'คำนูณ'อัดกู้เงินดอลล์40%ของวงเงินเสี่ยง

'คำนูณ'อัดกู้เงินดอลล์40%ของวงเงินเสี่ยง

"นิคม"เผยให้เวลาอภิปรายกู้2ล้านล้านถึงพรุ่งนี้"เกชา"เผยผลศึกษากมธ.ฯขยายรถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่"คำนูณ"อัดกู้ดอลล์40%ของวงเงินเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงินฯ) วงเงิน 2ล้านล้านบาท วาระแรก โดยรัฐบาลได้ส่ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง, นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเเละรมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เข้ามาร่วมชี้แจงต่อวุฒิสภาโดยก่อนเข้าวาระพิจาณานายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งว่ามีส.ว.แจ้งชื่อขออภิปรายรวม 74 คน โดยจะจัดสรรเวลาให้อภิปรายไม่เกินคนละ 15 นาที ทั้งนี้จะใช้เวลารวมกว่า 18 ชั่วโมง 30 นาที และให้เวลารัฐมนตรีชี้แจงรวม 2 ชั่วโมง ซึ่งในวันแรกของการประชุมจะใช้เวลาประชุมไปจนถึงเวลา 22.00 น. และในวันที่สองคือวันที่ 8 ต.ค. จะเริ่มประชุมในเวลา 10.00 น. ไปจนเสร็จสิ้น ดังนั้นขอให้รักษาเวลาการอภิปรายด้วย ทั้งนี้ช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการวาระแรก ทางกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) มีมติให้คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) การคมนาคมและ กมธ.การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ไปศึกษาโดยก่อนเข้าสู่การอภิปราย ขอให้ทั้ง 2 กรรมาธิการนำเสนอรายงาน

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ในฐานะประธานกมธ.การคมนาคม รายงานผลการศึกษาและข้อสังเกต ว่า 1.การตราร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ที่ระบุว่าการจ่ายเงินแผ่นดินกระทำได้ที่อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย, กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, กฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง 2.ควรมีการศึกษารายละเอียดโครงการอย่างรอบด้านและดำเนินโครงการเฉพาะที่จำเป็นตามที่มีความพร้อมหลังจากมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม, สุขภาพและมีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน 3.โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ควรกำหนดเทคโนโลยีที่ใช้ให้ชัดเจน เพราะเทคโนโลยีแต่ละประเทศมีราคาที่แตกต่างกัน หากกำหนดราคาไว้แบบกลางๆ อาจจะทำให้เทคโนโลยีไม่คุ้มกับราคา 4.ต้องระมัดระวังในเรื่องของการจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างที่ซ้ำซ้อน 5.การก่อสร้างรถไฟทางคู่ กมธ.การคมนาคมเห็นว่าควรเพิ่มเติมรถไฟสาย เด่นชัยจ.แพร่ - เชียงใหม่ ที่ยังไม่อยู่ในแผน อย่างไรก็ตามกมธ.ฯ เห็นว่าที่ประชุมวุฒิสภาควรมีมติรับหลักการวาระแรกของร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2ล้านล้านบาทไว้พิจารณาต่อไป

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ฐานะตัวแทนกมธ.การเงิน การคลังฯ รายงานผลการศึกษาว่า 1.ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักการการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายที่ระบุไว้ 4 ลักษณะเท่านั้น คือ กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย, กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, กฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือเว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพราะร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ มีการระบุว่าการนำเงินกู้ที่ได้มาไปให้กู้ต่อยังหน่วยงานรัฐเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามแผนงานอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยระบุไว้ในร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ในมาตรา 5, มาตรา 6, มาตรา 12, มาตรา15 และมาตรา17 จึงไม่เข้าข่ายกฎหมาย 4 ลักษณะตามที่มาตรา 169วรรคหนึ่งกำหนดไว้ 2. การจ่ายเงิน จำนวน 2 ล้านล้านบาท ตามร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ไม่ได้เป็นเรื่องความจำเป็นที่ต้องจ่ายภายในระยะเวลาที่จำกัด แต่เป็นลักษณะของการทยอยจ่ายเงินภายในกำหนดเวลาไม่เกิน วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ตามที่ปรากฎอยู่ในร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ มาตรา 5 ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นด้วยเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเมื่อรัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาทในคราวเดียว หรือภายในระยะสั้น

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ระบุกับนายธนาคารไว้ว่าจะมีการกู้เงินเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงิน 2 ล้านล้านบาท กรรมาธิการมองว่ามีความเสี่ยง คือ 1. เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หากค่าเงินบาทตกลง จะทำให้การชำระหนี้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แม้ว่าจะซื้อประกันความเสียง หรือสว็อพได้ แต่ตนไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทั้งหมดกับจำนวนเงินกู้ที่มีหลายล็อตและมีระยะเวลายาว ทำให้เกิดรายจ่ายเพิ่มขึ้น ณ วันที่จ่ายคืนหนี้ ทำให้การจ่ายคืนหนี้ที่ต้องตั้งเบิกจากเงินแผ่นดินนั้นมียอดสูงขึ้นกว่าการกู้เป็นเงินบาท และ 2.ความผันผวนเรื่องเศรษฐกิจโลก หากช่วงการชำระหนี้ เช่น กู้7 ปีและชำระหนี้ 50 ปีเกิดวิกฤตเงินไหลออกเหมือนปี2540 จะนำเงินที่ไหนมาชำระหนี้ ตนห่วงว่าอาจจะมีการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นการกู้หนี้ซ้อนกู้หนี้อีกหรือไม่