'พงษ์ศักดิ์'ลงพื้นที่กระบี่ ดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

'พงษ์ศักดิ์'ลงพื้นที่กระบี่ ดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

"พงษ์ศักดิ์"นำทีมลงพื้นที่กระบี่เดือนหน้า พร้อมรับฟังความเห็นประชาชน-ส.ส.ในพื้นที่ เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในเดือนมิ.ย. นี้ จะลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้ง ส.ส. ในพื้นที่ เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด จากนั้นจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรวจความคิดเห็นประชาชนอีกรอบ ก่อนนำมาพิจารณาว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ แต่จะฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก ยอมรับหากไม่สามารถก่อสร้างได้ จะมีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้

"เดือนมิ.ย. ผมจะนำคณะลงรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพบกับส.ส.ในพื้นที่ ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากทั้ง ส.ส.และประชาชนยังคงคัดค้านไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็คงต้องพิจารณาทบทวนแผนกันอีกครั้ง เพราะว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะไปรบกับประชาชนในเรื่องนี้"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ส่วนความเสียหายจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อค่ำวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้ กำลังรอผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ว่า จะมีความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาในการวางแผนป้องกันผลกระทบไม่ให้เกิดกรณีไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในภาคใต้ขึ้นอีก โดยปัญหากำลังการผลิตฟ้าในภาคใต้ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้นั้น จำเป็นต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่ม กฟผ. ก็มีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม กฟผ. ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบหรือไม่ ยืนยันการดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน จะพิจารณาทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มเติมในพื้นที่
กฟผ.ย้ำหากไม่มีโรงไฟฟ้าต้องอาศัยส่วนกลาง

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ มีการพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้เสนอให้ กฟผ. ลงไปก่อสร้าง เพราะที่ตั้งที่เหมาะสมในการป้อนไฟฟ้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ทั้ง กระบี่ พังงา และ ภูเก็ต ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ จะต้องอาศัยการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้ ซึ่งมีระยะทาง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งระบบสายส่งหากยาวเกินไปจะทำให้ไม่มีเสถียรภาพเมื่อเกิดเหตุ สายส่งจะสวิงและหลุดออกจากระบบได้ง่าย

ขณะเดียวกัน การใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด จะมีผลต่อต้นทุนค่าไฟต่ำ เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น โดยมั่นใจว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสร้างมลพิษต่ำ และไม่มีผลกระทบสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยที่ผ่านมา กฟผ. ได้ปรับแผนตามข้อเรียกร้องของประชาชน โดยเฉพาะข้อกังวลของกลุ่มประมงและการท่องเที่ยว

"โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเทคโนโลยีที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีความมั่นใจว่ามีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน สามารถสร้างการยอมรับกับประชาชนในพื้นที่ได้" นายสุทัศน์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในภาคใต้ มีกำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการใหม่ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ พีดีพี 2010 ฉบับที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 2 โรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังก่อสร้างและจะจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2557 และโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช กำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2559 ส่วนโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ถ่านหินสะอาด จะก่อสร้างแล้วเสร็จและจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2562

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาคใต้ เป็นพื้นที่ลักษณะพิเศษ ที่ไม่สามารถสร้างสายส่งจากทิศทางอื่นลงไปได้ นอกจากต้องต่อสายส่งจากภาคกลางลงไปเท่านั้น จึงเป็นความเสี่ยงต่อระบบ ในขณะที่ ภาคอีสานแม้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ แต่สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เข้ามาเสริม โดยมีสายส่งไฟฟ้ามาจากหลายพื้นที่ เช่น น่าน อุดรธานี นครพนม และ ล่าสุด กำลังก่อสร้างที่ จ.อุบลราชธานี จึงมีความเสี่ยงเรื่องไฟดับน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคใต้

จี้รัฐทำแผนพัฒนาสายส่งหวั่นซ้ำรอยไฟดับภาคใต้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจในระยะสั้น เพราะไม่มีอุตสาหกรรมหนักตั้งอยู่ในพื้นที่ ยกเว้น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีโรงงานเหล็กและต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องจักร ซึ่งประเมินความเสียหายยาก แต่เบื้องต้น คาดว่าความเสียหายโดยรวมไม่น่าจะเกิน 500 ล้านบาท เนื่องจากภาคใต้ มีขนาดเศรษฐกิจ 1 ใน 10 ของประเทศ คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อวัน

ดังนั้น กรณีที่ไฟฟ้าดับเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะโอกาสในการขายที่จะหายไปในช่วงไฟดับของบางกิจการ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไฟในการทำความเย็น และเห็นว่าการแก้ปัญหาควรใช้เวลาแก้ไขไม่เกิน 15 นาที

สิ่งที่น่าวิตกที่สุด คือ การที่กระทรวงพลังงาน ระบุว่า มีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับในลักษณะดังกล่าวในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประชาชนและนักลงทุนไม่มั่นใจต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี และจะมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรนำปัญหาด้านความมั่นคงด้านไฟฟ้าในการพัฒนาสายส่งเข้าไปบรรจุในแผนด้วย รวมทั้งการจัดหาพลังงานรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ อาทิ นิวเคลียร์ ถ่านหินสะอาด และพลังงานจากชีวมวล เสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้แก่ประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากเกือบ 70%

เอ็นจีโอใต้ค้านสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง กล่าวว่าเบื้องต้นไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งนี้จะมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่ถือเป็นกรณีที่ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ต้องรับผิดชอบ รวมทั้งไปหาสาเหตุและแก้ไขอย่าให้เกิดขึ้นอีก พร้อมทั้งไม่ควรนำมาโยงถึงการพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ ขึ้นในพื้นที่ อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากปัญหาไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้น มาจากความผิดพลาดทางเทคนิค ขณะที่ภาคใต้ยังอยู่ในสภาวะที่มีกำลังไฟฟ้าสำรองเพียงพอ และไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าสำรอง เป็นเรื่องของอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะนี้ทุกฝ่ายก็กำลังมีการหารือเพื่อจัดทำแผนรองรับกันแล้วว่า เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ควรจะผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานชนิดใดดีที่สุด เพราะเทคโนโลยียุคใหม่มีการก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ควรที่จะรีบเร่งหาคำตอบและสรุปไปอย่างทันทีทันใดในขณะนี้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซ เป็นพลังงานที่ดีที่สุด

"การพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่จังหวัดตรัง หรือจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ หน่วยงานด้านการไฟฟ้าไม่ควรนำมาพูดถึงเวลานี้ และกลุ่มคัดค้านไม่ขอรับฟัง เพราะว่ามิใช่เหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในภาคใต้ และเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง หากหลายฝ่ายออกมาบอกว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินดีจริง หรือเป็นพลังงานที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง ทำไมไม่ไปทดลองสร้างโรงไฟฟ้านำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ " นายภาคภูมิกล่าว