ์นิตยสาร "สู่อนาคต" (ฉบับวันที่ 22-28 มิ.ย.2531) ว่าด้วยการเข้ามาสู่วงการการเมืองอย่างหมดเปลือก จึงเป็นที่มาของคำโปรยตรงหน้าปกว่า "เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หมดไปแล้ว 20 ล้าน" และเงิน 20 ล้านบาทเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา

จากรุ่นพ่อรุ่นแม่อันโด่งดัง ตระกูล "ศรีวิกรม์" ไม่เคยห่างหายไปจากถนนการเมืองสายเลือกตั้ง และเมื่อถึงวันหนึ่ง "ลูกสาว-ลูกเขย" ออกไปเล่นการเมืองบนท้องถนน ก็นำมาซึ่งความวุ่นวายภายในครอบครัว

"เจ้าสัวเฉลิมพันธ์" จากไปแล้ว เหลือแต่ "คุณหญิงศศิมา" ที่ยังต้องดูแลธุรกิจของตระกูล และเป็นเสาหลักของครอบครัว

ก้าวแรกนำโดย "คุณหญิงอ๋อย"

ก่อนจะมาเป็น "คุณหญิงอ๋อย" หรือ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ นั้น มีนามสกุลเดิมว่า "วุฑฒินันท์" เป็นบุตรีของ พ.ต.อ.สวงศ์ วุฑฒินันท์ กับ ประกอบกูล อภัยวงศ์

คุณตาของคุณหญิงศศิมาคือ พระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งในวงการเมืองทราบดีว่า ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนแรกเป็นทายาทของพระยาอภัยภูเบศร์ แต่ตอนที่คุณหญิงศศิมาเล่นการเมือง กลับไม่เลือกพรรค ปชป.

จุดหักเหของชีวิตคุณหญิงอ๋อย คือการพบรักกับ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ หนึ่งในทายาทของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ ผู้ที่เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทรณ์

พระยาศรีวิกรมาฑิตย์ ลาออกจากราชการก็ดำเนินธุรกิจค้าขายทองและซื้อขายที่ดิน จนมีที่ดินในกรุงเทพฯ มากมายกลายเป็นแลนด์ลอร์ดแห่งมหานครกรุงเทพฯ และส่งมอบมรดกกับลูกทั้งสาม คือ ท่านผู้หญิงสมศรี, สิทธิพงศ์ และเฉลิมพันธ์

ว่ากันว่า เฉลิมพันธ์ทำธุรกิจพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคุณหญิงอ๋อยยืนอยู่เคียงข้าง บุกเบิกทำธุรกิจใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ

หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ประชาธิปไตยบานสะพรั่งบานพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด

พงส์ สารสิน เพื่อนของคุณหญิงอ๋อย มาชักชวนให้ไปอยู่พรรคกิจสังคม ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคกิจสังคม พ.ศ.โน้นคือศูนย์รวมของกลุ่มทุนใหม่ และที่สุด คุณหญิงศศิมา ก็ตัดสินใจเล่นการเมืองครั้งในชีวิต ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคกิจสังคม โดยรับหน้าที่เป็นรองเลขาธิการพรรค

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2518 คุณหญิงศศิมา ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตพระโขนง แต่ผลออกมาแพ้ พิชัย รัตตกุล ผู้สมัครพรรค ปชป.เพียง 200 กว่าคะแนน

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2519 คุณหญิงศศิมาลงเขตเดิมคือเขตพระโขนง แข่งกับคนเดิม แม้เธอจะค่อนข้างมั่นใจ แต่ก็ปรากฏว่าพ่ายแพ้ไปพันกว่าคะแนน

บนถนนการเมือง ดูเหมือนคุณหญิงศศิมาจะไม่ค่อยมีโชคนัก แม้การเลือกตั้งปี 2531 เธอจะกลับมาลงสมัคร ส.ส.เขตพระโขนง ในสีเสื้อพรรคประชาชน (พรรคที่มาสามี-เฉลิมพันธ์ ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรค) ก็ยังสอบตกอีกครั้งจนได้

