ขวัญนภา ชูแสง "วาจากรีด เจ็บกว่ามีดบาด"

ขวัญนภา ชูแสง "วาจากรีด เจ็บกว่ามีดบาด"

อานุภาพของ 'ภาษา' ที่สามารถใช้ฝ่าสภาวะ 'ซอยตัน' ของสมองได้ แต่ในคราวเดียวกัน ก็สามารถำลายล้างมิตรภาพหลายสิบปี ให้ทลายลงได้ในพริบตา

เคยมีคนทำวิจัย 'คลื่นความเจ็บปวด' โดยให้คนมายืนด่า แล้ว 'วัดแรงสั่นสะเทือน' ของสมอง เปรียบเทียบกับ การเอามีดกรีดลงไปที่นิ้ว ผลก็คือ พลังสมองสะเทือนในระดับที่เท่ากัน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ความเจ็บจากคมมีดยังมีวันหาย ขณะที่ 'คำด่า' กลับสามารถเพิ่มความเจ็บปวดได้ตามกาลเวลา..

นั่นคือ อานุภาพที่ทรงพลังของ 'คำพูด' ซึ่งหากออกจากปากของคนที่มีสถานะทางสังคมในระดับสูงมากเท่าไหร่ อานุภาพก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า กับการเมืองไทยในวันนี้ ความขัดแย้งหลายๆ ครั้งเกิดจากการพูดไม่คิดของคนใหญ่นายโตทั้งหลาย

สำหรับ ดร.ขวัญนภา ชูแสง หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกเธอว่า 'ครูขวัญ' นั้น จากจุดเริ่มต้นในการ 'โค้ชชิ่ง' แก้ปมภาษาอังกฤษ ปัญหาระดับชาติของคนไทย โดยการันตีว่า สามารถสอนคนที่อ่านภาษาอังกฤษได้ให้ดูหนังฮอลีวูดรู้เรื่องได้ภายในวันเดียวนั้น เธอยืนยันว่า เรื่องของ "ภาษา" กับ "จิต" เป็นสิ่งที่ผูกกันเป็นเกลียวแน่น

  • ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาโค้ชชิ่งเรื่องภาษาอังกฤษ

เริ่มจากที่ตัวเองมีปัญหา เมื่อก่อนอยู่ที่อเมริกา ก็มีความเครียดเรื่องการปรับตัว และการเข้าสังคมของฝรั่ง ทั้งๆ ที่อยู่เมืองไทย เรียกว่าเก่งภาษาอังกฤษมาก แต่ไปอยู่ที่โน่น เขาพูดอะไร ฟังไม่ออก ไม่เข้าใจ ส่วนหนึ่งก็เป็น Culture shock ด้วย ตอนนั้นไปปรึกษาแพทย์ก็ไม่ได้คำตอบ ปรึกษาญาติก็ไม่มีใครเข้าใจ เลยต้องหาวิธีช่วยตัวเอง ไปเจอสมาคมสะมาริตันส์ (The Samaritans of Thailand) เขาบอกว่า ก่อนคุณคิดฆ่าตัวตายให้โทรหาเขา ก็เลยโทรไป ปรากฏว่า ตอนที่ได้คุย รู้สึกว่าเขาตั้งใจฟังเราจริงๆ เวลาเราทุกข์ เราอยากมีใครสักคนมาเป็นคนฟัง แต่ที่ผ่านมามีแต่คนแนะนำ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ที่นี่เขาตั้งใจฟัง เราก็ใช้บริการเขาเรื่อยๆ แล้วก็พบว่า มันมีวิธีที่ค่อนข้างดีในการเยียวยาเบื้องต้น

