ประยงค์ ดอกลำใย "ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติ"

ประยงค์ ดอกลำใย
"ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติ"

การต่อสู้ยาวนาน 24 ปี 13 นายกฯ 16 รัฐบาล ขององค์กรภาคประชาชนในนามสมัชชาคนจนคือจุดเริ่มต้น

แต่หลังจากการเมืองบนท้องถนนร้อนระอุด้วยบรรยากาศของการแบ่งสีแบ่งฝ่ายตามขั้วค่ายทางเมือง เสียงของคนเล็กคนน้อยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งจากโครงการของรัฐและการบังคับใช้กฎหมายในกรณีต่างๆ ก็เริ่มแผ่วเบาลงทุกที


การปรับขบวนการต่อสู้แบบจับมือเดินไปด้วยกันเพื่อสร้างพลังในการต่อรอง เป็นก้าวแรกขององค์กรที่ใช้ชื่อว่า

"ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม" หรือ P Move ที่มี ประยงค์ ดอกลำใย นักพัฒนาเอกชนรุ่นเก๋าเป็นที่ปรึกษา หลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในสมัยของรัฐบาลที่ถูกชี้หน้าว่าเป็นอำมาตย์ หรือรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่าไพร่ พวกเขาเดินทางมาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบหลายครั้งหลายครา ทว่า บนหลักการสันติอหิงสา ผลที่ได้รับกลับเป็นเพียง "สัญญาปากเปล่า"


คราวนี้เขากลับมาอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะเข้ามาบริหารประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียม และใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารข้อเรียกร้องที่ยืนยันว่าไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง..

พีมูฟ เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่เมื่อไหร่


พีมูฟเกิดขึ้นประมาณปลายปี 50-51 ช่วงวิกฤติการเมือง องค์กรพื้นฐานที่เป็นสมาชิกของพีมูฟ ก็เป็นองค์กรประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในประเด็นปัญหาต่างๆ อยู่แล้ว เช่น กรณีของกลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มเขื่อนปากมูล หรือสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)ก็ต่อสู้เรื่องที่ดินมาตั้งแต่ปี 2543 ต่อสู้เรื่องที่ดินมาต่อเนื่องหลายรัฐบาลเหมือนกัน ในส่วนของพี่น้องสลัมสี่ภาคก็เกิดขึ้นมา 20 ปีแล้ว แต่เหตุผลที่พวกเราต้องมารวมตัวกันในนามพีมูฟ ก็ด้วย

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของขั้วเหลือง-แดง ซึ่งมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 มามันทำให้ปัญหาของพวกเราซึ่งเป็นปัญหาความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ ถูกกลบด้วยกระแสทางการเมือง พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ข่าวก็ไม่มี เพราะว่าเวลาชุมนุมเราชุมชนได้เป็นหลักพัน ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองคึกคักมาก ก็เลยคิดว่าถ้าเราไม่รวมตัวกัน การเคลื่อนไหวของเราก็จะไม่มีพลัง


นำมาสู่การสรุปบทเรียนร่วมกัน แล้วบอกว่าเราควรจะร่วมมือการก่อตั้งองค์กรของประชาชนจริงๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เอาประเด็นความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมเป็นตัวหลัก ซึ่งตอนนั้นก็มีองค์กรประมาณ 7 องค์กรที่ตกลงร่วมมือกันจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ชื่อว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งหลักคือเราไม่อยากใช้คำว่า คนจน เพราะพอพูดว่าคนจน ก็จะมีปัญหาขึ้นมาว่า แค่ไหนคือจน คนจนทำไมมีรถปิ๊กอัพ ทำไมมีตู้เย็น คนจนทำไมมีทีวี เพราะฉะนั้นมิติของคนจนในสังคมไทย มันเหมือนว่าต้องเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลยถึงจะจน เพราะฉะนั้นชนชั้นกลาง หรือเกษตรกรรายย่อย ที่พอจะมีฐานะ พอมีสตางค์เล็กน้อยก็ถือว่าไม่เป็นคนจน ก็เลยคิดว่าเราควรจะมุ่งเป้าไปที่เรื่องของความเป็นธรรม ทั้งความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากผลกระทบจากโครงการของรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ อันนี้คือหลักของการจัดตั้งขึ้นมา