"เฉลิมพันธ์" เดิมพันการเมือง

แม้จะเป็นคู่คิดกันในเรื่องการทำธุรกิจ แต่ในการเมือง เฉลิมพันธ์คิดไม่ตรงกับภรรยา เฉลิมพันธ์ชอบพรรค ปชป.มานานแล้ว แถมยังชักชวนให้คุณหญิงอ๋อยเข้า ปชป.ตอนแพ้เลือกตั้งปี 2518

พอคุณหญิงศศิมาวางมือ เฉลิมพันธ์จึงเข้าพรรค ปชป.ในยุคตกต่ำ หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 โดยเวลานั้น พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค และเฉลิมพันธ์เคยเป็นเลขาธิการของพรรค

เฉลิมพันธ์ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกที่เขตพระโขนง ในสีเสื้อ ปชป. ก็สอบตก พ่ายกระแสประชากรไทยฟีเวอร์ และเว้นวรรคไปหนึ่งสมัย ก่อนจะมาลงสนาม ส.ส.อีกครั้งปี 2529 จึงได้เป็น ส.ส.กทม.สมัยแรก

ปี 2531 สมาชิกพรรค ปชป.ส่วนหนึ่งหนุนให้เฉลิมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. แต่ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเหตุนี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งกันเองในพรรค และสุดท้ายเฉลิมพันธ์กับอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่งก็ลาออกจากพรรค อันเป็นตำนาน "กลุ่ม 10 มกรา" ให้เล่าขานกันจนถึงบัดนี้

เมื่อตั้ง "พรรคประชาชน" เฉลิมพันธ์ ย้ายสนามไปลงสมัคร ส.ส.ที่นครราชสีมา ด้วยการชักชวนของ เลิศ หงษ์ภักดี อดีต ส.ส.นครราชสีมา (เลิศ หงษ์ภักดี เป็นบิดาของระนองรักษ์ และเป็นพ่อตาของไพโรจน์ สุวรรณฉวี)

ปี 2533 เฉลิมพันธ์ในฐานะ ส.ส.โคราช และหัวหน้าพรรคประชาชน ได้นำพรรคไปรวมตัวกับพรรคก้าวหน้าของ อุทัย พิมพ์ใจชน พรรครวมไทยของ ณรงค์ วงศ์วรรณ และพรรคกิจประชาคมของ บุญชู โรจนเสถียร กลายเป็น "พรรคเอกภาพ"

หลังรัฐประหาร 2534 คณะทหาร รสช.จั้งตั้ง "พรรคสามัคคีธรรม" โดยมีพ่อเลี้ยงณรงค์ เป็นหัวหน้าพรรค เฉลิมพันธ์ถูกดึงเข้าไปร่วมด้วยและมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2535/1 เฉลิมพันธ์ไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่ก็หนุนช่วย ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ลูกเขยของ เลิศ หงษ์ภักดี เป็น ส.ส.นครราชสีมา สมัยแรกได้สำเร็จ

กล่าวสำหรับเฉลิมพันธ์ บุตรชายคนสุดท้องของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ แต่งงานกับคุณหญิงศศิมา มีบุตรรวม 4 คนคือ พิมล, ชัยยุทธ, วิกร และทยา เมื่อเขาวางมือทางการเมือง ก็มีบุตรชายคนโตเข้ามาเล่นการเมืองในยุคมนต์รักประชานิยม

"ลูกคนโต" ใต้ร่มเงาทักษิณ

ก่อนจะก้าวสู่สังเวียนการเมืองเหมือนบิดามารดา "เอ" พิมล ศรีวิกรม์ เคยเป็นอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2543-44 พิมลติดสอยห้อยตาม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาร่วมก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย และได้เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเป็นเลขานุการของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ

นอกจากนั้น พิมลยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย 2 สมัย หลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 พิมลถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคการเมือง

ปี 2550 พิมลได้ช่วย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก่อตั้งกลุ่มธรรมาธิปไตย แล้วจึงไปร่วมกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

เงียบหายไปพักใหญ่ พิมลก็หวนกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2555 ซึ่งเวลานั้น น้องสาวคนเล็กได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง ในฐานะรองผู้ว่า กทม. โดยมีน้องเขยเป็นผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์

อีกด้านหนึ่ง พิมลเป็นที่รู้จักของสาธารณชน จากการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ปี 2550 โดยมีเพื่อนรักของเขาคือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นเลขาธิการสมาคมเทควันโดฯ

"เอ พิมล" กับ "ตั้น ณัฏฐพล" เป็นทั้งเพื่อนและญาติ เมื่อณัฏฐพลแต่งงานกับ "อีฟ ทยา" น้องสาวสุดรักของพิมล

"ลูกเขย-ลูกสาว"ก้าวสู่ท้องถนน

ชั่วโมงนี้ "อีฟ" ทยา ทีปสุวรรณ ลูกสาวคนเล็กของคุณหญิงศศิมา และสามี "ตั้น" ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กำลังเด่นดังในฐานะแม่ทัพ กปปส.

"ตั้น ณัฏฐพล" เกิดที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของ วีระพันธ์ ทีปสุวรรณ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และผู้บริหารองค์กรธุรกิจอีกหลายแห่ง

ณัฏฐพลเคยดูแลกิจการของครอบครัวภรรยาเช่น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรีย์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัลไทย จำกัด ประจำสาขาดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูแลการขยายตลาดพรม แบรนด์ Royal Thai ในพื้นที่ประเทศตะวันออกกลาง

ปี 2550 ณัฏฐพลเข้ามาสู่ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ส.เขต 10 กทม. ตอนแรกสอบตก แต่มีเลือกตั้งซ่อมปี 2552 จึงสอบได้ และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการพรรคฯ ส่วนภรรยา "ทยา" ก็เข้ามารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.

นัยว่า ทั้งณัฏฐพล-ทยา ต่างก็เป็นคนสนิทสายกำนันสุเทพ แม้ว่า "ลุงกำนัน" จะวางมือในฐานะเลขาธิการพรรค แต่ ณัฏฐพล ก็ยังเป็น ผอ.พรรค จนถึงวันที่ลาออกมาเป็นแกนนำ กปปส.

แล้วสถานการณ์การเมืองในตระกูล "ศรีวิกรม์" ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกสาว-ลูกเขย ในฐานแกนนำ กปปส.ไปเป่านกหวีด แสดงการประท้วง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร

จากนั้น ก็มาด้วยการเหตุปาระเบิดใส่บ้านใหญ่ของตระกูลศรีวิกรม์ ที่สุขุมวิท, ยิงกราดบ้านพักตากอากาศของคุณหญิงศศิมาที่เขาใหญ่ และแขวนระเบิดที่บ้านของณัฏฐพล ย่านสุขุมวิท

7 มี.ค.2557 ทยาได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า จะขอเว้นวรรคทางการเมือง ขอยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองชั่วคราวและคงจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมอีก แต่ณัฏฐพล-สามีในฐานะแกนนำ กปปส.ยังเคลื่อนไหวต่อไป

ก่อนหน้าที่ทยาจะตัดสินใจเว้นวรรคทางการเมือง พิมลได้โทรไปขอโทษคุณหญิงพจมาน ซึ่งฝ่ายหลังได้รับคำขอโทษ และบอกว่าไม่เป็นไร และพิมลยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลายสำนักทำนองว่า ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของน้องสาวและน้องเขย รวมทั้งการเคลื่อนไหวของ กปปส.ที่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ

ไม่ว่าการเมืองเรื่องของครอบครัว "ศรีวิกรม์" จะลงเอยอย่างไร? แต่สังคมการเมืองไทย ได้บันทึกไว้ว่า ตระกูลศรีวิกรม์ เป็นต้นแบบของการเล่นการเมืองสไตล์ "ชอบทุกพรรค รักทุกคน"

อยู่มาวันหนึ่ง คนในตระกูลศรีวิกรม์ ออกไปเล่นการเมืองบนท้องถนน ก็เจอทั้งปืน และระเบิด ซึ่งไม่เคยพานพบมาก่อน

40 ปีแล้วที่คนไทยได้เห็นตระกูลศรีวิกรม์โลดแล่นอยู่ในหลายพรรคการเมือง อาทิ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคเอกภาพ พรรคสามัคคีธรรม พรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป "ตระกูลศรีวิกรม์" คือบันทึกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย จากยุคนักเลือกตั้ง สู่ยุคนักเคลื่อนไหวบนท้องถนนเรียบร้อยแล้ว