Innovation of Thai Art นวัตกรรมงานช่างไทยสู่ศิลปะร่วมสมัย

Innovation of Thai Art นวัตกรรมงานช่างไทยสู่ศิลปะร่วมสมัย

แรงบันดาลใจจากงานช่างไทยหรือหัตถกรรมพื้นบ้านพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย

แรงบันดาลใจจากงานช่างไทยหรือหัตถกรรมพื้นบ้านพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย เพื่อให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้และตระหนักในคุณค่าของศิลปะไทยร่วมสมัยที่ได้นำเทคนิควิธีการแปลกใหม่มาใช้สร้างสรรค์จนเกิดงานนวัตกรรม นำเสนอเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ “นวัตกรรมศิลปะไทย” โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

"นวัตกรรมคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีลักษณะเป็นของตัวเอง คำว่านวัตกรรมเราจะใช้สมองเยอะ หารูปแบบหากรรมวิธีเพื่อสร้างขึ้นมาใหม่ ยิ่งพอมาเป็นเรื่องศิลปะก็จะมีเรื่องของอารมณ์เพิ่มเข้าไปอีก ศิลปินจะนึกว่าอยากจะทำอะไร แล้วก็จะเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม เข้าไปหาความรู้ การแสดงผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากนวัตกรรมในครั้งนี้จึงมีหลากหลายงานศิลปกรรมที่แสดงถึงเทคนิคที่แตกต่างกันไป" อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านงานช่างและหัตถกรรมพื้นบ้าน

ในนิทรรศการครั้งนี้ ศิลปินได้นำเอารูปแบบ เทคนิค และวัสดุ จากงานช่างไทยหรือหัตถกรรมพื้นบ้านมาประยุกต์และสร้างสรรค์ใหม่ด้วยแนวคิดทางศิลปะ เพื่อให้เกิดเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ยังคงรักษากลิ่นอายของความเป็นไทยไว้

"งานมุก" การตกแต่งลวดลายบนวัสดุด้วยเปลือกหอยมุก เช่น บานประตูหรือหน้าต่างของโบสถ์วิหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในนิทรรศการนี้ เกษมสันต์ ยอดสง่า ได้นำเสนองานศิลปะร่วมสมัยที่เชื่อมโยงงานช่างมุกแบบดั้งเดิมกับความเป็นปัจจุบัน โดยการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ใช้เทคนิคประดับมุกแบบโบราณ แต่นำวัสดุสมัยใหม่อย่าง "แผ่นซีดี" มาเป็นวัสดุทดแทน

"งานประดับกระจก" เป็นการใช้กระจกมาประดับตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับวัสดุต่างๆ ครั้งนี้ นำชัย เฟื่องอาวรณ์ ได้นำเทคนิคดังกล่าวมาสร้างงานศิลปะร่วมสมัยที่สื่อถึงแนวคิดเรื่องไตรลักษณ์ โดยการประดับกระจกลงบนขอนไม้ผุเพื่อสื่อถึงความผุพัง รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยการประดับกระจกบนวัตถุที่ชวนให้รู้สึกรังเกียจอย่างโถสุขภัณฑ์

"งานเครื่องผ้า" เป็นงานหัตถกรรมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตไทยโดยเฉพาะในชนบท ในนิทรรศการครั้งนี้ วทันยา ศิริวรรณ ศิลปินหญิงรุ่นใหม่ ที่นำงานผ้ามานำเสนอในรูปแบบใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก "ฮูปแต้ม" หรือจิตรกรรมฝาผนังที่ใช้ตกแต่ง "สิม" หรือโบสถ์ของชาวอีสาน แทนที่งานประติมากรรมและจิตรกรรมในสิมด้วยงานผ้าซึ่งเป็นเทคนิควิธีที่แสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงอย่างชัดเจน

"งานช่างปั้นปูนสด" เป็นเทคนิคในการประดับตกแต่งสถานที่ โดยเฉพาะวัดวาอารามต่างๆ พรวิภา สุริยากานต์ นำเทคนิคการปั้นปูนสดมาใช้ร่วมกับวัสดุร่วมสมัยที่ศิลปินพบเห็นในชีวิตประจำวันและมีความชื่นชอบ ผสมผสานจนเกิดเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวของวัฒนธรรมในยุคปัจจุบัน

สิทธิโชค วิเชียร นำเทคนิคของ "งานเครื่องกระดาษ" ที่ใช้ในการทำเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องประดับตกแต่งในงานพิธี และเครื่องเล่นของไทยอย่าง "ว่าว" จากแรงบันดาลใจในเรื่องราวของความสัมพันธ์ในวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ สิทธิโชคได้นำเสนอในรูปแบบผลงานศิลปะร่วมสมัยด้วยเทคนิควิธีการทำว่าวคือ การผูกเชือก ตัดไม้ ติดกระดาษ ติดผ้า และการวาดเขียน เพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

นอกจากการจัดแสดงผลงานศิลปะ ระหว่างนิทรรศการมีกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับเยาวชนอายุ 9-12 ปี ได้แก่ กิจกรรม "ทำว่าวกับศิลปะบันทึก" โดย สิทธิโชค วิเชียร ในวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน เวลา 10.00-12.00 น. และกิจกรรม "เด็กดอยดีไซน์" ตกแต่งเสื้อด้วยการปักลาย ปะเศษผ้าและร้อยลูกปัด โดยวทันยา ศิริวรรณ ในวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม เวลา 10.00-12.00 น.

ร่วมชื่นชมผลงานศิลปะร่วมสมัยบนพื้นฐานงานช่างไทยที่มีคุณค่ากว่า 30 ผลงาน จาก 10 ศิลปิน ได้ ในนิทรรศการ "นวัตกรรมศิลปะไทย" ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ วันนี้จนถึง 19 กรกฎาคม 2556 สอบถามเพิ่มเติมโทร.0 2544 3858