เพลงนี้เพื่อ "เธอ"

เพลงนี้เพื่อ "เธอ"

เกือบทุกเพลงในโลกนี้มักมีคำว่า "ฉัน" กับ "เธอ" เป็นเนื้อหาหลักในการสื่อความหมาย

แต่ถ้า "ฉัน" กับ "เธอ" ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ "ผู้หญิง" กับ "ผู้ชาย" จะมีใครยอมรับ "เขา" ได้บ้าง
. . .

ทุกวันนี้พื้นที่ทางสังคมของ "กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน" ขยายขอบเขตและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่สำหรับ "บางวงการ" พื้นที่ของพวกเขายัง "แคบ" และ "ตีบตัน" เกินไป

หนึ่งใน "บางวงการ" ที่เอ่ยถึง เห็นจะเป็นวงการเพลงและดนตรี ที่ยังมีวัฒนธรรมการสร้างหลักๆ เพื่อตอบรับ "ค่านิยม" แบบเดิมๆ โดยเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ความรักแบบ "หญิง-ชาย" ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับการผลิตเพลงทั่วโลก

แต่...โลกนี้ไม่ได้มีแค่ "ผู้หญิง" กับ "ผู้ชาย" ฉะนั้นการให้เกียรติ "กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน" ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสุนทรียภาพทางดนตรีอย่างมีศักดิ์ศรีบ้าง ก็น่าจะเป็น "การยอมรับ" ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

"ขบถ" ในบทเพลง

จะว่าไปมีเพลงที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันมากมาย แต่ในความมากมายเหล่านั้น จะมีสักกี่เพลงกันที่ถ่ายทอดความเป็นเพศที่สามได้อย่างเท่าเทียม

I will survive แม้จะเป็นเพลงของศิลปินหญิงนาม Gloria Gaynor ที่ออกมาในช่วงปี 2522 แต่ด้วยความที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน เนื้อหาจัดจ้าน ฝ่าด่านวัฒนธรรมของความเป็นกุลสตรีออกไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของเพศที่สามมากที่สุด นั่นจึงทำให้ผู้หญิงและกลุ่มคนรักเพศเดียวกันทั่วโลกลุกขึ้นมาปรบมือให้ พร้อมกับยก I will survive เป็นเพลงประจำใจของพวกเขาไปในทันที

"ในสังคมเราจะรู้สึกว่า ผู้หญิงควรจะเป็นช้างเท้าหลัง พอมีผู้หญิงที่เขาไม่ยอมผู้ชาย ก็กลายเป็นผู้หญิงนอกกรอบไป ซึ่งการที่มันออกนอกกรอบความคิดเรื่องเพศในสังคมออกมา มันก็เลยกลายเป็นจุดที่ connect กับคนที่เป็นเกย์ เป็นเพศที่สาม เพราะชีวิตเขาอยู่นอกกรอบทางความคิดเรื่องเพศในสังคมเช่นเดียวกัน" ศรุพงษ์ สุดประเสริฐ นักวิชาการด้านดนตรี ผู้สอนการใช้เสียงและการขับร้อง วิเคราะห์จากเนื้อหาของเพลงที่เชื่อมโยงกับชีวิตของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

นักวิชาการคนเดิมเสริมต่อว่า จริงๆ แล้วดนตรีเกี่ยวข้องกับคนทุกเพศ ไม้เว้นแม้แต่เพศที่สาม เพียงแต่ว่าเนื้อหาของดนตรีเหล่านั้นจะทำการถ่ายทอด หรือเล่าเรื่องราวของเพศออกมาอย่างไร และใครบ้างที่รู้สึกร่วม

