เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ จุดพลิกผัน...ระบบโลก

เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ
จุดพลิกผัน...ระบบโลก

เมื่อพูดถึงระบบโลก คงต้องพูดถึงแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และจุดเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า นี่คือ อีกมุมของนักวิชาการ

ปรัชญาตะวันออก ผนวกกับความลุ่มลึกทางพุทธศาสนา และความเข้าใจระบบโลก คงจะทำให้การคิดเห็นประเด็นโลกและชีวิตมีแง่มุมชวนคิดได้บ้าง

นี่เป็นเรื่องเล่าผ่านวิธีคิดของ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์ ที่หลายคนเรียกว่า ยุค ศรีอาริยะ ปัจจุบันเขาเป็นนักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษสอนปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัย และยังคงเขียนงานตามแนวถนัดเหมือนเดิม เท่าที่ผ่านมามีผลงานเขียนหลายเล่ม อาทิ สหัสวรรษแห่งสงคราม, มายาโลกาภิวัตน์ ,การเปลี่ยนวิธีคิดในยุคโลกาภิวัตน์ ,รื้อรากประวัติศาสตรสยาม และล่าสุด พุทธชยันตี ศาสนธรรม...อภิวัฒน์โลก ฯลฯ

ในวัยเกษียณอายุ คนยุค 6 ตุลาที่เคยเข้าป่าด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้า ดูสงบนิ่งตามสไตล์ของคนที่เข้าใจชีวิตมากขึ้นกับการปฏิบัติตามแนววิถีพุทธ นั่งสมาธิและฝึกชี่กง เพื่อกำหราบอาการเจ็บป่วยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และหันมาทุ่มเทให้กับแนวคิดและสัจจะตะวันออก เสมือนหนึ่งเป็นคู่มือชีวิตเลยก็ว่าได้

หากคนที่อ่านหนังสือของเขา ก็คงจะนึกออกว่า เขาจะตอบคำถามในลักษณะแบบไหน ทุกเรื่องราวเต็มไปด้วยกลิ่นอายตะวันออก ที่เขารู้สึกว่า ลุ่มลึกกว่าแนวคิดตะวันตก และเขาเชื่อว่าเป็นทางออกของโลกใบนี้

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถ้าไม่ป่วย อาจารย์คงไม่สนใจเรื่องศาสนา ?
ผมสนใจมานานกว่า 20 ปี ตอนนั้นผมล้มป่วยที่อเมริกา ติดเชื้อไวรัสลงตับ AB ก็ค่อนข้างหนัก และช่วงนั้นผมมีก้อนเนื้อขึ้นที่หลังสามก้อน ไม่กล้าไปตรวจ ปัจจุบันยุบไปสองก้อน ตอนนั้นหมอที่อเมริกาบอกว่าไม่มียารักษา ผมก็เลยหันมารักษาตัวเอง โดยใช้ศาสตร์ตะวันออก ผมจึงฝึกสมาธิและชี่กงทำอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่เคยล้มป่วยจากโรคนั้นเลย

เพราะไม่มียารักษา จึงลองรักษาตัวเอง ?
ผมก็ต้องหาทางอื่นในการรักษาตัวเอง เมื่อเราเรียนปรัชญาตะวันออกและเต๋า ผมก็คิดว่า เมื่อคนเราป่วย ก็ต้องพักผ่อน การพักผ่อนก็คือการนั่งสมาธิ เมื่อผมไม่สบายทำให้นั่งสมาธิจริงจัง เมื่อนั่งจริงจัง ก็พบว่าสมาธิทำให้ใจนิ่งได้ ผมก็เลยเชื่อว่า ทำให้ระบบภายในของเราปรับตัวได้ ถ้าทำสมาธิจนเกิดความชำนาญ ปีติสุขก็เกิดขึ้น ผมก็ฝึกโดยอ่านจากตำรา เพราะผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ อย่างเวลาผมค้นคว้าเรื่องสมาธิ วิธีของผมคือ อ่านทุกเล่มที่หาได้ แล้วลองปฏิบัติ ตอนนั้นมีเวลา อย่างสมาธิการเพ่งจากตาที่สาม ผมก็ลองทำ มันก็สงบ ใช้จินตนาการอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ตอนหลังผมมาใช้สมาธิยิ้มฐานมาจากเมตตาธรรม ทำให้เกิดปีติสุข ซึ่งต้องอาศัยธรรมชาติที่สงบ มีต้นไม้ ลมเย็นๆ โดยใช้ฐานของการหายใจ เวลาหายใจเข้า เราก็จะรู้สึกมีความสุข แล้วก็ทำใจให้ยิ้มอย่างมีความสุข