อะไรคือข้อเรียกร้องของพีมูฟ


ข้อเรียกร้องในนามของของพีมูฟ กลุ่มใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องปัญหาที่ดินซึ่งเรามีข้อเรียกร้องสองเรื่อง คือให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีข้อเสนอทางนโยบายว่า ต้องมีการผลักดันให้เกิดระบบภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า พร้อมไปกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นช่องทางให้คนจนเข้าถึงที่ดิน เรื่องนี้เราไม่ได้เคลื่อนไหวเฉพาะกรณีของสมาชิกเท่านั้น แต่เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงโครงสร้างที่ทำให้คนชั้นกลางหรือคนในสังคมสามารถที่จะเข้าถึงที่ดินได้ หรือเข้าถึงความเป็นธรรมที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นที่ดินก็จะส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อย ชนชั้นกลางในเมือง และคนจนในเมืองที่อยู่ในสลัมก็จะได้รับอานิสงจากการแก้ปัญหานี้ด้วย

ชุดที่สองก็จะเป็นเรื่องของนโยบายว่าด้วยเรื่องสิทธิและสถานะของบุคคล อีกส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มปัญหาที่ว่าด้วยเรื่องผลกระทบหรือการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาของรัฐ ใหญ่ๆ ที่ต่อสู้มายาวนานก็คือเขื่อนปากมูล จริงๆ ในทางวิชาการยอมรับแล้วว่าเขื่อนปากมูลเนี่ยล้มเหลว แต่รัฐก็ยอมไม่ได้ หรือฝ่ายการไฟฟ้าเองก็ยอมไม่ได้ที่จะสรุปว่าเขื่อนปากมูลล้มเหลวจากวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อน มีนักวิชาการให้การสนับสนุนมากในกรณีนี้ แต่ในท้ายที่สุดไม่มีรัฐบาลไหนกล้าตัดสินใจ


อีกกลุ่มที่เป็นปัญหาคลาสสิคก็คือ กลุ่มเครือข่ายของพี่น้องชาวเล ซึ่งเราสู้ด้วยสิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กระทั่งรัฐบาลที่แล้วมีมติครม. วันที่ 2 มิถุนายน 2553 ระบุว่าเห็นชอบในนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล จะมีการประกาศเขตคุ้มครองพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรมขึ้นโดยมีกระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบ แต่หลังจากรัฐบาลที่แล้วยุบสภาลงไป ก็ไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เลย ซึ่งก็คล้ายๆ กับพี่น้องกะเหรี่ยงที่มีมติครม.ในปีเดียวกัน สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเครือข่ายใหม่ ก็คือ เกษตรพันธะสัญญา ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ไปทำสัญญากับบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่สัญญาไม่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรจำนวนมากล้มละลาย ขาดทุน แล้วก็ถูกยึดที่ดินยึดทรัพย์ไปหมด กลุ่มนี้ก็มีการศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเสนอให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองให้การแบกรับความเสี่ยงเป็นการร่วมกัน ถือว่าเป็นการร่วมทุน ไม่ใช่เกษตรกรเป็นแรงงาน และรับความเสี่ยงจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฝ่ายเดียว


ส่วนใหญ่ก็ปัญหารากฐานที่เรื้อรังมายาวนาน คิดว่าอะไรคืออุปสรรคที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่คืบหน้า?


ผมคิดว่าอันที่หนึ่งเป็นเรื่องของการรวมตัวกันของคนจนหรือคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังขาดความเป็นเอกภาพและขาดพลังพอสมควร ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่าขณะนี้มีคนที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยเรื่องที่ทำกิน ไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน ซึ่งก็เกือบครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศ แต่ไม่สามารถที่จะรวมตัวกันอย่างเข็มแข็งและมีพลังได้ อันนี้เป็นโจทย์ด้านหนึ่ง เพราะเมื่อคนเหล่านี้ต้องอยู่อย่างยากลำบากในความไม่เป็นธรรมนี้ ก็เลยต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ ความรู้สึกว่าเอาตัวรอดไปวันๆ มันทำให้เกิดการรวมตัวกันไม่ได้ ถ้าจะมาต่อสู้ พรุ่งนี้ไม่รู้ลูกเมียจะเอาอะไรกิน อันนี้เป็นความยากลำบากของคนจนที่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ ซึ่งรัฐบาลก็รู้ว่านี่เป็นจุดอ่อน ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่ต่อเนื่องยาวนาน

