ทุจริตข้าวถุง!รัฐฮั้วเอกชนขาดทุน1.8หมื่นล้าน

ทุจริตข้าวถุง!รัฐฮั้วเอกชนขาดทุน1.8หมื่นล้าน

แกะรอยเส้นทาง"ทุจริตข้าวถุง"รัฐฮั้วเอกชนขาดทุน1.8หมื่นล้าน

หลังจากข่าวอื้อฉาวการทุจริตข้าวถุงราคาถูกถุงละ 70 บาทที่รัฐบาลมีนโยบายระบายข้าวภายใน"โครงการรับจำนำข้าว"จำนวน 2.5 ล้านตัน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนทั่วไป โดยให้บริษัทเอกชน ร่วมกันประมูลข้าวในราคาตันละ 7,625 บาทเพื่อบรรจุข้าวถุงขายให้ประชาชนในราคาถูก จนเกิดการทุจริตขึ้น แต่รัฐบาลก็พยายามบ่ายเบี่ยง พร้อมทั้งปฏิเสธในกรณีดังกล่าว

ล่าสุดรายการ"บิสซิเนสท๊อค"ออกอากาศทางช่อง"กรุงเทพธุรกิจทีวี" ได้เชิญ นายวิชาญ ศริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ตรวจสอบการระบายข้าวของรัฐบาลและ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบการระบายข้างของรัฐบาล เข้าร่วมรายการเพื่อเปิดโปงประเด็นการทุจริตข้าวถุงในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

นายวิชาญ เปิดเผยว่า การทุจริตโครงการจำนำข้าวจะมีอยู่หลายขั้นตอน แต่ที่กมธ.ตรวจพบคือขั้นตอนระบายข้าวที่การทุจริตโดยเฉพาะโครงการที่รัฐบาลอ้างว่าจะระบายข้าวจากคลังสินค้ากลาง เพื่อบรรจุถุงขายให้ช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยในราคาถูกกว่าท้องตลาด

"เรื่องดังกล่าวเป็นการทุจริตระหว่างหน่วยงานของภาครัฐกับบริษัทเอกชน เพราะมีการทำสัญญาในการเอื้อประโยชน์กัน "
จากการตรวจสอบพบว่า โครงการนี้มีการทุจริตที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะมีข้าวบางส่วนหายไป ด้วยการเปลี่ยนข้าวเช่นการนำข้าวสารหอมมะลิไปเปลี่ยนเป็นข้าวธรรมดามาบรรจุในถุงแทน และนำมาจำหน่ายให้กับประชาชน

ด้าน พล.ต.ท. ยุทธนา กล่าวว่า จากตรวจสอบขั้นตอนการระบายข้าวภายในประเทศพบว่ามีการทุจริต โดยเฉพาะโครงการข้าวถุง

"เริ่มการทุจริตขึ้นตั้งแต่ครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่รัฐบาลมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า(อคส.)ระบายข้าวจำนวน 6หมื่นตันเพื่อแจกจ่ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ระหว่างที่แจกจ่ายได้ประมาณกว่า1หมื่นตัน ก็มีการเปลี่ยนข้าวคุณภาพต่ำมาแทนกว่า 4หมื่นตัน "

ต่อมาเมื่อปลายเดือน พ.ย.ปี 2554 ได้ขอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)อนุมัติการระบายข้าวจำนวน1แสนตัน โดยอ้างว่าจะนำไปช่วยประชาชนทางภาคใต้ แต่กขช.อนุมัติช่วงต้นปี 2555 พร้อมลดราคา จากเดิม 15,000 บาทต่อตัน เหลือเพียง7,625 บาทต่อตัน โดยข้าวทั้งหมดได้ทำสัญญาให้บริษัทเอกชนไปดำเนินการบรรจุถุง

ในเดือนเดียวกันก็ขออนุมัติอีกครั้ง จำนวน1แสนตัน อ้างว่านำไปช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อกมธ.เข้าไปตรวจสอบพบว่าข้าวที่นำไปช่วยเหลือประชาชนทางใต้จริงๆมีจำนวนแค่ 8หมื่นตัน ส่วนที่เหลือนำไปขายให้กับร้านค้าทั่วไป