แนวทางนี้พัฒนามาจากไหน
มีศาสตร์ทางมหายานและวัชรยาน เขานั่งสมาธิกับพระ และทำให้เราเป็นพระ ท่านนั่งหัวเราะ เราก็เป็นท่าน ท่านนั่งยิ้ม เราก็เป็นท่าน ฝึกโดยใช้สมาธิชุดนี้จะเกิดปีติสุขไวมาก ถ้าพัฒนาการไปเรื่อยๆ จะเกิดคลื่นปีติสุขใช้ในการรักษาอาการได้ แม้กระทั่งตอนผมปวดฟัน ผมก็ใช้คลื่นปีติสุข และรักษาความเครียดได้ ผมใช้สองศาสตร์ ชี่กงและสมาธิยิ้ม ปัจจุบันผมก็ไม่ได้ป่วยเป็นอะไร และผมไม่ได้เชื่อศาสตร์ตะวันตก ผมฝึกชี่กงซึ่งเป็นฝึกพลังหยางในการเคลื่อนไหวต่อเชื่อมกับระบบสมดุลในร่างกาย สมาธิเป็นวิชาสำหรับปรับสภาวะจิต

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจารย์หันมาศึกษาศาสตร์ตะวันออกจริงจังมากขึ้น ?
ช่วงที่พลิกผันใหญ่ของระบบทุนนิยม ตอนนั้นสังคมนิยมเกิดภาวะล่มสลาย และสำนักระบบโลกที่ผมศึกษา ก็เกิดการถกกันครั้งใหญ่ว่าจะไปอย่างไร แล้วทฤษฎีเดิมๆ ที่เคยเชื่อกันว่า สังคมต้องมีพัฒนาการเมื่อพัฒนาการทุกอย่างไปถึงที่สุดแล้ว จะไปต่ออย่างไร เมื่อผมหันมาใช้ศาสตร์ตะวันออก มันก็อธิบายทำนองว่า ทุนนิยม มันรื้อระบบโลก พอพัฒนามาถึงจุดสูงสุด มีความเป็นไปได้ว่าจะพลิกผันมาสู่ความเสื่อมสลาย แล้วแนวทางตะวันออกจะนำมาใช้อธิบายพัฒนาการของอนาคตระบบทุนนิยมได้หรือเปล่า

นั่นเป็นการตั้งคำถามของอาจารย์ ?
ผมใช้เวลาหนึ่งปีในห้องสมุดอเมริกา เพื่อที่จะหาคำตอบชุดนี้ ทุนนิยมเมื่อพัฒนาถึงที่สุดจะพลิกผันได้ยังไง ตะวันตกสมัยเก่าเมื่อรุ่งเรืองสูงสุด มันนำไปสู่หายนะได้ ผมก็สนใจอยู่สองเรื่อง คือ วิกฤตสิ่งแวดล้อม และยุคโลกาภิวัตน์ มันเห็นภาพชัดเลยว่า ความรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวมากมายในยุคโลกาวิวัตน์ มันทำให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างผิดปกติ ศาสตราจารย์บราวน์ เคยสรุปผลการเคลื่อนไหวของสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่าสิ่งแวดล้อมเคลื่อนมาประมาณ 40-50 ปี แต่ผลลัพท์ต่ำกว่าศูนย์ คือ หมายความว่าที่เคลื่อนมาไม่ได้ผลเลย เพราะเกิดการขยายตัวของทุนนิยมรวดเร็วมาก เมืองและอุตสาหกรรมขยายตัว การตัดไม้ทำลายป่า คือภาพอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ความรุ่งเรืองนำไปสู่วิกฤตการณ์

