ซัสโก้แข่งปั๊มใหญ่ ควงปิโตรนาสบุกใน-ตปท.

ซัสโก้แข่งปั๊มใหญ่ ควงปิโตรนาสบุกใน-ตปท.

ซัสโก้ลงแข่งปั๊มใหญ่ ควงปิโตรนาสรุกใน-ต่างประเทศ ติดตามได้ใน "กรุงเทพธุรกิจทีวี" ในรายการ Corporate Insight

ปลายปี 2555 บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO ผู้ให้บริการสถานีน้ำมัน "ซัสโก้" กระโดดเข้ามาประมูลซื้อปั๊มปิโตรนาสในประเทศไทย ด้วยมูลค่าสูงถึง 46 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,415.42 ล้านบาท เขี่ยคู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลทั้งโอมานออยล์ และบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ในไทย ซึ่งพอจบดีลนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ "ชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์"ของซัสโก้ มั่นใจว่าไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่ได้มา

ก่อนหน้านี้ปั๊มน้ำมันซัสโก้รุกต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่จากจำนวนปั๊มทั้งหมดในต่างจังหวัด 140 แห่ง มีในกรุงเทพฯเพียง 20 แห่ง ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักอย่างมากนัก แต่พอได้ปิโตรนาสเข้ามาทำให้จำนวนปั๊มจะขยับเพิ่มไปเป็น 235 แห่ง และในกรุงเทพฯก็จะมีปั๊มเป็น 80 แห่ง เพียงพอที่จะขึ้นไปแข่งขันธุรกิจปั๊มน้ำมันในระดับบนได้ทันที

สิ่งแรกที่ซัสโก้ต้องทำ คือให้คนรู้จักว่าตรงนี้มีซัสโก้ให้บริการ ไม่ห่วงสินค้าเลยเพราะของเรามีคุณภาพแต่ทำอย่างไรให้คนกล้าเข้ามาเติมน้ำมัน

การขยายธุรกิจในช่วง 3 ปีนี้ (2556-2558)วางเป้าหมาย จะมีการเปลี่ยนแบนด์ปิโตรนาส และปรับลุกส์ซัสโก้ ทั้งตัวปั๊ม ร้านค้า ตั้งแต่ไตรมาส 2/56 คาดใช้เม็ดเงินประมาณ 300 ล้านบาท

โดยปั๊มแห่งหนึ่งจะลงทุนประมาณ 2-3 ล้านบาท เงินลงทุนดังกล่าวจะใช้จากกระแสเงินสดของบริษัทนำมาลงทุน ซึ่งบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดตกปีละ 100-200 ล้านบาท และยังมีกำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ยต่อปีเยอะพอสมควรตกปีละ 800 ล้านบาท

"เป้ารายได้ปี 56 จะโตขึ้นมาอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีปิโตรนาสเข้ามาเพียง 1 เดือน รายได้ 17,000 ล้านบาท มาร์เก็ตแชร์ก็จะเพิ่มขึ้น 2 % จากเดิมซัสโก้กินมาร์เก็ตแชร์ 7-8 % แต่ที่ได้มากกว่านั้นการขยับจากผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่ครบวงจร ทำให้ขึ้นไปแข่งระดับพรีเมียร์ลีกไม่ได้ตกชั้นไปดิวิชั่น 1 อย่างแต่ก่อน"

ธุรกิจเดิมของซัสโก้ก็มีแผนในการขยายธุรกิจอยู่แล้ว นอกจากจะมีปั๊มน้ำมัน ก็ยังมีธุรกิจคลังน้ำมันให้เช่า ที่กรุงเทพฯ สงขลา และสุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจส่งออกน้ำมันไปต่างประเทศที่กัมพูชา ลาว พม่า และจีนบ้างส่วน มียอดขายประมาณ 40 % ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งเป็นการรองรับการเติบโตตามการเปิดตลาดเสรีการค้าหรือ AEC ที่เกิดขึ้นในอนาคต

