แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (2)

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (2)

ขอนำประเด็นแนวคิดในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา แนวคิดเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมีอย่างไร
วิสัชนา เนื่องจากในช่วงเวลาที่บัญญัติแก้ไขกฎหมายให้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และกิจการที่จะได้กระทำในช่วง 6 เดือนหลังของรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เริ่มมาตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 นั้น การจัดทำบัญชีส่วนใหญ่ยังคงใช้บุคลากรด้านการบัญชีเป็นผู้จัดทำ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการจัดทำบัญชียังไม่แพร่หลายกว้างขวาง ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จก็ต้องรอให้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชีเสียก่อน แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้จัดทำบัญชีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปก็ตาม จึงต้องกำหนดให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากประมาณการกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชีไปก่อน
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการจัดทำประมาณการกำไรสุทธิที่อาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงได้กำหนดให้มีความรับผิดเกี่ยวกับเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 และชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีก 20% ของภาษีที่ชำระขาด นอกเหนือไปจากกรณีไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 หรือยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 และชำระภาษีล่าช้า
อนึ่ง การพิจารณา “เหตุอันสมควร” ดังกล่าวถือเป็นเรื่องยุ่งยากสับสนและไม่สามารถแสดงได้ว่าความ “สมควร” เกิดขึ้นจริง และโดยที่การเสียภาษีตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรเป็นเพียงการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการประจำปี เท่านั้น ฉะนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิจารณา “เหตุอันสมควร” ดังกล่าว กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 50/2537 กำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมว่า “กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว ให้ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร”
และเนื่องจากเป็นการกำหนดจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 67 ทวิ วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งควรใช้กับเฉพาะรอบระยะเวลาบัญชีที่มีกำหนดเวลา 12 เดือนเต็มเท่านั้น จึงได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายน้อยกว่าสิบสองเดือนเป็นอันไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51
อย่างไรก็ตามสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แม้รอบระยาเวลาบัญชีจะมีกำหนดเวลาน้อยกว่า 6 เดือน แต่หากรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวมีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน กิจการก็ยังมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีเช่นเดียวกัน

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