เหมือนเราได้ระบายออก การตั้งคำถามของเขาทำให้เรานึกถึงเรื่องที่เราภูมิใจ เวลาของความสำเร็จ เราก็เล่าให้เขาฟัง โน่น นี่ นั่น มันก็ได้ความรู้สึกดีๆ กลับมา เริ่มเยียวยาตัวเองมาเรื่อยๆ จนปรับตัวได้ในที่สุด ประมาณ 10 ปี เป็นอยู่ดีมา 5 ปีหลัง (หัวเราะ) โอเค ไม่กลับบ้านแล้วล่ะ อยู่ที่นี่ดีแล้ว แต่วันดีคืนดี ชีวิตก็ไม่ใช่ของเราเนอะ ตึกเวิลด์เทรดถูกเครื่องบินชน กระทบไปที่งานที่ทำอยู่ ก็มี 2 ทางให้ตัดสินใจ คือ เราเปลี่ยนงานที่โน่น หรือ กลับมาเมืองไทย

ตอนนั้นถ้าเริ่มต้นที่ใหม่ อเมริกาเขาให้คุณค่าของประสบการณ์ ถ้าคุณเคยทำอะไรมาบางอย่าง บนเส้นทางนี้ก็จะได้เงินเยอะขึ้น แต่ถ้าคุณจะไปทำสายอื่น เขาจะไม่สนความแก่ และการทำงานของคุณ ถ้าย้ายงานใหม่ ค่าใช้จ่ายมันไม่ไหวน่ะ เรามองว่า อเมริกาไม่มีทางไปสำหรับตัวเองแล้ว เลยสมัครงานจากที่โน่นกลับมาเมืองไทย ก็พบว่า พื้นที่ที่เราทำได้ดีจากการที่เราเป็นผู้บริหารไป ก็คือ วัน ๆ เราจะต้องมานั่งคุยกับลูกน้องเราบ้าง เพื่อนๆ เราบ้าง ในเรื่องภาษาอังกฤษ

มันก็เป็นทางแยกอีกรอบหนึ่งว่า งานนี้น่าสนใจกับการที่เราได้ใช้ประสบการณ์เล่าเรื่องราวให้ผู้คนฟัง ก็มาศึกษาดูว่าการเป็นครูมันมีวิธีอะไรบ้าง เราพบว่า คนที่เขาสนใจภาษาอังกฤษ มันมีหลักการคิด ทัศนคติ มุมมองในรูปแบบที่เขาเติบโตมา พอจะเปลี่ยนไปเป็นพูดภาษาอังกฤษ เขาไม่มีพื้นที่ของโลกใหม่ เพราะภาษาอังกฤษ ฝรั่งเขาเป็นคนคิด พอเป็นคนอื่นคิด สมองของเรามันดีดไปไม่ได้ มันไม่คุ้นเคย ก็เลยต้องไปเรียน(เฉพาะทาง สาขา) จิตวิทยา การจัดการเพิ่ม แล้วก็เลยเริ่มเปิดคอร์สสอน

  • คุณมองว่าปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องของจิต ?

ใช่ เป็นปัญหาเรื่องของเราไม่ปรับตัวเข้ากับสิ่งที่มันจะต้องเปลี่ยนไป เรามีมายด์เซ็ท (mindset) หรือชุดคำพูดเกี่ยวกับภาษาอังกฤษว่า 'มันไม่ใช่ภาษาแม่' เป็นอะไรที่ต้องดัดจริต ซึ่งสมองเวลาเขาอยากได้อะไร จิตใต้สำนึกเขาจะทำให้เราได้อันนั้น

สำหรับตัวเอง จากที่ต้องทำงานแปลตลอดเวลา ตอนเรียนภาษาอังกฤษก็ไม่มีปัญหา ฟังคนพูดก็แปลได้ แต่ทำไมเราอยู่อเมริกาเราพูดไม่ได้ สมองเราไม่รับรู้ เราไม่ได้ยินเลย เมื่อเราย้อนกลับไปดูก็พบว่า มันมีคำถามมากมายที่เราตั้งอยู่ตลอดเวลา เราพูดถูกหรือยัง เราจะใส่เท้นส์(tense)ผิดไหม กังวลไปหมด แล้วเราไม่รู้ว่าภาวะเหล่านี้มันปิดฟังก์ชั่นที่จะทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเราก็จะไม่รู้ตัวด้วยถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ

อีกส่วน ภาวะโดดเดี่ยวของคนที่ไปเมืองนอกมันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกคน มันเป็นเหมือนการถอนตัวเองออกไปอยู่ในที่ที่แบบ... เหมือนอยู่กลางทะเลทราย หันซ้าย หันขวาไปก็ไม่เจอใคร ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่กลับรู้สึกว่า เราไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ แล้วภาวะอย่างนี้มันปล่อยทิ้งนานไม่ได้ ยิ่งถ้าเราไม่มีเพื่อน เขาเรียกภาวะ 'เช็คอิน' คือเราเข้าไปเช็คอินคุยกับตัวเองบ่อยๆ โดยไม่รู้เลยว่า มันส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเรา

ตอนนั้น เวลาไปทำงาน ใครพูดอะไรนิดนึงเราก็จะร้องไห้ ซึมเศร้า หรือเราก็จะคิดว่า เรามีปัญหา ใครพูดอะไรหน่อยเราก็จะคิดว่า เขาว่าเราแน่นอน กลับบ้านไปเราก็จะไปหาวิธีแก้ปัญหาบ้าๆ บอๆ เช่น ทำงานให้มากขึ้น แล้วก็พยายามเอาใจเจ้านาย ซื้อของไปฝาก แต่มันก็ไม่แก้ปัญหาตรงจุด เพราะเราไม่ยอมฟังว่า เขาต้องการอะไร เขาอาจจะต้องการแค่ให้คุณทำงานให้เขากับทีม ไม่ใช่ต้องมากขนาดนี้ก็ได้ แต่เราไม่ได้ยินเลย คือ มันสะกดภาวะการรับรู้จากภายนอกไปหมด

  • เรียนก็อีกอย่าง ชีวิตจริงก็อีกอย่าง?

จริงๆ คนที่เราเจอ เขาไม่ได้มีปัญหาภาษาอังกฤษ เขามีปัญหาเหมือนเราเลย คือเจอฝรั่งแล้ว นึกอะไรไม่ออก ตีบตัน ฟังไม่เข้าใจ คือ เขาฟังพูดอ่านเขียนได้หมด แต่ต้องไม่ใช่บริเวณที่ฝรั่งอยู่ หรือบริเวณที่ฝรั่งอยู่ก็พูดได้ แต่เมื่อมีคนไทยอยู่ด้วยกลับพูดไม่ได้

เราพบว่า ถ้าจะสอนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ด้านของจิตวิทยาน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เขาเห็นว่าอะไรคือข้อจำกัด เราก็เริ่มหาทางเรียนรู้ อย่างที่สมาคมสะมาริตันส์จะมีการอบรมการรับฟัง รับฟังอย่างไม่ตัดสิน รับฟังแบบให้พลังแก่คนที่เป็นทุกข์ ตรงนี้เป็นเหมือนการจุดประกาย ก็ไปเรียนศาสตร์พวกนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สุดท้ายไปเรียนวิชา NLP (Neuro-linguistic programs) อันนี้คือ ภาษาสามารถเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของสมองได้ ก็ชอบมาก เลยนำ NLP เข้ามาใช้ในชีวิต ใช้ในการทำงาน ใช้ในการสอน แล้วก็มาเจออีกศาสตร์หนึ่งชื่อ Brain-based Coaching programs ก็พบว่า สมองกับจิตใต้สำนึกนั้น มีผลกับการแสดงออกของเรา ก็เลยนำเอาศาสตร์ต่างๆ นี้มารวมกัน เพื่อหาพื้นที่ให้คนอยู่ได้ในภาวะยากลำบาก มีกระบวนการ แยกแยะอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการ ก่อนจะลงมือไปปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และระมัดระวังภาษาที่จะใช้ เพื่อสร้างสรรค์สัมพันธไมตรี มากกว่าจะทำลายซึ่งกันและกัน

เพราะภาษาที่เริ่มต้นจากความเครียด ก็จะพาให้อีกฝ่ายเครียดไปด้วย คิดว่า 'สงสัยว่าเรามั้ง' ความบอบบางตรงนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

