ปลดชนวนวาทกรรมตำใจ "แพร่แห่ระเบิด"

ปลดชนวนวาทกรรมตำใจ "แพร่แห่ระเบิด"

“สามล้อ...เลี้ยว...โค้ง” ประโยคแซวคนเชียงใหม่ว่าพูดช้าและเนิบ กว่าจะพูดคำสั้นๆ จบ สามล้อก็เลยโค้งไปแล้ว

ส่วน “ห้องแถวไหล” แซวคนเชียงรายว่าไม่เคยเห็นรถไฟ (เพราะเป็นจังหวัดที่รถไฟไปไม่ถึง) วันหนึ่งมาเห็นรถไฟ เลยเรียก “ห้องแถวไหล” เพราะแบ่งเป็นห้องๆ (โบกี้) แล้วมันไหลไปได้

แต่ถ้า “ข้าวหลามแจ้ง” แซวคนเมืองน่าน ที่ไกลจนความเจริญไปไม่ถึง พอเห็นหลอดไฟฟูออเรสเซนท์ครั้งแรก คนน่านบอก “ข้าวหลามแจ้ง”

ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละถิ่นที่ จะมีประโยคหรือวลีเชิงสัญลักษณ์แสดงปมเด่น-ปมด้อยเอาไว้แซวกันพอหอมปากหอมคอ แต่เฉพาะจังหวัดแพร่ หรือเมืองแป้ วลีเชิงสัญลักษณ์หนักหนาสาหัสกว่าเพื่อน คือ “แพร่แห่ระเบิด” ประมาณว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีคนแพร่ไปเจอวัตถุสงคราม โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือลูกระเบิด จึงพากันนำขึ้นเกวียนแล้วแห่แหนจนเกิดระเบิด มีคนบาดเจ็บล้มตาย เลยเถิดไปถึงขั้นว่าเป็นสาเหตุให้ไม่มีราชสกุล “ณ แพร่” มาตราบจนวันนี้ ทั้งๆ ที่เป็นคนละเรื่อง แต่มั่วนิ่มให้เป็นเรื่องเดียวกันจนได้

“แพร่แห่ระเบิด” จึงเลยขีดขั้นการแซวไปถึงระดับล้อเลียนและดูถูกกันว่าง่าว (ฉลาดน้อย) สมัยหนึ่ง เป็นวลีอ่อนไหวชวนให้ทะเลาะวิวาท แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ใครไปเยือนแพร่วันนี้ วลี “แพร่แห่ระเบิด” มีคำอธิบายใหม่ในเชิงบวก ถึงขนาดมีคนนำไปตั้งเป็นชื่อร้าน “กาแฟแห่ระเบิด” แล้ว

คำอธิบายที่ว่านั้นแสดงหลักฐานขนาดระบุชื่อบุคคลที่มีตัวตนจริง คือนายหลง มะโนมูล คนงานรถไฟ ได้พบซากลูกระเบิด 3 ลูก ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลงมาเพื่อหวังทำลายเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นที่มุ่งสู่เชียงใหม่ ก่อนข้ามแดนไปถึงพม่า จุดที่พบคือตรงสะพานรถไฟข้ามลำน้ำยม บริเวณปากลำห้วยแม่ต้า เขตตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่

แต่ระเบิดที่พบเป็นระเบิดที่ยังไม่ทำงาน จึงใช้ช้างของนายมา สุภาแก้ว และนายบุญมา อินปันตี ชักลากขึ้นมาจากลำน้ำยม แล้วสามารถตัดส่วนหางของระเบิด ปลดชนวนและเอาดินปืนออกมาได้ (มีชาวบ้านขอดินปืนไปทำอุปกรณ์ระเบิดปลา) ส่วนซากหรือเปลือกลูกระเบิด ทั้งนายหลง นายมา และนายบุญมา แบ่งกันนำใส่เกวียนให้ช้างลากไปเก็บที่บ้าน โดยนายมานำไปตั้งตรงหัวบันไดบ้านเพื่อใส่น้ำไว้ล้างเท้า ต่อมา ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ อำเภอลอง มาเห็นแล้วลองเคาะเกิดเสียงดังกังวาน จึงได้ขอไปทำเป็นระฆังที่วัด เมื่อถึงงานประเพณีนมัสการพระธาตุ นายมาและครอบครัวจึงนำซากระเบิดขึ้นเกวียน จัดขบวนฆ้องกลองแห่แหนไปถวายวัดอย่างเอิกเกริก จนเป็นที่มาของวลี “แพร่แห่ระเบิด”