อันที่สองผมคิดว่าปัญหาความเข้าใจของสาธารณะ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการนำพาไปสู่การแก้ไขปัญหาว่าจะสำเร็จหรือไม่ คือแทนที่คนจนจะต่อกรกับรัฐบาลหรือต่อกรกับอำนาจรัฐอย่างเดียว กลับกลายเป็นว่าต้องดูว่าข้อเรียกร้องหรือรูปแบบการเคลื่อนไหวของเราจะไปกระทบหรือไปทำให้ชนชั้นกลางหรือสาธารณชนไม่พอใจมั้ย เพราะฉะนั้นสาธารณะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคในอดีตที่ผ่านมา


เช่นเราต่อสู้เพื่อให้ชาวบ้าน ชุมชนที่อยู่ในป่าได้รับสิทธิในการจัดการป่าตามพรบ.ป่าชุมชน ก็จะมีชนชั้นกลางหรือนักอนุรักษ์จำนวนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ทำให้สังคมเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังจะยกป่าให้ชาวบ้าน เดี๋ยวมันก็เอาไปทำลายกันหมด อะไรประมาณนี้ หรือการเดินทางไปพบรัฐบาล การเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล อาจทำให้รถติด คนก็ด่า โดยที่ไม่ได้สนใจว่าคนพวกนี้มาเรียกร้องอะไรกัน ทั้งๆ คนเหล่านี้บางทีเรียกร้องให้คนจนซึ่งอยู่ในรถเมล์ คนจนซึ่งอยู่ในรถแท๊กซี่ คนชั้นกลางที่อยู่ในรถ สามารถเข้าถึงทรัพยากรและการบริการของสังคมอย่างเป็นธรรมได้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนจนต้องทำความเข้าใจกับสาธารณะด้วย ทำความเข้าใจกับชนชั้นกลางด้วย ไม่สามารถที่จะทำงานกับคนจนด้วยกันเองอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งถ้าสังคมเข้าใจคนจนให้มากกว่านี้ก็จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้


ปัญหาที่สามก็เป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งก็เป็นตัวแปรสำคัญเหมือนกัน ที่ผ่านมาถ้าเป็นกรณีปัญหาเล็กๆ ในพื้นที่ถ้าชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องก็จะกลายเป็นคนส่วนน้อย ไปเรียกร้องสส.ในพื้นที่ สส.ก็ไม่สนใจบอกว่าคะแนนน้อย ต้องทำให้มันเป็นเรื่องที่เป็นผลกระทบต่อฐานเสียงทางการเมือง เพราะฉะนั้นเรื่องเล็กๆ ที่ผ่านมาจะถูกละเลยจากการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ เมื่อฝ่ายการเมืองไม่ใส่ใจ ฝ่ายราชการก็ไม่ขยับ หรือไม่ก็หาเหตุจากกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าหลัง อย่าง พรบ.ป่าไม้ 2484 พรบ.สัญชาติ ที่ออกมาใช้ 100 ปีแล้ว ก็จะเห็นว่าไอ้กฎหมายกฎระเบียบที่มันโบราณไม่สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมในปัจจุบัน ก็ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที เป็นสิ่งที่วนเวียนซ้ำซากอยู่แบบนี้


ในเมื่อคนจนเป็นฐานเสียงของรัฐบาลนี้ ข้อเรียกร้องก็น่าจะได้รับการตอบสนอง?