ส่วนเรื่องโลกาภิวัตน์ ตอนเพื่อนผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดพัฒนาการโลกาภิวัตน์ เขาใช้นิวยอร์คซิตี้เป็นโมเดลการวิเคราะห์ เพราะเป็นศูนย์กลางของตลาดหุ้น เขาศึกษาตั้งแต่พัฒนาการตลาดหุ้นที่ขยายตัวในนิวยอร์คซิตี้ ทำให้เกิดช่องว่างใหญ่มากระหว่างคนรวยกับคนจน และคิดไม่ถึงว่าจะเกิดช่องว่างนี้ ความรุ่งเรืองที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดระบบทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถทำลายระบบเศรษฐกิจการเงิน ทุนโลกภิวัตน์โตขึ้น เพราะกระบวนการปั่นเงิน ซึ่งหนีไม่พ้นภาวะหนี้สินเป็นฐานทำให้ระบบทุนตลาดหุ้นเติบใหญ่ แต่เมื่อเติบใหญ่ ก็พัฒนาแตกเหมือนฟองสบู่

สถานการณ์โลกกำลังเผชิญเหตุการณ์นั้น แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร
ก็มีการเคลื่อนตัวใหม่ ซึ่งเมื่อพองถึงที่สุดก็แตก ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันของโลก มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น พอมันแตก ก็จะทำให้เศรษฐกิจจริงพังทลาย ซึ่งทิศทางทุนแบบนี้จะนำไปสู่ปัญหาได้ตลอดเวลา เพราะทุนแบบนี้พัฒนาการรวดเร็วมาก

การอธิบายอารยธรรมเก่าแก่เพื่อเชื่อมกับระบบโลก อาจารย์ใช้ฐานคิดตะวันออกอธิบายอย่างไร ?
ผมมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนอาจารย์ของผม เพราะผมศึกษาปรัชญาตะวันออก แล้วเอามาปรับกับระบบโลก ผมย้อนไปศึกษาระบบโลกยุคโบราณ ความแตกต่างของสองสายวัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมลุ่มน้ำเกือบทุกแห่งในโลก ชาวลุ่มน้ำในอดีต มักมีรูปเคารพที่เป็นผู้หญิงเรียกว่า แม่ ชาวลุ่มน้ำเรียกสายน้ำว่า แม่น้ำ เรียกแผ่นดินว่า แม่พระธรณี อยู่ร่วมกันแบบง่ายๆ ส่วนวัฒนธรรมอีกอย่างเป็นวัฒนธรรมชนเผ่าที่เกี่ยวกับนักรบผู้ชาย

โลกกำเนิดจริงๆ ที่ผมศึกษามีสองสายวัฒนธรรม ผมก็ใช้ปรัชญาเต๋า ตามแนวหยิน หยางมาจับ อย่างระบบโลกที่ก่อตัวมาจากวัฒนธรรมสายหยิน หลังจากนั้นวิวัฒนาการเป็นวัฒนธรรมสายหยาง ผมเอาเรื่องเหล่านี้มาขยายความ แล้วผมมาต่อภาพที่อินเดีย เพราะมีความชัดมากในการปะทะกันระหว่างสองสายวัฒนธรรม วัฒนธรรมสายหยางที่รู้จักดีคือ ชาวอารยัน อาหรับ มองโกล ไวกิ้ง ส่วนวัฒนธรรมสายหยินคือ วัฒนธรรมสายผู้หญิงในอินเดียใต้ชัดเจนมาก เพราะผู้หญิงมีฐานะเป็นศูนย์กลางครอบครัว มีวัฒนธรรมที่เอื้ออาทรต่อผู้อื่น ชอบศิลปะความงาม และความสงบ