  • ส่วนใหญ่คนที่มาหา เขามีปัญหาอะไร

เริ่มแรกมาจากสายผู้บริหารทั้งสิ้น เนื่องจากเราเป็นผู้บริหาร เวลาเรามีเพื่อนก็มักจะเป็นผู้บริหาร คามเครียดที่เกิดขึ้นก็เกิดจากการไม่สามารถพูดจาให้ลูกน้องเข้าใจ มาโยงเป็นเรื่องของสัมพันธภาพ มาโยงเป็นเรื่องของความขัดแย้งของความต้องการหลัก ซึ่งผู้บริหารอาจจะต้องการทำงานให้สำเร็จ แต่ความสัมพันธ์มันไม่มี ก็ต้องใช้วิธีบังคับ ดังนั้น สิ่งที่มีมามากที่สุดก็คือ การใช้ภาษาสร้างความสัมพันธ์ มันก็เลยประกบกับภาษาอังกฤษได้สบาย เพราะไหนๆ คุณเรียนภาษาเพื่อสร้างความสัมพันธ์แล้ว ก็ช่วยเรียนภาษาอังกฤษไปด้วยเลย เพราะคุณต้องทำงานระดับอินเตอร์ ก็จะเกิดกลุ่มนี้ขึ้นมาก่อน แล้วก็เริ่มมีผู้บริหารเห็นว่า อยากให้ลูกน้องเรียนด้วย ก็เริ่มมีเทรนนิ่งให้องค์กรต่าง ๆ ทำมา 8 ปีแล้ว

  • แล้วกระบวนการทางจิตวิทยาเข้าไปจับตรงไหน

โดยทั่วไปโครงสร้างของการจัดการมีอยู่ 3 แบบ ขึ้นต้นที่บริษัทมีระบบอยู่ 1 ชิ้น เขาก็เอาคนเข้ามาทำอะไรก็ได้ให้เซิร์ฟระบบ คนตอนแรกก็จะ 'ได้ๆ' แต่ภายใต้ความเป็นมนุษย์ ทำงานมากมันก็เหนื่อย ทีนี้มันคิดมาก มันสับสน think กับ feel วิ่งวนไปมาอยู่ เมื่อมันวิ่งเยอะๆ แล้วไม่ได้ถูกเคลียร์ การแสดงผลก็จะลดลง พอมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น

พอเราเห็นเจ้านาย... อาจจะไปสัญญาอะไรไว้ แล้วทำไม่ได้ ก็ขอให้เราไปโกหกลูกค้า สถานการณ์ตรงนี้จะบีบให้เขาตัดสินว่าคนนี้ไม่ซื่อสัตย์ แล้วก็ไม่กล้าพูด คำว่าความไม่กล้าพูดเนี่ยมันกระแทกมาที่หัวหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์

เวลาเรามาทำกระบวนการเชิงจิตวิทยาแต่ละส่วน แต่ละชิ้นเพื่อให้เขาเห็นว่า เวลามีอะไรเกิดขึ้นมันมีภาษาเข้าไปถาม เข้าไปเชื่อมโยง เข้าไปคุยเพื่อหาความจริง ซึ่งมีทั้งความจริงในฐานล่าง ความจริงมหภาค มันมีความจริงหลายส่วนมาก ไม่ใช่แค่สิ่งที่เห็นอย่างเดียว มันมีความจำเป็นในด้านฐานของความเป็นองค์กร ซึ่งเราเรียกมันว่า สถานะ

ผู้ชายคนนี้ ในสถานะพ่อของลูกแม่ พ่อของลูก กับเจ้านายคุณ ในฐานะลูกน้องบริษัทมันเป็นหมวกคนละใบ แต่มันวิ่งไปวิ่งมาแบบเร็วมาก ซึ่งตรงนี้ ทำให้เกิดความเพี้ยน ถ้าเขาทำสถานะเหมือนกับที่บ้าน บริษัทจะไม่มีวันเจริญ

  • สามารถบอกได้ไหมว่า คนส่วนใหญ่มีปัญหาที่บ้าน แล้วมาลงที่งาน

ทั้งหมดเลย เพราะสมองแยกส่วนไม่ได้ คุณจัดการยังไงที่บ้าน ที่ทำงานก็เหมือนกัน ธรรมชาติมนุษย์ อยู่ที่บ้านจะคิดถึงที่ทำงาน อยู่ที่ทำงานจะเอาเรื่องที่บ้านไปคิด

  • แล้วมันแก้ได้ ?