ที่ผ่านมาคู่ค้าในต่างประเทศ อย่าง กัมพูชา ก็จะเป็นรายใหญ่เบอร์ 4 ของที่นั้น เริ่มทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่แรก ส่วนในลาวจะเป็นการประมูลขายให้กับกิจการเชื้อไฟลาวที่จะมีการประมูลทุก 15 วัน และพม่าจะเข้าทางชายแดนก่อนเพราะโลจิกติกส์ของไทยเสียเปรียบสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่การขนส่งต้องต้องอ้อมไปทางจังหวัดระนองและตราด

อนาคตมองว่าโอกาสขยายธุรกิจนี้ออกไปอีกยังมีอีกมาก ก่อนหน้านี้ซัสโก้เคยเข้าไปประมูลกิจการ คาร์เท็ล ในลาว แต่ก็พลาดไป ดังนั้นกลยุทธ์ขยายต่างประเทศจะเน้นหาผู้ร่วมทุนที่มีพื้นฐานในประเทศจะเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว

"แม้ธุรกิจส่งออกจะมีการขยายตัวแต่พอมีปิโตรนาสเข้ามาด้วยจำนวนปั๊มในประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้รายได้ในประเทศจะมีสัดส่วน ถึง 70-80% และต่างประเทศ 20-30 %"นอกจากซัสโก้ก็ยังมีปั๊มแก๊ซ NGV 10 แห่ง LPG 8 แห่ง ซึ่งปีนี้ก็ตั้งเป้าขยายปั๊ม NGV อีก 5แห่ง ในกรุงเทพก่อน และเพิ่มความสามารถให้จ่ายได้เร็วขึ้น เงินลงทุนจะแยกออกจากการปรับปั๊มน้ำมันเพรา มีพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินได้ในปีนี้และรายได้จะเห็นในครึ่งปีหลัง

สาเหตุบริษัทเร่งขยายมากปีนี้เพราะมองว่าการเติบโตของธุรกิจนี้จะโตค่อนข้างเยอะ จากโครงการรถคันแรกทำให้มีรถใหม่ออกมา 3 ล้านกว่าคันและทุกคันใช้น้ำมันหมด ความต้องการใช้เพี่มขึ้นมาแน่ ส่วนต่างประเทศการเติบโตดีทั้งลาว กัมพูชาการใช้น้ำมันโตปีละ 7-8%

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่บริษัทเร่งการเติบโตยังระมัดระวังรักษากำไรขั้นต้นให้โตตามไปด้วย เพราะยอมรับว่าการซื้อปิโตรนาสทำให้มีภาระชำระดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ได้มีการวางแผนรองรับไว้อยู่แล้ว ด้วยการตั้งเป้า7 ปี คืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้หมด แต่ถ้าดีกว่านั้นอาจจะพิจารณาขายทรัพย์สินของปิโตรนาสที่ได้มาออกไปเพื่อใช้หนี้คืนเงินกู้ได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันปิโตรนาสถือหุ้นในบริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) มีต้นทุน ไม่เกิน 13 บาท (ปัจจุบันราคา 25-24 บาท) ยังไม่ตัดสินใจขายออกไปเพราะต้องการขยายธุรกิจบริการน้ำมันทางท่อ หรือทางเครื่องบินในระยะยาว

กรรมการผู้จัดการใหญ่ยังยืนยันด้วยว่าหุ้น SUSCO อาจจะมองว่าเป็นหุ้นเก็งกำไรมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้น (เฉลิมชัย มหากิจศิริ ถืออยู่ 12.77 %) แต่หุ้น SUSCO แตกต่างเพราะบริษัทมีกำไร มีการปันผลต่อเนื่องจะเก็งกำไรก็เรียกได้แต่อยู่บนปัจจัยพื้นฐานที่มีรองรับ และกลุ่ม สิมะโรจน์ ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ 25-30 %ตอนนี้บริษัทก็พร้อมที่จะเปิดประตูต้อนรับกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และกองทุนให้มากขึ้น