ประวัติศาสตร์ชุดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในอินเดียเท่านั้น อาจรุกเข้าไปที่กรีก ถือว่าศูนย์กลางวัฒนธรรมตะวันตก จากกรีกมาเป็นโรมัน มันเกิดการเคลื่อนตัวใหญ่ของอารยัน ซึ่งเป็นกำเนิดวัฒนธรรมสองสาย สายหนึ่งคือ ตะวันออก อีกส่วนคือ ตะวันตก และยังการปะทะกันของวัฒนธรรม นำไปสู่ศาสนาและความเชื่อ อย่างพุทธศาสนาหรือลัทธิเต๋า เกิดขึ้นจากความพยายามพัฒนาการของคนลุ่มน้ำเป็นระบบ เพื่อท้าทายความเชื่อแบบเทพ เทวดา นี่คือการอธิบายระบบโลกใหม่ในแบบผม

ทำไมต้องใช้ฐานคิดแบบตะวันออกอธิบายเรื่องเหล่านี้
ก็เพราะอารยธรรมโลก มันเกิดขึ้นในทางตะวันออกก่อนด้วยซ้ำไป อินเดีย จีน อิหร่าน อียิปต์ กำเนิดของอารยธรรมอยู่แถบนี้แหละ ก่อนที่ตะวันตกจะรุ่งเรือง เพราะเราต้องอธิบายประวัติศาสตร์ที่ใช้ฐานคิดที่มีกำเนิดจากโลกตะวันออก ประวัติศาสตร์แบบนี้จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และช่วยอธิบายความเป็นคนไทยได้ดี ทำไมคนไทยรักสนุกเหลือเกิน ตลกตลอดเวลา ชอบทำบุญ หรือบทบาทผู้หญิงในสังคมไทย แปลกมาก

บทบาทผู้หญิงในสังคมไทย แปลกอย่างไร
ในยุคนี้ แม้ผู้ชายจะอยู่ในตำแหน่งการบริหารที่สูงกว่าผู้หญิง แต่รองลงมาเป็นผู้หญิงหมด มันพัฒนาทิศทางนั้นได้ไวมาก ผ่านวัฒนธรรมดั้งเดิมระบบครอบครัว ครอบครัวใหญ่ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางครอบครัว ในชนบทผู้หญิงมีอำนาจ ระบบผู้ชายเป็นใหญ่อยู่ในเมือง

นั่นก็โยงไปถึงงานเขียนเรื่อง รื้อรากประวัติศาสตร์สยาม ?
การคิดแบบประเทศหรือชนเผ่า มันจะเน้นเรื่องการเผชิญหน้าสงคราม ผมก็พยายามอธิบายประวัติศาสตร์อีกมุมหนึ่ง อาจารย์ผม Fernand Braudel บอกว่าประวัติศาสตร์ในอดีตไม่มีพรมแดน มันเป็นการต่อเชื่อมระหว่างเส้นทางการค้า และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างอาจารย์ผมโยงเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหม โดยเฉพาะทางทะเล มันเชื่อมโยงอารยธรรม

แถบนี้ทั้งหมดเข้ามาด้วยกันได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของสยาม มันก็เปลี่ยนการอธิบายใหม่ แต่สายอารยธรรมใหญ่มันเกิดมาจากเมืองท่าติดทะเลตั้งแต่อินเดีย มาถึงสยาม อินโดนีเซีย จีนใต้ พวกนี้เป็นเมืองท่าการค้าแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ผมเอาวัฒนธรรมลุ่มน้ำมาอธิบาย อาณาจักรแถบนี้มีวัฒนธรรมเอื้ออาทร ดังนั้นวัฒนธรรมการปกครองแทนที่จะเป็นระบบแบบโรมัน ทำสงครามสร้างอาณาจักร ผมคิดว่าอาณาจักรโบราณแถบนี้ เป็นรัฐศาสนา ผมเอาเรื่องนี้มาอธิบาย อย่างพม่าเต็มไปด้วยวัด ซึ่งวิธีอธิบายแบบนี้ ผมก็ไม่ได้ยืนยันว่า ผมถูกหรือวิธีอธิบายแบบอื่นผิด ซึ่งนักประวัติศาสตร์จะเสนอทางเลือกให้เห็นว่า มองได้หลายทาง