ในเชิงความชอบธรรมซึ่งรัฐบาลพยายามอ้างว่าเขามาจากคนรากหญ้า เป็นรัฐบาลของไพร่ แล้วก็ต้องการที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคม อันนี้สำคัญ เมื่อเขาประกาศว่าถ้าไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีสันติ ถือเป็นหลักการเดียวกัน และอาจเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวของเราบ้าง แต่ผมว่าไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะว่าหลายเรื่องมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ซ้อนทับทางการเมือง เช่น ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ถ้าจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง คนที่ได้รับผลกระทบมีแค่ 6 ล้านคนเอง แต่คน 6 ล้านคน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ มีบทบาทสำคัญต่อการที่จะทำให้กฎหมายนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะเป็นทั้งนักการเมืองที่อยู่ในสภานิติบัญญัติ เป็นทั้งนักการเมืองที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และยังไปกระทบคนจำนวนน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวแปรอันหนึ่งที่จะพิสูจน์รัฐบาลชุดนี้เหมือนกันว่ารัฐบาลจะทำเรื่องพวกนี้ไหม เพราะมันจะนำไปสู่ความเป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดิน นำไปสู่การอยู่ดีกินดีและคุณภาพชีวิตของคนจน ซึ่งมีอย่างน้อย 15 ล้านคน และสมาชิกพีมูฟก็เป็นหนึ่งใน 15 ล้านคน ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลมา


แต่มาวันนี้ ประเมินท่าทีของรัฐบาลแล้ว ก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมาสักเท่าไหร่ พี่น้องมานอนรออยู่จะสองอาทิตย์แล้ว ไม่มีความแตกต่างกันเลยการตอบรับปัญหา ชาวบ้านก็เริ่มมีคำถามว่ารัฐบาลเขาเข้ามาแก้ปัญหาให้กับคนจนหรือเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมืองกันแน่ ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้นะว่า กลไกทางการเมือง กับปัญหาชาวบ้านมันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า ขณะที่ในช่วงการหาเสียง ช่วงการรณรงค์ก็บอกว่าจะเข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ ไม่ถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป อันนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์บทแรกสำหรับรัฐบาลชุดนี้กับพีมูฟ
-มาคราวนี้ได้มีการเจรจากับรัฐบาลไปบ้างแล้ว พอจะมีความหวังบ้างไหม


ในรัฐบาลชุดนี้เรามีการเคลื่อนไหวมาก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโยบาย 1 ครั้ง หลังแถลงนโยบายแล้วอีก 7 ครั้ง ครั้งนี้ครั้งที่ 8 สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นหลักประกันสำหรับชาวบ้าน ประเด็นหนึ่งก็คือตัวนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยเฉพาะข้อ 5 เรื่องของที่ดินและทรัพยากร อันที่สองก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของพีมูฟ เราได้มีการตกลงกับพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งแล้ว พรรคเพื่อไทยบอกว่าถ้าตัวเองได้เข้ามาบริหารจะแถลงเป็นนโยบายเลย ก็คือเรื่องขอการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินโดยใช้มาตรการทางภาษี และจัดตั้งธนาคารที่ดินให้กับคนจน เร่งรัดการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ 4 ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ความหมายก็คือให้คนอยู่กับป่าได้ อีกอันหนึ่งก็คือแก้ปัญหาคดีโลกร้อนซึ่งไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับคนจนที่อยู่ในป่า แล้วก็จะสนับสนุนให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลแถลงกับรัฐสภา ก่อนบริหารประเทศเมื่อปี 2554 เป็นสัญญาประชาคมที่รัฐบาลถ้าจะอยู่ครบต้องทำ แต่เมื่อเราไปติดตามเขาบอกว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ต้องอยู่ครบ 4 ปีถึงจะทำ เราก็บอกว่าไม่ได้ ตอนนี้คุณก็อยู่มาเกือบจะครึ่งทางแล้ว อันนี้คือพื้นฐานว่ารัฐบาลต้องทำตามสิ่งที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา แต่ไม่เห็นอะไรเลย