"ประสบการณ์ของชีวิตมันถ่ายทอดผ่านดนตรีได้ ถ่ายทอดผ่านงานศิลปะได้ และเรื่องเพศก็เป็น element หนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมันก็จะผสมคละเคล้า ซึ่งหลายๆ ครั้งมันแยกไม่ได้เลยด้วยซ้ำ มันก็ถูกถ่ายทอดออกมาโดยอัตโนมัติ โดยที่บางทีคนที่เขียน คนที่เป็น composer เป็น songs writer หรือคนที่เป็นคนแสดงดนตรี ไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นเพศของตัวเองออกมา มัน encode มันใส่รหัสในชีวิตของเขาลงไปในตัวเพลงด้วย ทีนี้เราเป็นคนฟังเราต้อง decode เราต้องถอดรหัส ซึ่งบางทีมันก็ อ้าว...ตรงกับชีวิตเราเลย หรือว่าบางทีมันก็จะใกล้เคียงกับชีวิต เป็นคนข้างๆ หรือเป็นเพื่อนที่รู้จัก อะไรแบบนี้"

แน่นอนว่า หลังการปรากฏตัวของเพลงแนว sexy dance อย่าง I will survive ก็ทำให้นักแต่งเพลงมือดีๆ ของโลกหันมาผลิตผลงานดนตรีที่มีเนื้อหาแตกต่าง อย่างที่เรียกว่า "เพลงขบถ" อยู่บ้างเป็นระยะๆ แต่ที่สุดแล้วก็ยังไม่มีเพลงไหนเขี่ย I will survive หลุดจากความนิยมไปได้

และถ้า "I will survive" เป็นเพลงประจำใจของคนรักเพศเดียวกันในระดับสากล "เพลงสุดท้าย" ก็อาจจะเป็นต้นแบบของเพลงไทย ที่เปิดโอกาสให้เพศที่สาม ได้รู้จักกับคำว่า "อิสระ" ที่มาพร้อมเสียงดนตรี

ตลก เก่ง = เกย์/กะเทย

"เพลงสุดท้าย" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เพลงสุดท้าย" ที่เข้าฉายในปี 2528 เป็นเรื่องราวความรักของนางโชว์สาวประเภทสองที่ชื่อ "สมหญิง ดาวราย" ซึ่งค้นพบว่า "ไม่มีรักแท้สำหรับชาวสีม่วง" สุดท้ายเธอจึงยิงตัวตายบนเวที โดยเพลงนี้ได้นักร้องเสียงดี "สุดา ชื่นบาน" มาเป็นผู้ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงดนตรี

"ดังมาก (ลากเสียงยาว) เป็นเพลงจากเรื่อง เพลงสุดท้าย ตอนจบดาวราย นางเอกในเรื่องยิงตัวตายบนเวที ในยุคนี้คนร้องเป็นผู้หญิงคือ คุณสุดา ชื่นบาน แต่เนื้อเพลงคือกะเทยเป็นคนผิด ฉันคือสิ่งปลอม ต่อมายุคของ เจินเจิน บุญสูงเนิน จะเริ่มเปลี่ยน จะไม่ใช้ผู้หญิงร้อง เป็นเสียงตัวเอง แต่ก็เป็นเสียงผู้หญิงอยู่ และภาพที่ปรากฏมาก็เป็นภาพที่สวยงาม แล้วมาจนถึงยุคล่าสุดเมื่อปีสองปีที่แล้ว เบลล์-นันทิตา เขาไปประกวดไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์จนเข้ารอบ ได้ออก single และแสดงหนัง ไม่ได้ขอให้มารัก : It gets better จะเห็นว่าเนื้อเพลงมันเปลี่ยน จากสมัยก่อนบอกว่ากะเทยผิด ต่อมาก็จะบอกว่า ฉันไม่ผิดหรอก ฉันเป็นคนคนหนึ่ง แต่ยุคเบลล์-นันทิตา ก็ยักไหล่แล้วบอกว่า ไม่ต้องมารักฉันหรอก ฉันไม่ได้มาขอความเห็นใจจากเธอ แค่เข้าใจฉันก็พอ"

นอกจากนี้ยังมีเพลงไทยอีกมากมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับเพศที่สาม ซึ่งอาจารย์ศรุพงษ์ บอกว่า ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่ปรากฏในเพลงไทยส่วนใหญ่ถ้าไม่ตลก ขบขัน ถูกด่าทอ ก็มักจะเป็นคนที่แอบซ่อนตัวตนของความเป็นเพศที่สามเอาไว้นั่นเอง