แล้วมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดกับแนวคิดแบบนี้
ผมก็ต้องหาข้อมูลยืนยัน แล้วผมก็ใช้วิธีคิดแบบนี้เเขียนงานเล่มใหม่ "พุทธชยันตี ศาสนธรรม...อภิวัฒน์โลก" เพื่อให้เห็นว่า ตะวันตกที่เกิดขึ้นมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมโรมัน ซึ่งตอนนั้นคนโรมันเป็นใหญ่ คนตะวันตกที่เป็นชนเผ่าตกอยู่ใต้อิทธิพลของโรมัน แล้ววัฒนธรรมชุดนี้เกิดการพลิกผันรุนแรง เมื่อปะทะกับวัฒนธรรมตะวันออก ที่สำคัญมากคือ วัฒนธรรมของอิสลาม จนเกิดสงครามคูเสด แล้ววัฒนธรรมตะวันตกพ่ายแพ้ในยุคทำสงครามกับอิสลาม จนบ้านเมืองเข้าสู่ยุคมืดในยุโรป ทำให้ตะวันตกพยายามพลิกผันสร้างฐานวัฒนธรรมใหม่ แล้วกลายเป็นที่มาของแนวคิดวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ชุดนี้ยังหนีไม่พ้นความเชื่อแบบวัฒนธรรมสายหยาง คือ วัฒนธรรมผู้ชายนักรบ

นั่นหมายถึงระบบโลกเกิดการเคลื่อนตัวใหม่ ?
การเคลื่อนตัวใหม่ของวัฒนธรรมสายหยาง ทำลายอาณาจักรเดิมๆ ทั้งหมด จนทำให้ก่อเกิดระบบโลก และผมกำลังคิดว่าเมื่อระบบโลกพัฒนาถึงที่สุดแล้ว มันจะเกิดปรากฎการณ์ เพราะระบบโลกมันพัฒนาการมาจากชุมชน เมือง รัฐ อาณาจักร ถ้าระบบโลกถึงจุดสูงสุด จะเกิดภาวะเสียดุลอย่างรุนแรง เสียดุลด้านสิ่งแวดล้อมและทุนในตัวเองจะรุนแรงมาก ทุนโลกที่ก่อตัวขึ้นที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ มันเป็นทุนที่เหนือการควบคุม แล้วพลังความโลภ มันรุนแรงมาก มันใหญ่เกินไปจนทำลายตัวเอง ทุนโลกาภิวัตน์กลายเป็นอาณาจักรมีอำนาจเหนือการควบคุม เหมือนอเมริกากำลังเป็นอยู่ ถึงที่สุดหนีไม่พ้น เกือบทุกประเทศของโลกจะตกอยู่ในภาวะหนี้ แล้วหนี้สินที่เกิดขึ้นในระดับประเทศและระดับประชาชน มันจะกลายเป็นพลังที่เคลื่อนกลับมาทำให้ระบบโลกาภิวัตน์เกิดการชะงัก

ระบบหนี้สินจะสร้างปัญหาให้ประชาชนมากขึ้นในอนาคต ?
ถ้ามองในแง่ระบบโลก หลังจากนี้ระบบทุนนิยมโลกจะถดถอย คลื่นที่ดันด้วยหนี้สินจะดันต่อไม่ได้แล้ว นี่คือปัญหาหนึ่ง และอีกอย่างคือ การปั่นเอาเงินใส่เข้าไปในระบบจำนวนมากของอเมริกา จะนำไปสู่การพลิกผันค่าเงินระยะยาว อาจทำให้ค่าเงินตกรุนแรง ถ้าค่าเงินดอลล่าร์ตกต่ำ ค่าเงินทั่วโลกก็พลิกผัน

