"แคลคูล"คณิตศาสตร์สุดมันจากพี่เสือ

"แคลคูล"คณิตศาสตร์สุดมันจากพี่เสือ

เด็กไทยควรมีโอกาสเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมที่มาของ“แคลคูล”นักสอนคณิตศาสตร์ออนไลน์สุดกวนฮีโร่ของน้องๆ ที่อยากเก่งเลขแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

สวมหน้ากากเสือ สอนเนื้อหาคณิตศาสตร์สุดขึงขัง ท่าทาง น้ำเสียง ดุ เข้ม แต่แอบ “กวนประสาท” มีสหายคนสนิท คือ “พี่ม้า”, “พี่แฟ้ม” กับบรรยากาศห้องเรียนสุดชิล ทั้งแนว ป่าเขา ทะเล ดาดฟ้า ฯลฯ เพื่อลดอุณหภูมิเคร่งเครียดระหว่างสอน

นี่คือภาพจำของคนวัยมันเมื่อนึกถึงกลุ่มคนใจดีนักสอนคณิตศาสตร์ออนไลน์ ที่ชื่อ “แคลคูล” (CalCool) หรือชื่อเต็มๆ ว่า “แคลคูล มันส์สมองออนไลน์” ที่โลดแล่นอยู่ในสังคมออนไลน์มาประมาณ 3 ปี แล้ว

โดยฝีมือการสอนของหนุ่มมาดเข้ม “พี่เสือ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “Mr.CalCal” (มิสเตอร์แคลแคล) ผู้ปฏิวัติความเข้าใจในคณิตศาสตร์ของเด็กไทย ด้วยวิธีการสอนสุดต่าง และช่าง “ทำไปได้”

“ที่เลือกใส่หน้ากาก เพราะอยากให้คนคอมเม้นต์แรงๆ ผมจะได้ปรับปรุงตัว ส่วนที่ต้องเป็นหน้ากากเสือ มีสองประเด็น หนึ่งเลยตอนที่ทำปีถัดไปเป็นปีเสือ (พ.ศ.2553) และสอง การสอนเลขต้องการความนิ่ง ดุ ขึงขัง แต่หน้ากากเสือ มันจะดุแบบกวนประสาท”

Mr.CalCal หรือ พี่เสือของน้องๆ บอกที่มาของหน้ากากเสือ ตัวสะท้อนอารมณ์ “ดุแต่กวนประสาท” ในแบบที่ถูกใจคนสอน ขณะที่เมื่อเอาไปคุยกับเพื่อนร่วมทีม ก็ไม่มีขัดคอ แต่กลับ “เอาด้วยคน” ขอสวมหัวเป็น “พี่ม้า” เพื่อมาช่วยเอ็นเตอร์เทนการสอนของเขา

พวกเขาเป็นใครกันนะ ทำไมต้องลุกมาทำอะไรแบบนี้ ที่แน่ๆ แต่ละคนก็มีงานมีการดีๆ ทำทั้งนั้น ทั้งอาจารย์สอนฟิสิกส์ นักสถิติ นักเดินเรือ และช่างภาพ กับทีมงานหลัก 3 ชีวิต ชัยยันต์ นิลสำราญ, วิรุธ เผยกลาง และ นพพร โอภาชาติ

“พวกเราเชื่อว่า ประเทศเรามีคนเก่งอีกเยอะมาก เพียงแต่ขาดอย่างเดียว คือ การเข้าถึงความรู้ ซึ่งถ้าเขาเข้าถึง มีโอกาสไปได้ไกลกว่านี้ แล้วทุกวันนี้กระแสกวดวิชาแรงมาก แรงจนลืมเด็กข้างหลัง เด็กที่เขาขาดโอกาส ไม่มีเงินเรียน เขาก็หมดสิทธิ์ที่จะรู้ เราเลยนำปัญหานี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำแคลคูลขึ้นมา สอนคณิตศาสตร์ออนไลน์ฟรี ไม่เก็บเงินเด็ก แต่เราจะหาเงินจากช่องทางอื่น”

พี่เสือบอกที่มาของความตั้งใจดี จากอดีต “คนเคยจน” ไม่มีเงินเรียนพิเศษกับใครเขา อาศัยแค่ว่าเรียนเก่ง เลยได้โอกาสเรียนฟรี จนวันนี้พอมีช่องทาง ก็เลยอยากให้โอกาสคนที่ขาดได้เข้าถึงความรู้ “ฟรีๆ” บ้าง