มันแก้ได้โดยความเข้าใจ ให้ความรู้เพิ่ม และกระบวนการก็คือ ฝึกฝนเรื่อยๆ หมายความว่า มันจะมีหลักการบริหารจัดการ แพทเทิร์นของจิตใต้สำนึก เขาก็จะเห็นว่า มีแพทเทิร์นเดิมแบบนี้ โดยกระบวนการจะนำพาเขาไปเห็นอันใหม่ เขาก็จะมีตัวเลือกว่า คุณจะเลือกไปเป็นอย่างนี้ หรือคุณจะก้าวข้ามไปเป็นคนใหม่

เขาก็จะมีอำนาจ 2 อย่าง สอนให้สมองรู้จักมองหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีไม่เหมือนกันตามความรู้ และประสบการณ์ แต่อย่างน้อยเขาไม่พาตัวเองไปสู่ที่ต่ำ เขาเรียก 'ภาวะซอยตันของสมองคิด' ซึ่งทำให้เกิดความเครียด สมองเขาก็จะโปร่งโล่งสบายในการที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ได้

  • ต้นเหตุของ 'ซอยตัน' คืออะไร

วัฒนธรรมของการเกรงใจเป็นข้อแรก วัฒนธรรมความเกรงใจทำให้เราซ่อนแอบความต้องการของเราไว้ แล้วกลายเป็นความขัดแย้งที่ขุ่นอยู่ในใจ เวลาที่เราไม่พูดในความต้องการของเรา เพราะเรากลัวขัดแย้ง สมองมันสับสนตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว พออีกฝ่ายทำอะไรก็แล้วแต่ เราก็จะรวบรวมหลักฐานว่า เธอเป็นอย่างนี้ เพราะว่าสิ่งที่ฉันคิดน่ะ มันถูก เธอเป็นคนแบบนี้ๆ แล้วก็ไม่พูด สุดท้ายการไม่พูดก็นำพาไปสู่โครงสร้างปัญหาที่ใหญ่และแก้ไม่ออก แม้กระทั่งปัญหาระดับประเทศในตอนนี้ ก็เกิดจากการที่ไม่ได้พูดเรื่องเล็กๆ

มีคนเคยทำวิจัย แล้วถามว่า ความกลัวมีอาการอย่างไร ก็ตอบได้เป็นฉากๆ กลัวนั่น กลัวนี่.. แต่ถ้าผ่าสมองเข้าไปเราจะไม่เจอตรงไหนที่กลัวเลย แสดงว่า มันไม่มีอยู่จริง

บางคนบอกว่า 'กลัวคนว่า' ก็ถามกลับว่า แล้วเคยเดินไปถามคนในห้องนี้ไหม.. ว่าคิดว่า เราไม่ดีหรือเปล่า ..ไม่มีหรอก เขาสร้างบางอย่างมากำหนดพฤติกรรมการแสดงออก ถ้าเขารู้ เท่าทันว่า มันเป็นแค่การหลอกหลอน มุมมอง และความคิด.. เขาก็จะเป็นอิสระ

  • ความขัดแย้งในที่ทำงาน ก็เกิดขึ้นเพราะ 'ภาษา' ?

มุมมองต่อพ่อแม่ เราเติบโตมาไม่ได้มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง เรามากันจากร้อยพ่อพันแม่ เช่นบางคนเรียกตัวเองว่า 'อิสระ' แต่เพื่อนมองว่า โอ้โห.. ทำไม 'สกปรก' จัง.. เห็นไหมนี่ก็เรื่องของภาษานะ