นี่คือปัญหาใหญ่ของโลกที่หลายคนพูดถึง ?
ไม่ใช่เงินดอลล่าร์เท่านั้นที่พลิกผัน เงินไทยก็พลิกผันด้วย ซึ่งอยู่ในช่วงนี้ จะพาโลกไปสู่อีกยุค ยุคที่ความเสื่อมถอยจะเกิดขึ้น เวลาที่เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง บางทีมันนำไปสู่สงครามการช่วงชิงกันระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะขยายตัว มันทำให้คนจนเป็นหนี้ และพยายามดิ้นรนให้รัฐช่วย เมื่อหนี้ทะลัก เราก็อยู่ในภาวะตลาดโลกอิ่มตัว และไม่สามารถดันได้ด้วยการใส่เงินเข้าไปเมื่อระบบโลกอิ่มตัวมากๆ ก็เกิดการปะทะกันทางการเมือง ซึ่งตอนนี้เกิดขึ้นในโลกอาหรับ การเดินขบวนใหญ่ในยุโรป อาจนำไปสู่การไร้เสถียรภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหา เพราะรัฐไม่รู้จะทำอย่างไร ตอบคำถามประชาชนไม่ได้

แล้วเชื่อมโยงกับประเทศไทยอย่างไร
เมืองไทยพยายามตามอเมริกา และญี่ปุ่น วิธีตามของเราก็คือ พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ หมายถึงเศรษฐกิจขาลงตั้งแต่ 2008 และนโยบายของอเมริกาพยายามใส่เงินเข้าไปในระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และพยายามลากให้ญี่ปุ่นทำตามด้วย หลายประเทศเดินตามนโยบายนี้ ไทยเองก็พยายามกู้หนี้มากที่สุดเท่าที่เคยทำมา เอาหนี้สินของ 27 รัฐบาลที่ผ่านมารวมกันเท่ากับเรากู้ในยุคเดียว คือรัฐบาลชุดนี้ ด้วยความพยายามผลักดันเศรษฐกิจ อัดเงินให้คนบริโภคมากขึ้น

เมื่อถึงจุดนั้น อาจารย์วิเคราะห์อย่างไรต่อ ?
เกิดภาวะรัฐอิ่มตัวด้วยหนี้ และหนี้สินประชาชนจะเพิ่มทะยาน ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี แล้วเรามีหนี้อยู่เยอะ ประชาชนเดินขบวนเรียกร้องนั่นนี่ ทั้งราคายางพารา การเกษตร แล้วรัฐไม่มีคำถาม นี่คือปัญหา หนี้สินเก่าๆ ก็ต้องใช้ เมื่อรัฐลงทุนขนาดใหญ่ แล้วเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ผลที่ได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กิจการอาจล้มละลายได้เร็ว อย่างโครงการที่ลงทุนมหาศาลในอนาคตเรื่องรถไฟความเร็วสูง รายได้ที่ได้อาจจะต่ำกว่ารายจ่าย และวิ่งไม่ทันกับตัวเลขหนี้ นี่ก็เป็นปัญหาในอนาคต ปัจจุบันคนเริ่มตื่นตัวเรื่องหนี้สิน อย่างกรณีญี่ปุ่นอีกหน่อยจะหนีไม่พ้นต้องเพิ่มภาษี พอเพิ่มภาษีก็จะเกิดภาวะที่คนลดการใช้จ่าย หรือในกรณีอเมริกาพอดันไปดันมาก็ปะทะกับกำแพงเงินกู้ที่ถึงจุดลิมิต เมื่อพัฒนามาจุดหนึ่งก็เกิดภาวะอิ่มตัว ซึ่งกระแสรูปคลื่นจะพลิกกลับ ไม่สามารถดันต่อ ก็หมายความว่าคลื่นเศรษฐกิจจะหดตัว เนื่องจากคนจำนวนหนึ่งจะลดการใช้จ่าย หนี้สินเยอะแล้ว รัฐก็ไม่สามารถดันต่อได้