ทำไมต้องสอนแค่คณิตศาสตร์ เขาบอกว่า เพราะเป็นความถนัดของผู้สอน ในฐานะคนที่เรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ และเก่ง ในรายวิชาคณิตศาสตร์ เรียกว่ารับสอนมาตั้งแต่ ม.ปลาย เทคนิคมากมายเลยล้นกระเป๋า ส่วนที่สอนแต่คณิตศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นคณิตศาสตร์ขั้นสูงนั้น เพราะเป็นเรื่องยาก และอยากให้พี่รู้ก่อนแล้วไปถ่ายทอดต่อให้น้องๆ มัธยมได้ แต่ในอนาคตก็มองที่จะเพิ่มการสอนครอบคลุมเด็ก ม.ปลายด้วย

ส่วนเหตุผลที่เริ่มจากวิชาเดียว เพราะต้องการเปิดตัวสักวิชาให้ได้ก่อน แล้วทำให้แรงและดัง เพื่อที่ทุกคนจะ “พูดถึงและเข้าถึง” ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างรายได้ทางอ้อมให้กับพวกเขาด้วย

แล้วจะทำอย่างไรให้ดัง ก็ต้องทำในสิ่งที่ “แตกต่าง” ตั้งแต่การสอนแบบ “มีสไตล์” มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนคนจำได้ สอนจริงจัง เนื้อหาอัดแน่น ไม่มีกั๊ก แต่ระหว่างความขึงขังนั้น ก็ต้องมีอารมณ์กวนประสาทสอดแทรกให้ผ่อนคลายด้วย เช่น สอนเรื่องที่คนชอบลืม อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แต่ระหว่างสอนก็แทรกด้วยคำพูดประมาณว่า..

“ถ้าทำไม่ได้ ก็ให้กลับไปเรียนอนุบาลซะ!” กระแทกใจเด็กเต็มๆ จากเรื่องที่เคยลืม เลยจำขึ้นใจในทันที
สอนเลขดูเคร่งเครียด ยิ่งเจ้าตัวย้ำว่า “ผมสอนจริงจังนะ” ก็ยิ่งนึกความสนุกไม่ออก เขาเลยอธิบายต่อว่า แคลคูลจะไม่มีประเภทตั้งกล้องแช่ สอนนิ่งดูกระดาน ในห้องแคบๆ อึดอัดๆ แต่จะลงทุนออกไปถ่ายนอกสถานที่ เรียกว่าตั้งแต่ ป่าข้างทาง ริมชายหาด กระทั่งบนดาดฟ้า เรียกว่าเจอที่ไหนอำนวย แสงได้ ก็เลือกใช้ที่ตรงนั้น

ที่สำคัญยังมี “พี่ม้า” มาคอยเรียกรอยยิ้ม ช่วยถือกระดานบ้างอะไรบ้าง เท่านี้เรื่องยากๆ ก็ดูผ่อนคลายขึ้น และสนุกมากขึ้นกับความพยายาม “สอนดุ แต่กวนประสาท” ของพวกเขา

เริ่มงานเพราะ “ใจล้วนๆ” แต่พอต้องจริงจังขึ้น เรื่องเงินก็ต้องเก็บมาคิดด้วย เพราะการทำงานทุกอย่างต้องมีต้นทุน ค่าอุปกรณ์ ก็ใช้เงินซื้อไม่ได้รับบริจาคมา เขาสารภาพว่า “หนุ่มนักเดินเรือ” หรือพี่ม้า คือ นายทุนหลัก เพราะทำงานดีมีเงินเยอะ แต่นอกจากนายทุนดี ที่มีหัวครีเอทีฟอย่างพี่ม้าแล้ว ก็ยังคิดโมเดลสร้างเงินแบบ “แคลคูล” ขึ้นมาด้วย

มาดูวิธีหาเงิน ที่ไม่ต้องเก็บจากผู้เรียน ซึ่งเขาได้ไอเดียมาจากเฟชบุ้ค ที่สมัครชิกไม่ต้องเสียเงิน แต่สามารถหาเงินจากช่องทางอื่นได้ เช่น โฆษณาที่เอามาติดประกาศในเฟชบุ้ค เหล่านี้เป็นต้น

เลยเลือกใช้ Google AdSense บริการจาก Google ที่ให้ผู้ที่มีเว็บไซต์ สามารถหารายได้โดยนำ Code ที่ได้จากการสมัครเป็นสมาชิกมาใส่ไว้ที่เว็บไซต์ของตนเอง ซึ่ง Code นั้นจะเป็นโฆษณาที่ส่งมาจาก Google มีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์ และเมื่อไรที่มีคนคลิกเข้ามาดู “แคลคูล” ก็จะได้เงิน