ปลายเดือน พ.ค. 2555 กขช.ได้อนุมัติอีก 5 แสนตัน จากนั้น เมื่อวันที่19 ธ.ค.ปี2555 กขช.ได้อนุมัติการระบายข้าว 1.8ล้านตัน อ้างว่าจะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยทยอยระบายครั้งละ 6 แสนตัน จำนวน 3ครั้ง และ รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณอีก1.3พันล้านบาท ตั้ง"ร้านถูกใจ"ขึ้นมาเพื่อนำข้าวไปบรรจุถุงขายให้กับประชาชนในราคาถูก
ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้กมธ.เกิดข้อสงสัยคือ การดำเนินของร้านถูกใจนั้นมีขั้นตอนอย่างไร จึงขอเข้าตรวจสอบจนพบข้อเท็จจริง

"ครั้งแรกของการก่อตั้งร้านถูกใจพบว่า ได้มอบหมายให้บริษัทไปรษณีย์ไทยดำเนินการจัดผู้ส่งให้กับร้านค้าต่างๆทั่วประเทศ แต่เมื่อร้านค้าได้สั่งข้าวถุงเป้นจำนวนมาก ทางไปรษณีย์ก็ไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เพราะทางผู้บรรจุถุงไม่ส่งข้าวมาให้ จึงขอถอนตัวออกจากโครงการดังกล่าว"

จากนั้น จึงได้เซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนให้ดำเนินการต่อ พร้อมทั้งขายข้าวให้ในราคาตันละ 7,625บาท เพื่อให้นำบรรจุถุงขายให้กับประชาชนในราคาถูก แต่มีบางบริษัทได้ขอถอนตัว เพราะทางกรมการค้าภายในสั่งห้ามขายข้าวเกินเดือนละ 2,500 ตัน จึงเหลือเพียง 2 บริษัทที่ยังดำเนินการต่อ

ทั้งนี้ ทางกมธ.สอบถามตามร้านค้าทั่วไป พบว่ามีการขายเกินราคาที่กำหนดจากเดิม 75 บาท ต่อถุงแต่ราคาขายจริง 95 บาทต่อถุง โดยทางร้านค้าบอกว่าบริษัทรับดำเนินการได้ขายในราคาถุงละ 75 บาท พร้อมต้องไปรับสินค้าเอง ทางร้านทั่วไปจึงต้องขึ้นราคาเป็นถุงละ95 บาท

นอกจากนี้ ยังพบว่าระยะเวลาเพียง10เดือนข้าวจำนวน1.8ล้านตันนั้นหายหมด จึงได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในถึงตัวเลขการระบายของร้านถูกใจ แต่กลับไม่มีได้คำตอบ จากนั้นได้ทำหนังสือถึงบริษัทเอกชนที่จัดส่งข้าวร้านถูกใจ และ ได้คำตอบว่ามีการส่งข้าวให้ร้านค้าทั่วประเทศเพียง 56,235 ตันเท่านั้น หากนับตัวเลขตั้งแต่การขายให้บริษัทเอกชน และ การก่อตั้งร้านถูกใจพบว่าขาดทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และข้าวก็ไม่ได้ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลับมีหน่วยงานของรัฐและร่วมกับเอกชนกระทำการดังกล่าว

ดังนั้น หากไม่มีการนำข้าวที่หายไปกลับคืนรัฐบาล ทางกมธ.ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามตั้งใจให้เกิดการทุจริตขึ้น เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยยังมีปัญหา โดยเฉพาะการยื่นเรื่องฟ้องรองแต่ละครั้งกว่าจะตีดสินคดีได้ต้องใช้ระยะเวลานาน บางครั้งคีดจนหมดอายุความ เรื่องดังกล่าวจึงเปิดช่องให้การทุจริตขึ้น

ท้ายสุดกมธ.ขอให้รัฐบาลควรหยุดการดำเนินการโครงการนี้โดยเร็ว เพราะจะให้รัฐเสียหายมากว่านี้