ถึงขั้นเศรษฐกิจล่มสลายไหม
จะพังหรือไม่พังขึ้นอยู่กับปัญหาอื่น กรณีของอเมริกา จะทำให้เกิดวิกฤตใหญ่ เพราะค่าเงินดอลล่าร์พลิกผัน ถ้าถึงจุดนั้นจะรักษาเสถียรภาพของระบบเงินดอลล่าร์ไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แล้วจะโยงไปถึงเรื่องน้ำมัน ทองคำผันผวน วิธีทำให้ดอลล่าร์มีเสถียรภาพในปัจจุบันด้วยการกดค่าราคาทองคำไว้ ถ้าไม่กดคนก็แห่ไปซื้อทอง ถ้าค่าเงินดอลล่าร์พลิกผันเพราะวิกฤตการเงินภายในอเมริกา ทองจะถูกดันออก ทองดันมาเมื่อไหร่ระบบการเงินโลกจะยุ่ง อาจจะเกิดการตกลงของค่าเงิน โดยเฉพาะค่าเงินดอลล่าร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ และไม่มีใครบอกได้ว่าทองจะลงหรือขึ้น

โลกถึงคราววิกฤต ?
ถ้าเราคิดว่า โลกจะมาถึงจุดนั้น ก็ต้องระมัดระวังในการใช้เงิน อย่าเข้าไปกระตุ้นการใช้เงินในระบบมากเกินไป ถ้าปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องกระแสโลก มันก็ต้านไม่ได้ เหมือนวิกฤตสิ่งแวดล้อมก็แก้ยาก สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เศรษฐกิจอยู่ได้ก่อน ตอนนี้ชาวบ้านหลายพื้นที่ ก็พยายามทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

พุทธศาสนากับโลกอนาคตก็เป็นอีกประเด็นที่อาจารย์สนใจ มีคำอธิบายอย่างไร
เพราะคนไม่ได้สังเกต ตอนนี้พุทธศาสนาตีกลับ คนอยากได้คำตอบทางด้านจิตใจ เมื่อระบบโลกสวิงไปถึงทุนนิยม หรือหยางสุดๆ ปรากฏการณ์สุดของเส้นทางเดิน ผมคิดว่ามีปรากฎการณ์ของการตีกลับอย่างรุนแรง เพราะทางเดิมมันถึงทางตัน ยกตัวอย่างงานของท่านติช นัท ฮันห์ และองค์ดาไล ลามะ ขายดิบขายดี พุทธศาสนาในเมืองไทยเองแพร่กระจายไปเยอรมัน แคนาดา ฯลฯ เพราะคนอยู่ในโลกวัตถุนิยมจนอิ่มตัว พออิ่มตัว ก็อยากได้คำตอบด้านจิตใจ คนจำนวนหนึ่งเบื่อชีวิตธุรกิจ เบื่อสงครามการต่อสู้ อยากอยู่อย่างสงบ

ผมคิดว่า ต่อไปหนังสือที่ขายดีที่สุดคือ หนังสือด้านศาสนา จีนเองก็หันกลับมาหาขงจื้อ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีในอดีต แต่คนไม่เคยค้นคว้าและวิจัยจริงจังในเรื่องศาสนธรรม วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เอื้ออาทรอยู่ง่ายๆ เราไม่เคยเรียนรู้ตรงนี้จริงจัง ทั้งๆ ที่มีคุณค่า ประมาณว่าสูงสุดคืนสู่สามัญ เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของระบบโลก

ระบบโลกเปลี่ยนผ่านอย่างไร
จุดพัฒนาการพลิกผันใช้เวลาพอสมควร ผมไม่รู้ว่านานแค่ไหน ผมตอบไม่ได้ โลกาภิวัตน์ ถ้ามองด้านหนึ่งเหมือนจุดสูงสุด มันเป็นระบบโลกที่เชื่อมกันด้วยความไวในการสื่อสารเชื่อมโลกเป็นหนึ่งเดียว หลังจากนั้นจะพลิกผัน ผมเขียนงานชิ้นหนึ่งใช้คำว่า กลียุค ซึ่งเป็นศัพท์พุทธศาสนา มีคำอธิบายอย่างหนึ่งน่าสนใจ ซึ่งเป็นคำทำนายโบราณ ปรากฎการณ์ไว้ว่า น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว หรือเรื่องข้าวยากหมากแพง

ปรากฎการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนักขึ้น ผมเป็นห่วงว่าจะเกิดการเคลื่อนตัวไปสู่ทิศทางที่หนักขึ้นในการเมืองไทยและระบบเศรษฐกิจ ถ้าอ่านจากอาจารย์ผมและคนที่เรียนเรื่องระบบโลก ทุกคนก็จะพูดเหมือนกันว่า คีออส ในระบบรุนแรงเกือบทุกจุด โดยปกติการปฏิวัติโดยทั่วไปในยุคโบราณคือล้มรัฐบาล ก็มีรัฐบาลชุดใหม่ จัดระบบใหม่ แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ตรงนั้นพัฒนาเป็นสงครามปะทะกัน ใหญ่ขึ้น และไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไหร่

แนวโน้มต่อไปเรื่องธรรมชาติจะเป็นปัจจัยใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ?
เมื่อก่อนผมไปเชื่อตามแนวว่า มนุษย์นิยม ว่า มนุษย์จะไปของมันได้ จนผมมาศึกษาเรื่องธรรมชาติ และรู้สึกว่า ธรรมชาติใหญ่กว่ามนุษย์ อาณาจักรโบราณที่ล้มเพราะวิกฤตธรรมชาติ อาณาจักรขอม อินคา ล้มเพราะธรรมชาติ เกิดน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว มันมีระบบใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างตอนแม่น้ำฮวงโหท่วมใหญ่ คนตายเยอะ ก็เกิดภาวะอดอยากเกิดกบฎชาวนา จนเกิดการต่อสู้ ปัจจุบันน้ำท่วมเราแก้ไขได้ไหม ซึ่งเรื่องนี้เราต้องสร้างระบบสังคมและการเมืองที่อยู่กับธรรมชาติได้ แม้คนส่วนใหญ่จะสนใจ แต่นักการเมืองไม่สนใจ และตอนนี้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่อาจารย์หันมาค้นคว้าเรื่องพุทธศาสนาและธรรมชาติมากขึ้น ?
ผมกำลังจะเขียนหลักธรรมพุทธศาสนา ผมสนใจแนวทางเต๋า แต่มีวิธีการวิเคราะห์แบบพุทธ อย่างคำว่า ปฏิจจสมุปบาท ส่วนใหญ่ตีความผ่านการใช้ภาษา ทำให้คนไม่เข้าใจ ผมพัฒนาการตีความใหม่ แม้กระทั่งงานท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านตีความผ่านภาษา ผมคิดว่าต้องตีความผ่านมิติประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ในช่วงเวลาหนึ่งที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ เวลาท่านพูดอะไรจะมีภาษาที่คนยุคนั้นสื่อสารกัน แต่รุ่นเราไม่มีสิทธิที่จะมีภาษาร่วมกับคนยุคนั้น ภาษาในยุคนั้นจึงต่างกับเรา และทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่าง

แล้วมุมที่อาจารย์ตีความเป็นอย่างไร
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องกำเนิดของพระพุทธเจ้า มีการตีความว่าออกบวช เพราะไปเจอคนแก่ คนเจ็บ คนตาย นี่เป็นการตีความโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ ในเมืองที่ท่านอยู่ ท่านก็เจอคนแก่ คนเจ็บป่วย และญาติพี่น้องก็มีตาย ซึ่งในสมัยนั้นเกิดสงครามระหว่างศากยวงศ์ ท่านไม่ยอมเข้าร่วมสงคราม ท่านถูกขับไล่ ในทางมหายานจะนำเรื่องประวัติศาสตร์และสังคมมาช่วยอธิบายการที่ท่านออกบวช เพราะท่านถูกขับจากฐานะกษัตริย์ ซึ่งน้ำหนักการตีความดีกว่าสาเหตุเพราะเห็นการเกิด เจ็บ แก่และตาย