ศาลปกครองชี้พิพาทบางคดีรัฐไม่ควรอุทธรณ์

ศาลปกครองชี้พิพาทบางคดีรัฐไม่ควรอุทธรณ์

"ปธ.ศาลปกครอง"ชี้ข้อพิพาทบางคดีรัฐไม่ควรอุทธรณ์ หากทำผิดจริงควรเร่งเยียวยาชาวบ้าน ยันศาลพร้อมเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน

ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อเรื่อง "ศาลปกครองของประชาชน" ในงานกิจกรรมสื่อมวลชนพบศาลปกครอง ว่า ในระบบการปกครองของประชาธิปไตยของไทย ประกอบด้วย 1.การปกครองโดยเสียงข้างมากต่อเสียงข้างน้อย 2.การปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3.การปกครองโดยกฎหมายนิติรัฐ ซึ่งการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารผูกพันกับกฎหมายที่มาจากผู้แทนประชาชนเป็นผู้ออกกฎ เพื่อให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจใช้ปกครอง แต่ปัญหาคือการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเป็นไปด้วยความชอบหรือไม่ ถ้าให้ฝ่ายบริหารตรวจสอบการใช้อำนาจกันเองก็คงไม่มีใครบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากจะให้องค์กรที่เป็นผู้แทนประชาชนตรวจสอบก็จะหาว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีองค์กรอิสระเพื่อคอยตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารว่าชอบหรือไม่ ซึ่งองค์กรอิสระก็คือตุลาการ ที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารว่าชอบด้วยหรือไม่

โดยศาลซึ่งเป็นองค์กรอิสระจะต้องมีความเป็นกลาง เพราะว่าศาลไม่ใช่คู่กรณีหรือคู่ความที่ฟ้องร้องกัน แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมีการฟ้องร้องคดีศาลจะถูกกดดันข่มขู่ต่างๆ และเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยไม่แล้ว ศาลก็จะถูกกดดันว่าจะต้องรับผิดชอบต่อคำวินิจฉัย และกลายเป็นจำเลยของฝ่ายที่ไม่พอใจผลของคำพิพากษา ซึ่งศาลมีหน้าที่ตัดสินบนพื้นฐานของกฎหมาย การพิจารณาคดีของศาลจะต้องอยู่บนหลักเหตุผลตามกฎหมาย ไม่อาจตัดสินได้ตามความอำเภอใจที่จะชี้ว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด

นายหัสวุฒิ กล่าวอีกว่า ระบบศาลในประเทศไทย แบ่งได้ 4 ส่วนคือ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร ซึ่งแต่ละศาลจะมีระบบพิจารณาคดีที่แตกต่างกันตามลักษณะหรือข้อพิพาทของคดี ที่จะกำหนดให้ศาลใดเป็นผู้พิจารณา ระบบวิธีพิจารณาคดีของศาลตามหลักสากลประกอบด้วย 1.ระบบกล่าวหา 2.ระบบไต่สวน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพิจารณาและการพิพากษาคดี การที่จะใช้ระบบใดนั้นขึ้นอยู่กับคดีข้อพิพาทมีลักษณะเป็นเช่นใด โดยศาลปกครองซึ่งเปิดทำการเมื่อปี 2544 พิจารณาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากการใช้อำนาจทางปกครองของฝ่ายบริหาร ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบและไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งแตกต่างจากคดีแพ่งและคดีอาญา ลักษณะพิเศษของศาลปกครองคือ คู่ความทั้งสองฝ่ายมีสถานะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่นคดีชาวบ้านฟ้องหน่วยงานของรัฐ คำถามคือชาวบ้านมีศักยภาพที่จะฟ้องได้หรือไม่ เพราะหากเปรียบเป็นมวยก็คือรุ่นเฮวี่เวท กับ ไลท์ฟรายเวท ซึ่งแตกต่างกันมาก

อีกเรื่องคือข้อพิพาทในทางปกครองเกิดขึ้นโดยดูจากพยานหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากอยู่ในความครอบครองของฝ่ายปกครองมากกว่าฝ่ายชาวบ้าน เช่น คดีชาวบ้านฟ้องรัฐว่าออกโฉนดที่ดินของชาวบ้านเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะหรือพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเอกสารส่วนใหญ่ก็อยู่ที่รัฐหรือฝ่ายปกครอง ชาวบ้านไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานมายืนยันได้ เพียงแต่พูดได้แค่ว่าเคยอยู่พื้นที่ดังกล่าวมานานแล้วตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ส่วนฝ่ายปกครองเพียงแค่นำเอกสารประกาศว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะก็ชนะแล้ว ซึ่งหากสู้กันตามสถานะชาวบ้านคงไม่สามารถชนะคดีได้ และอาจถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนอีกด้วย เพราะระบบกล่าวหาศาลไม่มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคู่ความที่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ดังนั้นการใช้ระบบกล่าวหาเป็นไปได้ยากมากที่ชาวบ้านจะชนะคดี แต่หากคู่กรณีมีศักยภาพเท่าเทียมกันไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เช่นในคดีแพ่ง เป็นต้น

แต่ศาลปกครองมีการใช้ระบบไต่สวน และศาลปกครองมีตุลาการที่มีองค์ความรู้ผู้เชี่ยวชาญชำนาญการในด้านต่าง ๆ แบ่งแยกเป็นองค์คณะแต่ละฝ่าย ซึ่งองค์คณะแต่ละท่านมีความรู้และประสบการณ์เชิงลึกในด้านต่าง ๆ มาก่อนที่จะมาเป็นศาล ในการพิจารณาคดีนั้นนอกเหนือจากพยานหลักฐานที่คู่กรณีเสนอแล้ว ศาลยังมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยตนเองได้เพื่อความเป็นธรรมมากที่สุด ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมานั้น คดีพิพาทในทางปกครอง ปัจจุบันชาวบ้านมีโอกาสชนะคดีได้มากขึ้นกว่าในอดีต แม้ว่าตามสถิติหน่วยงานของรัฐจะชนะมากกว่าก็ตาม แต่เปอร์เซ็นที่ชาวบ้านชนะคดีก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยศาลปกครองไม่เพียงแต่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แต่แนวทางคำวินิจฉัยของศาลปกครองทำให้หน่วยงานของรัฐจะต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดข้อพิพาทกับชาวบ้านน้อยลง และจะต้องเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านด้วย

"ผมเห็นว่าในคดีข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้านนั้น หากหน่วยงานของรัฐแพ้ ก็ไม่ควรอุทธรณ์ทุกคดี บางคดีหน่วยงานของรัฐผิดจริง ๆ เพราะไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งก็ควรจะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองเพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับชาวบ้าน แต่ปัจจุบันรัฐมักจะอุทธรณ์เกือบทุกคดีเพราะเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้ว บางคดีกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานาน ชาวบ้านก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่บางคดีหากรัฐเห็นว่าถูกต้องจริงๆก็สามารถอุทธรณ์ได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ด้วยศาลสูงอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งหากหน่วยงานรัฐสามารถทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นมิติใหม่ที่ดี"ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวและว่า "ผมยืนยันว่าศาลปกครองยังเป็นหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ผมอยากเห็นศาลปกครองเป็นเสาหลักของประเทศชาติและบ้านเมืองนี้ต่อไป"