พอมาเจอคนที่อิสระมาก เราก็ไม่กล้าบอกเขาว่า ทำไมโต๊ะเธอรกจัง แต่เราก็อยากจะเห็นโต๊ะเขาสะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่บ้านเขาเรียกอิสระไง.. เราก็ต้องไปหากลุ่มที่เชื่อว่า 'คนนี้ไม่เรียบร้อย' แล้วก็พยายามชี้ชวนว่า ดูสิ.. ชายเสื้อเขาไม่ได้อยู่ในกางเกง.. เช้านี้มา อาบน้ำหรือเปล่า.. นี่แหละ คือ สิ่งที่กรอบมนุษย์มามันเป็นโครงสร้างครอบครัว แล้วถ้ายิ่งโรงเรียนเป็นเหมือนที่บ้านมากเท่าไหร่ กรอบนั้นก็จะยิ่งยึดโยงเป็นยึดติดในคุณค่าหลักที่ตัวเองถูกสร้างขึ้น แล้วถ้าสังคมเพื่อนก็ใช่อีก ทีนี้จะโซนเอาท์ทุกอย่างที่ไม่ใช่ออกไป

ถ้าคุณยิ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล ก็จะยิ่งไปเปลี่ยนให้คนอื่นๆ เดินตาม จนกลายเป็นคุณค่าหลักขององค์กร แต่ทีนี้อย่าลืมว่า จิตใจเขาไม่ได้ไปด้วย เขาทำเพื่อให้เขาได้ อยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้อย่างไม่มีปัญหา แต่จิตใจเขาเกิดความขัดแย้ง

สงครามในที่ทำงาน ก็เกิดจากสิ่งเล็กๆ แค่นี้ แต่ถ้าทุกคนละวางกรอบอะไรบางอย่างลง แล้วมองคนในฐานที่ความเป็น 'มนุษย์' มากกว่าจะมัวแต่เอา 'คุณค่า' ไปตัดสินความเป็นมนุษย์ของเขา มนุษย์จะประกอบด้วยประสบการณ์ชีวิต การดิ้นรนเอาตัวรอด คุณค่าที่เขายึดถือ เราทุกคนรู้กันคนละเรื่อง แต่จะทำให้การรู้คนละเรื่อง หลายๆ เรื่องมาอยู่ด้วยกัน

การเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน ภาษา จะเป็นสะพานเชื่อม แค่พูดกันดีๆ 5 นาที ดีกว่าโกรธกันไปสามวัน คุณจะใช้เวลา 5 นาที หรือจะใช้เวลา 1 เดือน สองเดือน สองปี เพื่อที่จะพบว่า ในที่ทำงานพูดกันน้อยลง

  • ถ้าเทียบกันระหว่างการไม่พูด กับการพูดมากเกินไป ?

มีโทษทั้งคู่ ดังนั้นการใช้ภาษาที่ทรงพลังจึงต้องฝึกฝน และเรียนรู้ มันมีวิธีพูด อย่างอเมริกันเขาก็ใช้คำว่า Assertive Conversation หมายความว่า คุณยืนยันความต้องการในแบบที่ไม่ได้รุกล้ำสิทธิของอีกฝ่าย มันมีสอนกันในหลายๆ มหาวิทยาลัย มันมีกระบวนการมากมายที่ทำให้เราคุยกันได้บนพื้นฐานของบนโต๊ะ เพื่อให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 คนเนี่ย คลี่คลายไปได้

ฉันกับเธอมีความขัดแย้ง ทุกอย่างเคลียร์บนโต๊ะ จบบนโต๊ะ เมื่อเราเดินหันหลังให้กัน เราได้โซลูชั่น หรือทางออกแล้วจากการคิดเหมือนกัน มันก็ทำให้ภาวะของคู่ขัดแย้งมีภาวะของการอิสระในการดำเนินชีวิตต่อไป และมองเห็นที่มาที่ไปอย่างชัดเจน จะได้ไม่มีการรวมพวก รวมก๊วนว่า นี่ไงเธอ เขาเป็นแบบนี้ ฉันไม่เห็นด้วย แล้วก็คุยกันเป็นกลุ่ม มันไม่ได้ช่วยอะไร

ภาษามันเป็นสิ่งที่สร้างมุนษย์ให้เชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่ใหญ่ได้ แต่เราในฐานะคนสื่อภาษาเราสามารถดึงเอาภาษาให้มาทำงานกับสมอง และจิตใต้สำนึกไปสู่ส่วนที่เราต้องการได้ ตอนนี้มนุษย์สื่อสารแบบตรงไปตรงมาเยอะไปหรือเปล่า เราขาดศิลปะของการใช้ภาษา มีแต่ ฉันต้องการ... ต้องทำตามฉันเท่านั้น มันดิบเกินไป