อีกประการหนึ่ง หลายเรื่องมันมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมพอสมควรแล้ว เช่น ธนาคารที่ดิน ในรัฐบาลที่แล้วตั้งเป็นสถาบันบริหารจัดการที่ดิน มีการอนุมัติงบประมาณ 670 ล้านบาทสำหรับสถาบันนี้ และมีมติครม.ว่าเมื่อสถาบันนี้ตั้งเสร็จให้มีโครงการนำร่องในพื้นที่ของพีมูฟ 5 พื้นที่ แต่ว่าก็มีการยุบสภาไปก่อน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รัฐบาลนี้กลับไม่ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน แค่นั้นเอง ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาบอกว่า ให้รัฐบาลดำเนินการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่นี่ผ่านมาจะ 2 ปีแล้วก็ไม่มีการตั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีการตั้ง งบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับสถาบันก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งได้มีการเจรจากับเจ้าของที่ดินแล้ว พอเดินหน้าต่อไม่ได้ เจ้าของที่ดินก็เริ่มไม่มั่นใจ จากที่เคยมีการเจรจาว่าจะยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน เพื่อรอการจัดซื้อของธนาคารที่ดิน ปรากฎว่าตอนนี้คดีผุดขึ้นเต็มเลย พี่น้องก็รอไม่ได้ อันนี้คือปัญหาว่ามันมีแนวทางมาแล้ว แต่รัฐบาลนี้มองว่ามันเป็นมรดกทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รัฐบาลที่แล้ว ก็เลยมองเป็นเรื่องทางการเมือง


อย่างเรื่องโฉนดชุมชน ก็มีการเจรจากันมาก่อนหน้าที่จะมาเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็ส่งรองหัวหน้าพรรคไปเจรจาชัดเจนว่าเรื่องนี้เห็นด้วย แต่ขอไม่ใช่ชื่อโฉนดชุมชนถ้าเป็นรัฐบาล เราก็บอกไม่มีปัญหาขอให้หลักการเหมือนเดิม ตอนนี้รัฐบาลก็ยังยอมรับแนวทางนี้อยู่ โดยมีการแก้ไขเรื่องของประธาน จากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกเป็นรองนายกฯ ซึ่งปัจจุบันคือคุณเฉลิม และขอแก้ชื่อจากโฉนดชุมชนเป็นสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินอะไรก็แล้วแต่ เราก็ไม่ติด ตอนนี้มีมติแก้ไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่คืบหน้า


ถ้าผลของการเจรจาครั้งนี้เหมือนกลับไปนับหนึ่งใหม่จะทำอย่างไร


เรากำหนดสโลแกนหรือหลักการของการเคลื่อนไหวครั้งนี้กับพี่น้องว่า มีเหตุผล ได้ประโยชน์พอประมาณ ซึ่งก็หมายความว่าทุกเรื่องเราต้องสู้ด้วยเหตุและผล ซึ่งก็ต้องใช้เวทีในการอธิบายในการรณงค์มหาศาลว่าทำไมเราถึงต้องมีการเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิชุมชน ทำไมเราต้องการให้งดเว้นการใช้กฎหมายบางฉบับต่อการแก้ไขปัญหาของคนจน เพราะกฎหมายมันล้าหลัง มันไปไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าทุกเรื่องมันต้องอธิบายเหตุและผล เอาแค่ความเดือดร้อนเป็นตัวตั้ง อันที่สองก็คือได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่พี่น้องได้ประโยชน์โดยตรง ในบางกรณีถึงเราไม่ได้ประโยชน์เลย แต่ถ้าสังคมได้ประโยชน์ก็ยินดี หรืออย่างน้อยการเคลื่อนไหวของเราทำให้สังคมได้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ได้เห็นความไม่เป็นธรรมมากขึ้นก็พอ


เราไม่ใช่องค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแต่เราเป็นองค์กรของคนทุกข์คนยากที่รวมตัวกัน มวลชนของเรามีอยู่เต็มที่ 2,000 คน ในขณะที่รัฐบาลมีมวลชนเป็นแสนเป็นล้าน แต่เราคิดว่าคนจนแค่คนเดียวมาเนี่ยรัฐบาลก็ต้องดูแล คนจนแม้จะเคยอยู่สีไหนก็ตาม เมื่อคุณมาเป็นรัฐบาลแล้ว คุณไม่มีสิทธิปฏิเสธที่จะช่วยแก้ปัญหา เราอยากให้รัฐบาลได้ให้ความเข้าใจ รวมทั้งสาธารณะต้องยึดมั่นหลักการตรงนี้ว่าหน้าที่ของรัฐบาลคือการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ต้องดูว่าปัญหาของประชาชนมันเป็นปัญหาจริงมั้ย มันไม่ใช่เรื่องของทางการเมือง สำหรับพีมูฟเป็นความยากลำบากอันหนึ่งเหมือนกันที่จะเดินไปข้างหน้าโดยหาความเป็นกลางทางการเมืองให้ได้