ซึ่งหลังจากนั้น นายหลงผู้พบระเบิดคนแรก ก็นำซากระเบิดไปถวายเป็นระฆังให้วัดแม่ลานเหนือ ส่วนนายบุญมานำไปถวายวัดนาตุ้ม เขตอำเภอลอง เช่นกัน อันเป็นที่มาของคำขยายในวันนี้ว่า “แพร่แห่ระเบิด เหตุเกิดที่เมืองลอง” คือนอกจากจะพลิกประเด็นมาเป็นความชาญฉลาดของชาวแพร่ในการถอดชนวนระเบิดแล้ว ยังอ้างอิงแบบเจาะจงลงไปให้ชัดว่าเป็นวีรกรรมของชาวอำเภอลอง สอดคล้องกับวีรกรรมหาญกล้าของ “คณะเสรีไทยหน่วยแพร่” ที่นำโดยสามพี่น้อง คือนายทอง นายสม และนายอุทัย กันทาธรรม ผู้ปฏิบัติงานลับด้านการข่าวเพื่อสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ในการสกัดกั้นการเคลื่อนทัพสู่ภาคเหนือกองทัพญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย ที่สร้างคุณูปการให้สหรัฐอเมริการับรองไทยไม่ให้ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ภูเดช แสนสา อาจารย์พิเศษหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชาวอำเภอลอง ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความ “เมืองแพร่แห่ระเบิด เหตุเกิดขึ้นจริงหรืออิงตลก” ว่า กรณีถวายซากระเบิดให้วัดทำระฆังนั้น มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริงในปี พ.ศ.2516 แต่เป็นการนำไปถวายอย่างปกติ มิได้จัดขบวนแห่แหนเอิกเกริก และที่สำคัญคือวาทกรรม “แพร่แห่ระเบิด” มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อย่างช้าที่สุดในราวปี 2500 ซึ่งเวลานั้น เมืองลองเพิ่งถูกราชการย้ายสังกัดจากลำปางมาเป็นอำเภอหนึ่งของแพร่ สำนึกของผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เป็น “แพร่” จึงไม่น่าจะเกิดวลี “แพร่แห่ระเบิด” ถ้าเหตุเกิดที่เมืองลองจริง น่าจะต้องเจาะจงว่า “เมืองลองแห่ระเบิด” มากกว่า

นอกจากนั้น ภูเดชยังระบุว่า การถวายซากระเบิดให้วัดทำระฆัง มิได้มีแต่ที่อำเภอลอง ยังมีในอำเภออื่นของแพร่ และในหลายจังหวัดภาคเหนือ อาทิ ลำปาง ลำพูน ฯลฯ ทว่า เหตุใดจึงมีแต่ “แพร่ (เท่านั้น) ที่แห่ระเบิด เขาจึงไม่ยอมรับการเจาะจงว่า “แพร่แห่ระเบิด เหตุเกิดที่เมืองลอง” ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นคำขวัญโดดเด่น ปรากฏให้เห็นที่ร้าน “กาแฟแห่ระเบิด” ของเชษฐา สุวรรณสา นักเขียนหนุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ แนวฮาร์ด ไซ-ไฟ ชุด “ดอยไฟที่บ้านปิน” ซึ่งนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับหนังชื่อดัง ออกปากว่าอยากทำเรื่องนี้เป็นหนังไซ-ไฟของเมืองไทย

ถึงบรรทัดนี้ ดูเหมือนในความกระจ่างชัด ยังมีความยอกย้อนซ่อนอยู่ในวลี “แพร่แห่ระเบิด” แม้ว่าแนวโน้มในปัจจุบันจะเป็นไปในทิศทางบวก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ยังมีชาวแพร่ โดยเฉพาะผู้อาวุโสอีกจำนวนไม่น้อย ที่อาจยังยึดติดว่า “แพร่แห่ระเบิด” เป็นวาทกรรมในเชิงดูหมิ่นดูแคลนกัน ผู้ไปเยือนจึงต้องระมัดระวังการนำวลีนี้มาพูด โดยขาดสำนึกของ “กาลเทศะ” และการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน