เตือนจำนำข้าวขาดทุนหนัก สต็อกล้นโลก

เตือนจำนำข้าวขาดทุนหนัก สต็อกล้นโลก

นักวิชาการเตือนรัฐบาลขาดทุนหนักโครงการรับจำนำข้าว เหตุสต็อกข้าวโลกพุ่งสูงขึ้น กดราคาร่วง ด้านสต็อกข้าวในเอเชียแนวโน้มทะยาน

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวเตือนว่ารัฐบาลจะเผชิญกับภาวะการขาดทุนจากโครงการรับจำนำมากขึ้น หากไม่ลดราคารับจำนำ เนื่องจากขณะนี้เกิดภาวะข้าวล้นโลก เนื่องจากผลผลิตออกมามาก แต่หาคนซื้อได้น้อยลง

"ปัจจุบันสถานการณ์ค้าข้าวในตลาดโลกมีความตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากความต้องการข้าวที่ลดลงและผู้ส่งออกข้าวในประเทศต่างๆ ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น เช่น หลายประเทศในละตินอเมริกาวางแผนที่ส่งข้าวนึ่งไปขายยังแอฟริกาในระยะเวลาอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่เวียดนามเองก็มีงบประมาณในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและเพิ่มผลผลิตข้าวปีละ 3 พันล้านบาท ในขณะที่ไทยมีงบประมาณด้านนี้เพียง 300 ล้านบาท" นายสมพร กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “เปิดปมนโยบายข้าวไทย” จัดโดย ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากข้อมูลของสถาบันฯ พบว่าตลาดข้าวไทยในปี 2555 เทียบกับปี 2554 หดตัวลงในทุกตลาดการค้าทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า เช่น ตลาดเอเชียปริมาณลดลง 64.8% มูลค่าการส่งออกลดลง 54.03% ตะวันออกกลางปริมาณลดลง 14.5% และมูลค่าลดลง 2.75% และตลาดเอเชียตะวันออกปริมาณลดลง 39.43% และมูลค่าการส่งออกลดลง 30.41%

"สาเหตุที่ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง เนื่องจากหลายประเทศเริ่มส่งเสริมการปลูกข้าวเพื่อบริโภคเองภายในประเทศ และการเก็บสต็อกข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่อยู่ในอัตราสูง"

นายสมพร ยกตัวอย่างจีนมีสต็อกข้าว 45.02 ล้านตัน อินเดีย 25.10 ล้านตัน อินโดนีเซีย 4.5 ล้านตัน ขณะที่ไทยมีประชากรน้อยกว่าอินโดนีเซียแต่ก็มีสต็อกข้าวไม่ต่ำกว่า 17 ล้านตัน ซึ่งการที่ตลาดข้าวรับรู้ปริมาณสต็อกข้าวจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ราคาข้าวไม่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีทิศทางราคาที่ปรับตัวลดลงในบางช่วงเวลา

"ปริมาณข้าวเปลือกในสต็อกของรัฐบาลน่าจะมีสูงถึง 37 ตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากเพราะทั่วโลกมีการขายข้าวเพียงปีละ 32 ล้านตัน การเก็บข้าวมากๆ ทำให้โรงสีหลายแห่งของไทยขยายความจุจากเดิมที่โรงสีทั่วประเทศมีความสามารถในการเก็บข้าวได้เพียง 30 ล้านตัน แต่ในขณะนี้มีการขยายความจุในการเก็บข้าวไปเป็น 70 ล้านตัน"

นายสมพร กล่าวว่า โรงสีขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการขยายความจุในการเก็บข้าว ซึ่งเป็นรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บข้าว ขณะที่โรงสีขนาดเล็กและโรงสีชุมชนไม่ได้ประโยชน์มากนัก

เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะมีการประมูลข้าวในสต็อกเพื่อส่งออก พบว่า ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง และข้าว 5% ของไทยปรับลดลงจากประมาณ 550 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 525 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวของไทยอยู่ที่ประมาณ 799 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ 24,777 บาทต่อตัน แบ่งเป็นต้นทุนของข้าวเปลือก 23,077 บาทต่อตัน ค่าสีแปรสภาพ 500 บาทต่อตัน ค่าการตลาด 1,200 บาทต่อตัน

"ราคาข้าวส่งออกของไทยจึงติดลบเมื่อเทียบกับราคาต้นทุนที่ 274 ดอลลาร์ต่อตัน หรือขาดทุนที่ราคาตันละเกือบ 9,000 บาท"

นายสมพร กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายจำนำข้าวการใช้เงินในโครงการนี้จะอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยจากการตรวจสอบกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ล่าสุด พบว่าโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554 มีการใช้เงินในโครงการไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 6.7 แสนล้านบาท หากนโยบายนี้ยังถูกใช้ในปีต่อๆ ไป จะต้องใช้เงินปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท

"หากรัฐบาลนี้บริหารประเทศอีก 2 ปี จะใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในโครงการนี้"

สื่อนอกรายงานล้นตลาดเอเชีย

หนังสือเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่าจากสภาพอากาศในเอเชียที่เอื้ออำนวย ประกอบการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเกษตรกรในการผลิตพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศ กำลังทำให้เกิดสถานการณ์ข้าวล้นตลาดเอเชีย

สต็อกข้าวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ราคาสำหรับผู้นำเข้ารายใหญ่ๆ ในแอฟริกา และจีน จ่ายเงินน้อยลง แต่บรรดาผู้บริโภคในประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่สุด รวมถึง ไทย และอินเดีย กลับต้องจ่ายเงินซื้อข้าวแพงขึ้น เพราะข้าวที่ผลิตได้เกินมายังคงถูกเก็บไว้ในโกดังของรัฐบาล

ทั้งผลผลิตที่มากเกินไปนี้ ยังส่งต่อสหรัฐเพียงเล็กน้อย เพราะข้าวที่ปลูกในสหรัฐ มีหลากหลายสายพันธุ์

หากนั่งรถไฟจากกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ไปยังรัฐข้างเคียง ภาพที่จะเห็นจนชินตาในชนบทก็คือ ข้าวที่กองสูงอยู่บนฐานไม้ และมีเพียงผ้าพลาสติกคลุมเอาไว้เท่านั้น ส่วนในไทย รัฐบาลได้ตัดสินใจใช้คลังสินค้าในสนามบินเก่าเป็นที่เก็บข้าว เพราะโกดังข้าวแห่งอื่นๆ เต็มหมดแล้ว

คาดสต็อกข้าวโลกเพิ่ม 2%

ปริมาณที่ล้นออกมานี้ เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และโครงการของรัฐบาลที่กระตุ้นให้มีการปลูกข้าวมากขึ้น โดยข้อมูลของอินเตอร์เนชั่นแนล เกรนส์ เคาน์ซิล (ไอจีซี) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ คาดว่า ในปีนี้สต็อกข้าวโลกอาจเพิ่มขึ้น 2%

บรรดานักวิเคราะห์มองสถานการณ์ข้าวล้นตลาดในเอเชียว่าจะย่ำแย่ลงไปอีก จากปัจจัยหลายอย่าง รวมถึง การที่ไทย ประเทศผู้ส่งออกข้าวแถวหน้าของโลก พยายามเทขายข้าวในสต็อกจำนวน 17 ล้านตันออกมา โดยปริมาณที่มากถึงขนาดนี้เป็นผลมาจากโครงการรับจำนำข้าว ที่กำหนดราคารับซื้อไว้สูงกว่าราคาตลาด

ส่วน อินเดีย ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก คาดว่า ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีการเก็บเกี่ยวข้าวในปริมาณที่ใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหมือนกับปากีสถาน ในขณะที่ความต้องการจากประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ๆ อย่าง ฟิลิปปินส์ และไนจีเรีย กลับร่วงลง

"หากไทยประสบความสำเร็จในการระบายข้าวที่เก็บไว้ แน่นอนว่าจะสร้างแรงกดดันขาลงให้กับราคา" นายดาร์เรน คูเปอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จาก ไอจีซี ระบุ

ดัชนีราคาข้าวโลกร่วงต่ำสุดรอบ 3 ปี

ทั้งนี้ ดัชนีราคาข้าวโลกของไอจีซี ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 200 จุด แตะระดับต่ำสุดนับแต่เดือนก.ย. 2553 เป็นต้นมา และปรับตัวลงมาแล้วเกือบ 5% ในปีนี้