พูดถึงความเป็นกลางทางการเมือง บางคนบางกลุ่มอาจไม่ยอมรับในจุดนี้?


มันเถียงกันไม่ตรงไงครับ ประเด็นมีอยู่ว่าเราควรจะสนับสนุนประชาธิปไตย แล้วเราควรยืนเคียงข้างประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีจุดยืนในการปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตย ในอดีตที่ผ่านมาเราพบว่าไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากเผด็จการหรือไม่เผด็จการหรือมาจากอำมาตย์หรือไม่ก็ตาม เราไม่มีสิทธิที่จะเลือกได้ว่า เฮ้ย รัฐบาลชุดนี้มันมาจากเผด็จการ เราไม่เรียกร้องกับมัน เพราะว่าปัญหาคนจนไม่ได้หยุดลง เผด็จการมา ชาวบ้านแย่กว่าเก่าอีกด้วยซ้ำเพราะว่าไม่มีสิทธิที่จะเคลื่อนไหวเลย ในขณะที่รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ประชาชนเลือกมาแบบถล่มทลายเนี่ย รัฐบาลประเภทนี้ก็จะเป็นรัฐบาลที่หยิ่งผยองอีกเหมือนกัน เพราะว่ามีมวลชนฐานเสียงเยอะ รัฐบาลแบบประชาธิปไตยที่มาจากเสียงข้างมากก็จะมองไม่เห็นหัวของคนจน มองไม่เห็นหัวของคนเล็กคนน้อยที่อยู่ในสังคม ที่ได้รับความเดือดร้อน อันนี้มันก็เหมือนกัน


คือมันมีปัญหาทั้งรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยแล้วก็ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย หลักสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากอันไหน มันต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้ ก็ดูที่การกระจายรายได้ การกระจายทรัพยาการ เป็นธรรมมั้ย ถ้ามันเป็นธรรมมมันมาจากระบอบไหนก็ได้ ประเทศจีนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์แต่มันถ่วงดุลทุนนิยมได้ เพราะฉะนั้นปัจจัยเรื่องนี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญ เพราฉะนั้นองค์กรประชาธิปไตย องค์กรแนวร่วมที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องประชาธิปไตยแบบนั้นก็อาจจะไม่ค่อยแฮปปี้กับการเคลื่อนไหวของพีมูฟที่เหมือนกับว่าไม่ดูตาม้าตาเรือ แต่เราไม่ได้คิดอย่างนั้นเราคิดว่าปัญหาของชาวบ้าน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องแก้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณอภิสิทธิ์หรือคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องแก้ ไม่ว่าประเด็นของเราจะถูกหยิบฉวยเอาไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ อันนี้ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า


ท่ามกลางปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่ในหลายมิติ ชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมรู้สึกท้อถอยบ้างไหมคะ