บางคนอาจจะมองว่ามันคือความจริงใจ แต่มันเป็นความจริงใจที่มีผลตามมาอย่างที่ทุกวันนี้เราเป็น มันคือความจริงใจที่เราก่อปัญหาเพิ่ม แต่เรามีความจริงใจอีกระดับหนึ่งที่อาจจะคุยกันมากกว่า 2 ประโยค เสียเวลามากกว่านิดนึง แต่มันสามารถหยุดปัญหาได้ตลอดไป

  • อยากโค้ชนักการเมืองไหม

ไม่ค่ะ (ตอบทันที) เพราะว่า ความอยากไม่ได้ช่วยให้งานนั้นสำเร็จ งานนั้นสำเร็จต่อเมื่อ เจ้าตัวต้องการความช่วยเหลือ ให้ย้อนกลับไปดูบรมครูของโลกอย่างพระพุทธเจ้า ท่านไม่เคยบอกว่าจะทำให้นะ ท่านบอกว่า เมื่อท่านเปิดทาง เราก็จะชี้ทาง แล้วคุณเดินเอง ฉันใดฉันนั้น หาเขาไม่ได้ต้องการ เราไม่สามารถช่วยเขาได้ ความต้องการมนุษย์ยิ่งใหญ่เสมอ เขาไม่ได้ต้องการอย่างที่เราต้องการ เราจะประสานความต้องการที่แตกต่างยังไง

  • ความเสียหายจากการใช้ภาษาไม่ถูกที่ถูกทางโดยบุคคลที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือมีบทบาทมากขึ้นมันจะเสียหายมากขึ้นตามไปด้วยไหม

มนุษย์เราฟังทุกอย่าง แล้วรับรู้เต็มกระบวนการของพลังงาน เวลาเรารับฟังอะรที่เป็นจุดลบมากๆ เราสะสมพลังงานลบ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

คำพูดมีพลังเสมอ ยิ่งถ้าเราเป็นผู้นำ การสื่อสารที่สร้างสรรค์ยิ่งจะต้องทำ ส่วนตัวที่ติดตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับใจประโยคที่ใช้ความลุ่มลึกของการคิด และมันมีนัยยะระดับโลก ทุกคำที่ท่านตรัส ต้องตั้งใจฟัง มันมีน้ำหนัก มีพลังงานในแต่ละคำที่ทรงเลือกใช้ พระองค์ท่านสามารถสื่อภาษาเป็นพลังงานในระหว่างบรรทัดที่ทำให้เราจดใจ ทุกคำพูดส่งลึกถึงระดับจิตใจได้ ถ้าคนฟังมีความคิดที่เลวร้ายอยู่ เชื่อว่า ณ ขณะที่เขาฟังพระราชดำรัส มันเจ็บไปถึงหัวใจเหมือนกัน ตรงนี้ ถือเป็นการพูดให้แรงบันดาลใจผู้คน

  • จริงๆ แล้วมันมีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับภาษา

เวลาคนเราพูดภาษาจากการมองเห็นมุมกว้าง จะมองเห็นว่ามิติของคนฟังมีหลายมิติ การพูดแต่ละครั้งมันมีความระมัดระวังว่า คนฟังกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด จะตีความมากไปน้อยไปหรือเปล่า กลุ่มบางกลุ่มเข้าใจไหมสิ่งที่ต้องการสื่อ คือ มีหลายมิติที่คนเรามองไม่ครบ ดังนั้น ผู้นำจะต้องละเอียด ลุ่มลึก และมองเห็นมิติของคนฟังหลายๆ แบบด้วย

บางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงคำบางคำ บางกลุ่มอาจจะเข้าไม่ถึงภาพบางภาพ บางกลุ่มอาจจะเข้าไม่ถึงทิศทาง ความหมาย หรือนัยยะอะไรต่างๆ คือมันมีระดับของการฟัง อย่างพระพุทธเจ้าก็แยกไว้เป็น 4 ประเภท ก็คือ บัว 4 เหล่า การที่จะพูดให้คนทั้ง 4 ประเภทเข้าใจ มันมีความสามารถทางภาษา