นี่คือช่องทางแรกที่เป็นรายได้จากสื่อโฆษณาออนไลน์ทั้งในเว็บไซต์ mistercalcal และใน Youtube

“ผมลองนับดูจากแฟนเพจในเฟชบุ้คมีประมาณ 12,000 คน ผมได้รายได้ ตกเดือนละประมาณ 3 พันบาท ซึ่งไม่ได้เยอะมากนะ แต่ถ้าคนติดตามเราเพิ่มขึ้นเป็นแสนคนก็ได้ 3 หมื่น แล้วถ้าเป็นล้านคนล่ะ มันก็อยู่ได้นะกับช่องทางนี้”
เขาบอกโอกาสที่มองเห็น เพื่อให้อุดมการณ์ “สอนฟรี” อยู่ได้ ด้วยช่องทางหาเงินทางอ้อมเหล่านี้ โดยปัจจุบันเฉพาะในยูทูปมีวิวรวมเกินกว่า 1.5 ล้านวิวแล้ว

ช่องทางที่สอง คือ จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แคลคูล จำพวก เสื้อ สมุด สติ๊กเกอร์ แต่เขายอมรับว่า “ไม่เวิร์คนัก” เพราะไม่ถนัดเท่าการสอน โดยอนาคตคงต้องมองรายได้จากสปอนเซอร์มากขึ้น

ขณะที่ช่องทางอื่น คือ หาทุนสนับสนุน ผ่านโครงการ BANPU Champions for Change ปี 3 โดยติดหนึ่งใน 11 ทีม ได้เงินสนับสนุนมา 5 หมื่นบาท เพื่อไปต่อยอดเป็นโอกาสธุรกิจเล็กๆ ของพวกเขา

ถามถึงเหตุผลที่เลือกทำงานนี้ ทั้งที่แต่ละคนก็ดูมีโอกาสดีๆ ให้ชีวิต เขาบอกหนึ่งความสุข ที่ได้จากการอ่านคอมเม้นต์น้องๆ ที่เขามาดูคลิปการสอน กับข้อความที่สรุปสั้นๆ แค่ “ปลื้มมาก”

“หลายคนบอกว่าเขาได้คะแนนดีขึ้น บางคนได้เกือบเต็ม จากน้องที่เรียนไม่เก่ง ติด F มา ก็ได้เกรด B บางคนเคยเรียนแบบท่องจำ พอเจอโจทย์ยากๆ ก็ไปไม่เป็น แต่พอเจอเราก็ทำให้เข้าใจขึ้น บางคนบอกว่า สังคมแห่งการแบ่งปันมีอยู่จริง เขาอาจไม่เคยเจอ เพราะต้องเจอแต่กวดวิชาที่เก็บเงิน ผมก็ปลื้มใจนะ ที่เขาได้อะไรจากที่เราสอน”

หนุ่มหน้ากากเสือ บอกว่า ใครอยากมาทำอะไรแบบนี้ ต้องเริ่มจาก “ใจ” มีใจที่อยากทำมากน้อยแค่ไหน ถ้าคิดเชิงธุรกิจมากไป สำหรับเขา อย่าทำดีกว่า แต่ให้เลือกไปทำธุรกิจเลย เพราะกิจการเพื่อสังคม เป็นการคิดถึงสังคมก่อน

“ผมเชื่อว่าทุกการกุศล สามารถแตกเป็นธุรกิจได้หมด แต่ประเด็นคือ ทางไหนล่ะ ซึ่งถ้ายังหาไม่เจอ นั่นอาจหมายถึงเรายังหาทางที่เหมาะสมไม่ได้ก็ได้ สำหรับผมงานนี้ทำให้ได้คิดอะไรดีขึ้นและมากขึ้น คิดในเรื่องกระบวนการ ในมุมความคิดที่เรียนมา คณิตศาสตร์ ไม่ได้สอนแค่ให้ผมคิดเลขเป็น แต่สอนให้คิดเป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบ ที่สำคัญผมรักงานนี้ ชอบการสอน การได้ทำงานกับเพื่อน และการแบ่งปัน”

หนุ่มวัย 30 หมาดๆ บอกความสุขในชีวิต ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ผู้สอน “ผศ.ดร.อภิสิทธิ์ ภคพงศ์พันธุ์” ผู้เป็นแรงผลักดันให้ลุกมาทำอะไรแบบนี้ ภายใต้ใบหน้าที่ปราศจากหน้ากากเสือ แต่แอบมีมุม “จริงจัง แต่กวนประสาท” บอกความเป็นตัวตนของ “พี่เสือ” ฮีโร่คนเก่งของน้องๆ
“”””””””””””””””””””””””””””