อย่างเมื่อวันอังคารที่ 14 พ.ค.ที่ท่านเฉลิม อยู่บำรุง รับปากว่าจะเข้า ครม. แล้วไม่มีเรื่องเข้าก็ต้องยอมรับว่าพี่น้องเสียใจ พี่น้องรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น ก็มีคำถามแล้วก็เสียใจ แต่มองอีกด้านคือการที่รัฐบาลรับปากแล้วแล้วไม่ดำเนินการตาม แล้วไม่มีคำอธิบายมันเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐบาลเสื่อมลง โดยความหมายมันมีทั้งบวกและลบ เพราะบางอันต่อสู้มายาวนาน มีประสบการณ์ มีแพ้ มีชนะ ในหลายรัฐบาลมา ก็มีบทเรียน มีประสบการณ์ ก็จะกลั่นกรองมา แต่พี่น้องที่เป็นกลุ่มใหม่ๆ ก็อาจจะคิดว่า จริงๆ ชุมชนสามวันก็น่าจะจบแล้ว ซึ่งอันนี้ผมคิดว่า ก็มีทั้งท้อ มีทั้งสิ้นหวัง มีทั้งเปลี่ยนความคับแค้นให้เป็นพลังได้ แต่ว่าข้อดีของมันคือ ความหลากหลายทางประสบการณ์ทำให้ขบวนการประชาชนที่อยู่ในพีมูฟได้เรียนรู้ แล้วพวกที่เป็นซีเนียร์ที่อายุการต่อสู้สิบกว่าปีขึ้นไปก็ต้องมาเป็นพี่เลี้ยง แล้วก็ช่วยดูแลองค์กรน้องๆ ที่เพิ่งเกิดใหม่ให้เข้าใจว่าการต่อสู้ในเส้นทางการเมืองมันไม่ง่ายอย่างที่คิด


เราต้องอดทนและให้โอกาสรัฐบาลต่อไปตราบเท่าที่รัฐบาลขอมา เหมือนรัฐบาลขอมาว่าให้ท่านเฉลิมมาทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา แม้ว่ายกแรกท่านเฉลิมจะล้มเหลว ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าวันที่ 20 ซึ่งเป็นยกสองที่ท่านเฉลิมจะพิสูจน์น้ำยาตัวเองได้หรือไม่ ส่วนยกสามก็คือที่รัฐบาลบอกว่าจะเคาะเรื่องทั้งหมดให้เสร็จ 28 พ.ค. จะเป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่เป็นจริงพี่น้องก็ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ ซึ่งดูแล้วว่าคนที่จะต้องลงมาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนคงต้องเป็นนายกรัฐมนตรี ทำอย่างไรให้นายกรัฐมนตรีมากำกับดูแลด้วยตนเองในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดในฝ่ายบริหาร


ในการชุมนุมครั้งนี้จุดไหนถึงจะเรียกว่าเป็นชัยชนะของพีมูฟ


ในการชุมนุมยกนี้ 4 เรื่องเป็นเรื่องที่ได้ข้อยุติร่วมกันกับรัฐบาลมานานแล้วก็น่าที่จะถูกนำเสนอเข้าสู่ครม.ซึ่งอันนี้เราคิดว่าน่าจะบรรลุเป้าได้ แล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากเลย อันที่สองก็คือ เราไม่ได้ต้องการว่าการชุมนุมครั้งนี้ ปัญหาจะถูกแก้เบ็ดเสร็จ แต่ที่ผ่านมากลไกที่รัฐบาลตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการต่างๆ 10 ชุด 10 ปัญหา มันมีความล่าช้า หรือไม่มีการดำเนินการเลย เราจึงมีความจำเป็นต้องเคลื่อนไหวเพื่อติดตามผลักดัน และทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องระยะเวลาในการแก้ปัญหา อีกอันหนึ่งคือสาธารณชนเข้าใจปัญหาของเราแค่ไหน ซึ่งเราอาจจะวัดไม่ได้ว่าเข้าใจแค่ไหน แต่วัดได้ว่ามีเสียงต่อต้านจากสังคม ผู้คนที่ไม่เข้าใจเรามากน้อยขนาดไหน


ผมคิดว่าครั้งนี้มีเสียงบ่นด่าค่อนข้างจะน้อย น่าจะมาจากการที่เราไม่ใช้มาตรการที่มันรุนแรงหรือทำอะไรผิดกฎหมาย ใช้หลักการในการต่อสู้แบบสันติอหิงสา และประชาชนส่วนหนึ่งก็อาจจะเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้แก้ไขปัญหาล่าช้า หรือไม่ทำอะไรเลย นอกเหนือจากการกู้เงินหรือแก้ไขปัญหาทางการเมือง ซึ่งอันนี้ก็ทำให้คนเหล่านี้เห็นด้วยกับการที่เรามาร้องเรียนว่าแก้ไขปัญหาช้าเหลือเกิน