  • แสดงว่า ความสามารถทางภาษาไม่ใช่แค่เรื่องของคนพูดอย่างเดียว คนฟังก็มีระดับของการฟังอยู่ด้วย

ใช่ เวลาเราเห็นการพูดที่ทรงพลัง มันก็คือการสัมผัสเลเวลของคนพูด และเลเวลของคนฟัง แล้วมันก็มีภาพรวมว่า ถ้าพูดอย่างนี้ออกไป จะกระทบถึงกลุ่มไหนบ้าง

การพูดถือเป็นสิ่งที่สำคัญกับทุกอาชีพ เพราะเราอยู่ในสังคมที่ต้องสัมผัสกัน พ่อ แม่ ลูก การพูดด้วยอำนาจ กับการพูดด้วยการโน้มน้าวใจเป็นคนละเรื่องเลย ลูกต้องเป็นเด็กดี การใช้อำนาจ กับหลายๆ เรื่องที่ชี้ชวนให้ดู มันซึมซาบต่างกัน

  • ถ้าอย่างนั้น คนเราสามารถพัฒนากระบวนการตรงนี้ได้ไหม

ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ ถ้าเขาอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี และถูกเลี้ยงดูโดยมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เขาจะเป็นได้ แต่หากเขาไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น เขาก็ยังต้องเรียนรู้อยู่เพราะมันเป็นพื้นที่ที่เขามองข้าม เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น โลกของเขาไม่มี แต่ถ้าเขาได้เห็น เขาก็จะพบว่า มันก็เปิดมุมมองให้มองเห็นมากขึ้น จริงๆ จิตใต้สำนึกกับตัวเราคิดแยกส่วน ตอนนี้คุณต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากข้างในก่อนที่จะโปรเซสออกมาเป็นภาพ ทันทีที่มันเป็นภาพ เป็นเสียง เป็นความรู้สึกแล้ว เขาครอบครองคุณได้ จิตอยู่ในตัวเราเพียงแต่เราไม่ทันเขา

อย่างเช่นเวลาพูดว่า.. จงอย่าไปฟังเสียงแอร์.. จงอย่ามองกระต่ายสีขาวหูยาวตัวนั้น.. อย่าเอามือไปจิ้มกระต่ายตัวเล็ก 5 ตัวที่วิ่งตามแม่มันไป.. จะเห็นว่า จิตมันวิ่งไปแล้ว เราตามเขาไม่ทันเลย

  • จริงๆ แล้ว เราต้องพัฒนาการสื่อสารไปเพื่ออะไร?

ที่สุดแล้ว หนึ่งอย่างที่มนุษย์ทุกคนดิ้นรนก็เพื่อต้องการค้นพบความสุข ปราศจากทุกข์ ต่อมาก็ปราถนาให้คนรอบๆ ตัวเองมีความสุข เราเรียนกันเยอะๆ เพราะเรากลัว กลัวว่าเราจะรู้ไม่พอ กลัวว่าวันข้างหน้าจะลำบาก แต่ถ้าเรารู้ว่า ทุกอย่างมันเป็นอะไรแน่ๆ เราจะเริ่มมีความสุข และใช้ชีวิตอย่างเข้าใจว่าเรากำลังเดินทางไปไหน จะรู้ว่าชีวิตเราตั้งต้นที่อะไร บางคนก็ไม่ได้รู้ตัวแล้วว่าทำไปทำไมตั้งเยอะแยะ บางทีก็ทำจนเกินจะรู้ตัว ก็เข้าไปติดวงจรที่ตัวเองกำหนดขึ้นมาเอง

พอเริ่มได้มองเห็นโลก เห็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากเดิมๆ และค้นหาความหมายในการอยู่บนโลกใบนี้แบบใหม่ ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากจะใช้ในชีวิตที่เหลือ อดีตมันคงจบไปแล้ว แต่วันนี้คุณจะเดินไปอย่างไรให้คุณมีความสุข.