"เพลงไทยที่พูดถึงคนที่เป็นเกย์ กะเทย จริงๆ พูดในแง่กลางถึงบวกด้วยซ้ำ ในเนื้อหาจะพูดว่าเกย์ กะเทยไม่ใช่คนผิดในสังคม หลายๆ ครั้งเขาสร้างคุณงามความดี เหมือนเพลง "กะเทยประท้วง" ของปอยฝ้าย มาลัยพร ที่เวลามีงานวัดกะเทยจะไปช่วยงาน ซึ่งคนเขียนเป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นเกย์ หรือเป็นกะเทย ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองจากผู้ชายที่มองกะเทย แต่มัน contrast ด้วยภาพ เพลงของปอยฝ้าย ภาพที่ออกมายังมองกะเทยเป็นตัวตลกอยู่ แล้วใน MV หลายๆ ตัวที่ผมศึกษาก็จะมองภาพเกย์ กะเทยเป็นตัวตลก มองเกย์ กะเทยเป็นคนบ้าผู้ชาย นี่คือภาพนะ แต่เนื้อเพลงไม่ใช่ คนละทางเลย"

สอดคล้องกับความคิดเห็นของอาจารย์ศรุพงษ์เรื่องการฉายภาพที่ขัดกับเนื้อหา นั่นคือ MVของเพลงเพื่อเพศที่สามหลายๆ เพลง มักจะใช้ "สีขาว-ดำ" เข้ามาเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง "ความคลุมเครือ" "ความลับ" หรือ "การแอบซ่อน" ไม่ว่าจะเป็นเพลง "ของตาย" ของอ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ หรือเพลง "ความลับ" ของมัม ลาโคนิค นั่นหมายความว่า สถานะของเพศที่สามในสังคมยังต้องถูกปิดบังซ่อนเร้นต่อไป

อย่างไรก็ดี เพลง "นิทานหลอกเด็ก" ของมัม ลาโคนิค ซึ่งเป็นเพลงนอกกระแสที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ ก็ดูจะมีเนื้อหาที่น่าสนใจแตกต่างออกไป โดยเนื้อเพลงเป็นการต่อรองกับสังคม พร้อมกับตั้งคำถามว่า ความผิดที่สังคมประณามพวกเขาอยู่นั้น มันเกิดจากความผิดที่พวกเขา-เพศที่สาม กระทำเอง หรือสังคมเป็นคนตีตราให้กันแน่

"มันเหมือนเป็นการ set ค่ามาตรฐานจากสังคม คือเมื่อเราเกิดมามีอวัยวะเพศแบบใด สังคมก็ให้เราเป็นแบบนั้น แต่พอเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน เขาก็เรียกว่าเราเบี่ยงเบน ปัจจุบันจะเห็นว่าพื้นที่ทางสังคมจะพูดถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน bisexual transgender คนข้ามเพศ แล้วแต่ชื่อจะเอามาใช้ มันมีการพูดถึงมากขึ้น แต่มีข้อสังเกตส่วนตัวว่า ในเมื่อมีการพูดถึงมากขึ้น มันเหมือนมีการยอมรับมากขึ้น แล้วอะไรล่ะที่ทำให้สังคมเอาคนที่มีความหลากหลายทางเพศไปอยู่ในสังคมในมาตรฐานแบบนั้นด้วย นี่คือการตั้งข้อสังเกต"

เผยตัวตนที่แท้จริง

"เจินเจิน เธอจำไว้นะ เธอไม่สามารถร้องเพลงเกี่ยวกับความรักได้ เธอไม่สามารถเป็นต้นแบบให้กับคนฟังเรื่องความรักได้ เพราะชีวิตเธอความรักถือว่าศูนย์"

เส้นทางสายบันเทิงของ เจินเจิน ดูหดหู่สิ้นหวังตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่เพราะความพยายามทำให้เธอกลายเป็นคนที่ทุกคนในสังคมยอมรับ

