เด็กติดเกม-ออนไลน์ พุ่งเกือบ3ล้าน

เด็กติดเกม-ออนไลน์ พุ่งเกือบ3ล้าน

ผลสำรวจเด็กไทย "ติดเกม-เล่นออนไลน์" ปี 2556 พุ่ง 2.7 ล้านคน จากเยาวชน 18 ล้านคน แพทย์ชี้พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง

นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงสถานการณ์เด็กไทยติดเกม ยังคงเป็นปัญหาที่น่าห่วง โดยนพ.ชาญวิทย์ กล่าวระหว่างร่วมเสวนา เปิดตัวโครงการนิทรรศการและกิจกรรม “เด็กไทยกับไอที” และงาน Thailand Game Show BIG Festival ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.2556 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ว่า จากการจัดทำแบบสำรวจที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนกลุ่มตัวอย่าง 2 หมื่นคนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมี.ค.-มิ.ย.2556 ที่ผ่านมา

พบว่า ในจำนวนนี้ มีเด็กติดเกม 15% เล่นออนไลน์ ไลน์ เฟซบุ๊ค 15% และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสถิติจำนวนเยาวชน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 18 ล้านคน ทำให้ทราบว่า ขณะนี้ มีเด็กไทยติดเกมแล้ว มากกว่า 2 ล้าน 7 แสนคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขเลขที่สูงมาก

โดยพฤติกรรมของเด็กที่ติดเกม คือ 1.จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จนถึงขั้นทำร้ายพ่อแม่ผู้ปกครอง พยายามฆ่าตัวตาย เมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม 2.หนีเรียน เก็บตัวอยู่บ้านเพื่อเล่นเกม ไม่นอนในเวลากลางคืน 3. มีปัญหาการเรียนตกต่ำ ไม่เข้าร่วมกิจกรรม อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ ถือว่าเข้าข่ายติดเกมรุนแรง ต้องเข้าบำบัดรักษา ซึ่งปัจจุบันเด็กที่จะเข้ามารักษามีจำนวนน้อยมาก เฉลี่ยปีละ 30-40 คนเท่านั้น

"สิ่งที่ทำให้เด็กเข้ามาบำบัดน้อย เนื่องจากผู้ปกครองไม่ทราบ ว่าจะพาลูกไปรักษาที่ไหน ทั้งนี้การรักษาเด็กติดเกม ถือว่าต้องใช้เวลาพอๆ กับการเลิกยาเสพติด ต้องมีการล้างพิษในระยะแรก คือการนำเด็กออกจากโลกไอทีทั้งหมด วิเคราะห์หาจุดดีของเขา เพื่อส่งเสริมให้ทำกิจกรรมดีๆ มีวินัยในการทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งปัจจุบันจะส่งเสริมให้มีการทำการรักษาแบบครอบครัวบำบัด เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ"

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีพฤติกรรม "วัฒนธรรมก้มหน้า" คนไม่มองหน้ากัน มองแต่จอมือถือตัวเอง พบเห็นได้ตามท้องถนน ที่สาธารณะ หรือเรียกอีกว่าหนึ่งว่า ชนเผ่าหัวก้ม เป็นอาการอย่างหนึ่ง ชีวิตเราผูกพันไอทีมากเกินไป เหมือนเป็นอวัยวะที่ 33 ในมุมมองผู้ใหญ่ ก็มองว่าน่าจะมีอย่างอื่นทดแทนไอที เราไม่ปฏิเสธประโยชน์ของไอที แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับ คือเด็กไม่สามารถแยกแยะข้อดีข้อเสีย และทำให้ไอทีมีผลกระทบชีวิตตัวเอง ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ดีให้เด็กๆ หันเหความสนใจกับสิ่งอื่นๆ รอบตัวบ้าง

ด้านนายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นโลกของไอที ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสื่อได้ง่าย ทำอย่างไรเด็กจะได้เข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ผ่านมา วธ.ดูแลเรื่องเฝ้าระวัง ต่อไปต้องสร้างวัคซีนคุ้มกันเด็กและเยาวชน ผลิตสื่อที่ดีช่วยเหลือคุณภาพชีวิต ส่วนการแก้ปัญหานั้น ตนเห็นว่าต้องเริ่มจากฟังเสียงเด็กและเยาวชนก่อน ซึ่งการจัดงาน เด็กไทยกับไอที ของ วธ.ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่จะได้ฟังเด็กแสดงความคิดเห็นต่างๆ

ปลัด วธ.ระบุว่า ตนยืนยันว่า เด็กติดเกมไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นพฤติกรรมของเด็กที่ใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ และร้านเกมก็ไม่ใช่แหล่งปัญหา แหล่งมั่วสุม แต่ควรจะมองว่าเป็นแหล่งการสืบค้นเรียนรู้ ความบันเทิง โดยชักชวนร้านเกมทั่วประเทศ มาเข้าร่วมโครงการร้านเกมสีขาว มีการกำหนดเวลาเล่น บรรยากาศที่ดี มีความปลอดภัย เหมือนเป็นสถานศึกษาแห่งหนึ่ง เป็นตัวอย่างร้านเกมที่ดี รับรองว่าเด็กได้รับความปลอดภัย คนไทยจะใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้น

ขณะที่ นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารมว.กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า เรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารแพร่หลายมากขึ้นทุกเพศทุกวัย มีทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ปัญหาด้านไม่ดีมีความรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะสื่อต่างๆ เป็นบ่อเกิดปัญหาสังคม อาชญากรรม จี้ปล้น ยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก ปัญหาทางเพศ ดังนั้น การเล่นเกมในทางที่ผิด เป็นเรื่องผิดกฎหมาย รัฐบาลมอบหมายให้ วธ. รับผิดชอบดูแลเด็กกับการใช้ไอทีร่วมกันภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ช่วยกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ส่งเสริมกิจกรรมที่ดี ให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมไปถึงขอความร่วมมือสื่อต่างๆ ผลิตสื่อที่ดีสร้างสรรค์แก่เยาวชน