อย่างไรก็ดี ราคายังมีช่วงห่างกันอย่างมากเมื่อเทียบเป็นรายประเทศ เพราะตามปกตินั้นข้าวจะขายกันอยู่ภายในประเทศที่ผลิต มีเพียง 8% เท่านั้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดโลก เทียบกับข้าวสาลีที่ 20% และถั่วเหลืองที่ 36%

ในตลาดข้าวเวียดนามนั้น ราคาข้าวในปีนี้ลดลงไปราว 5% โดยที่ข้าวขาว 5% หนึ่งในข้าวที่มีการซื้อขายกันมากที่สุด มีราคาซื้อขายอยู่ที่ราว 390 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนข้าวขาว 5% สำหรับการส่งออกของไทยนั้น ซื้อขายที่ราว 475 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงมาแล้ว 16% ตั้งแต่ช่วงต้นปี

ส่วนตลาดค้าข้าวล่วงหน้า ที่มีการซื้อขายเป็นวงกว้างเพียงแห่งเดียวของซีเอ็มอี กรุ๊ป อิงค์ และเป็นการซื้อขายที่สะท้อนถึงราคาข้าวสหรัฐด้วยนั้น ขยับขึ้นมา 7% ในปีนี้

การที่ตลาดข้าวมีการควบคุมอย่างเข้มงวด และแบ่งออกเป็นส่วนๆ นั้น หมายความว่าผู้บริโภค และผู้ที่ต้องการซื้อข้าว จะได้ประโยชน์จากการจัดหาที่ล้นตลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายให้คำแนะนำว่า รัฐบาลควรกระตุ้นให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชผลอย่างอื่น ด้วยการลดราคาค้ำประกันสำหรับชาวนา

ในขณะที่ ชาวนาไทยจะได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น ตามโครงการรับจำนำของรัฐบาล ราคาข้าวที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ขยับขึ้นมาถึง 10% นับแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เพราะการจัดหาที่ตึงตัว และแม้สต็อกข้าวของรัฐบาลจะมีอยู่จนล้นโกดัง แต่เทรดเดอร์ไทยก็ยังนำเข้าข้าวจากกัมพูชา และเวียดนาม เนื่องจากรัฐไม่อยากที่จะระบายข้าวออกสู่ตลาดท้องถิ่นในราคาถูก

นโยบายเกษตรของอินเดีย ก็ส่งผลกระทบทำนองเดียวกันต่อราคาในท้องถิ่น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า จนถึงขณะนี้ ไทย และประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆ ต่างติดอยู่ในกับดักนโยบายของตัวเอง

เทรดเดอร์ห่วงคุณภาพเมินซื้อข้าวไทย

เมื่อตัดสินใจที่จะระบายข้าวออกมา ไทยยังประสบปัญหาในการหาเทรดเดอร์ซื้อตามราคาที่ต้องการ โดยเทรดเดอร์ ชี้ว่า ราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ 480 ดอลลาร์ต่อตัน แต่การยื่นประมูลซื้อนั้น ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 380 ดอลลาร์ต่อตัน เพราะกังวลในเรื่องคุณภาพข้าว

ไทย ยังพยายามที่จะนำข้าวออกขายในรูปแบบรัฐต่อรัฐ และเพิ่งจะประกาศขายข้าว 250,000 ตัน ให้กับ อิหร่าน โดยจะมีการจ่ายเงินในสกุลเงินยูโร แต่ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อิหร่านซื้อข้าวจากไทย นับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ขณะที่ นายเทจินเดอร์ นาราง ที่ปรึกษาของบริษัทเทรดเดอร์โภคภัณฑ์โลก เอมสันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในกรุงนิวเดลี อินเดีย มองว่า ราคาที่รัฐบาลไทยต้องการนั้น อาจเป็นตัวกำหนดว่า ราคาข้าวจะร่วงลงไปถึงระดับใด โดยในปัจจุบัน ราคาข้าว 5% เวียดนาม ซึ่งเป็นข้าวเอเชียที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดนั้น ร่วงลงมาอยู่ที่ราว 390 ดอลลาร์ต่อตัน จากที่เคยอยู่สูงถึง 560 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อปี 2554

เมื่อเดือนที่แล้วเวียดนามก็เพิ่งประกาศแผน ที่จะปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยให้กับผู้ส่งออก เพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บสำรองข้าวได้มากขึ้น ในความพยายามที่จะดันราคาข้าวในตลาดให้สูงขึ้น