"ตอนนั้นเจ้าของบริษัทเลปโส้เขาพูดอย่างนี้เลย เขาบอกว่าความรักของเราเท่ากับศูนย์ เราไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตความรักได้ เพราะฉะนั้นอย่าร้องเพลงที่เกี่ยวกับความรัก มันไม่มีใครเชื่อ ต้องร้องเพลงให้กำลังใจเท่านั้น...ตอนที่เลปโส้กำลังจะปั้นเราเป็นศิลปินก็มีเจ้าของอีกบริษัทหนึ่งเข้ามาคุยด้วย แล้วบอกว่า เอาปืนจี้หัวผมผมก็ไม่ทำ เพราะเป็นกะเทย แต่เลปโส้ยืนยันจะทำ เขาก็...แน่ใจเหรอ เพราะตลาดสมัยนั้นมันยากไง สุดท้ายเลปโส้ทำ แล้วเปิดตัวด้วยเพลงฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง เจ้าของบริษัทก็ถามเราว่า กล้าเปิดตัวไหม เราก็...ทำไมล่ะ ทุกวันนี้คนก็รู้ว่าเราเป็นอะไร ไม่เคยปิดบัง ก็โอเคเปิดตัว"

การยอมรับตัวเองของศิลปินเพศที่สามอย่างเจินเจิน ส่งผลให้เธอประสบความสำเร็จ และปูทางให้ศิลปินข้ามเพศคนอื่นๆ ได้เดินบนเส้นทางสายนี้อย่างสะดวกขึ้นด้วย

"เดี๋ยวนี้มีเพลงเกี่ยวกับเพศที่สามออกมาเยอะ อาจจะเป็นเพราะว่าเขาต้องการจะเปิดเผยตัวตน เผยตัวเองให้สังคมรู้ว่า ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนกันนะ ฉันไม่ใช่กระถางต้นไม้ ไม่ใช่ก้อนหิน ฉันก็อยู่ข้างๆ เธอ ข้างๆ เพื่อนเธอ ข้างๆ ครอบครัวเธอ เขาคงอยากให้มองว่า เปิดใจรับฉันสักนิดหนึ่ง รับเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม"

แม้พัฒนาการของเพลงเพื่อเพศที่สามในสังคมไทยจะมีเนื้อหาที่ก้าวหน้าขึ้น คือเป็นการถ่ายทอดความคิดของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเพื่อพูดคุยกับสังคม เช่นเพลงนิทานหลอกเด็ก แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนนั่นคือ ภาพที่ขัดกับเนื้อหา เพศที่สามยังถูกตีตราว่า "ผิด" อยู่เสมอ แต่อาจารย์ศรุพงษ์ สุดประเสริฐ นักวิชาการด้านดนตรี ก็สรุปทิ้งท้ายถึงพัฒนาการของเพลงเพื่อเพศที่สามในอนาคตว่า

"มันเริ่มจากคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจากเพลง ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง แล้ว...ฉันก็เป็นคนเหมือนกัน ไม่ต้องมารักฉันหรอก ขอแค่เข้าใจฉันก็พอ ต่อไปคงแบบว่า ใครๆ ก็สามารถรักกับฉันได้ (หัวเราะ) อ้าว...ตอนนี้กะเทยก็แต่งงานกับทอม ต่อไปก็คงไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเพศหรอก แค่รักกันก็พอแล้ว แล้ว มันคงต้องศึกษาเพื่อที่จะทลายกำแพงบางอย่าง ทลายสิ่งที่มันติดอยู่กับหัวเราออกไป"

แน่นอนว่า สิ่งที่จะช่วยทำให้ความเสมอภาคเกิดขึ้นได้ นั่นก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติจากการมอง "ฉัน" กับ "เธอ" ในความหมายของ "ผู้ชาย" และ "ผู้หญิง" ออกไป แล้วเปลี่ยนเป็น "เรา" ที่มีสถานภาพเท่าเทียมกันในสังคมจะดีกว่า