“Born to Die" แง่ที่งดงามของ "ความตาย"

“Born to Die" แง่ที่งดงามของ "ความตาย"

“Born to Die" นิทรรศการศิลปะโดย เมลานี ไกร์ส (Melanie Greis) ศิลปินสาวรุ่นใหม่ กับผลงานศิลปะที่ชวนให้คิดว่าความเจ็บปวดและความตายอาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราเคยนึก

ในยุคนี้สมัยนี้ หลากหลายเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเท่าที่เงินซื้อได้ถูกนำมาใช้เพื่อเอาชนะความเสื่อมโทรมของ "สังขาร" หรือแม้กระทั่ง "ความตาย" หลายผู้คนยินดีในการมีชีวิตและใช้ชีวิตระเริงสุขสุดแรงเหวี่ยง ราวกับวาระสุดท้ายจะไม่มีวันเดินทางมาถึง

“Born to Die" นิทรรศการศิลปะโดย เมลานี ไกร์ส (Melanie Greis) ศิลปินสาวรุ่นใหม่ กลับนำเสนอเรื่องราวในแง่มุมตรงข้าม กับผลงานศิลปะที่ชวนให้คิดว่าความเจ็บปวดและความตายอาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราเคยนึก เป็นสิ่งธรรมดาที่ทุกคนต้องประสบ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง หาใช่สิ่งน่ากลัวที่ต้องคอยวิ่งหนีเสมอไป

เรื่องราวชีวิตของเมลานี้ เริ่มจากคุณแม่ที่เป็นคนชาวเขาเผ่าลีซอ อยู่บนดอยที่ห่างไกลความเจริญ ปลูกผักตามวิถีชีวิตคนบนดอยที่จังหวัดเชียงใหม่ และคุณพ่อที่เป็นวิศวกรชาวเยอรมัน นั่นน่าจะเป็นชีวิตที่สงบและเรียบง่าย ถ้าไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนที่เรียกว่า “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” สอดแทรกเข้ามาขณะที่เธออายุ 19 ปี ทำให้เมลานี้ต้องเข้ารับผ่าตัดใหญ่และลาพักการเรียนไปช่วงหนึ่ง ผลพวงจากการรักษาโรคหมอนรองกระดูกนำพาโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ ตามมาราวขบวนพาเหรดแห่งความทุกข์ระทม

"ที่ผ่านมาก็ต้องกินยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ และต้องกินยานอนหลับทุกวันเพื่อให้พักผ่อนได้ ผลกระทบจากการกินยานอนหลับทุกวัน 3 ปีทำให้เป็นโรคซึมเศร้า ทำให้รู้สึกว่าอยากหนีปัญหา ทุกครั้งที่อยู่คนเดียวมักจะนึกถึงเรื่องความตาย คิดว่าถ้าเราตายไปความทุกข์ที่มีอยู่อาจหายไปก็ได้ สุดท้ายแล้วการนึกถึงความตายกลายเป็นวิธีการระบายความทุกข์ ความรู้สึกที่อัดอั้นใจ แล้วจากนั้นก็จะรู้สึกดีขึ้น เป็นสิ่งที่ทำให้ผ่านพ้นความทุกข์ได้"

"...การทำงานศิลปะเรื่องความตายจึงเป็นความสุขอย่างมาก ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันและคิดได้ว่าความตายไม่ใช่สิ่งสุดท้าย แต่เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทุกครั้งที่เศร้าหรือทุกข์ คิดถึงเรื่องความตาย ร้องไห้ ก็เหมือนการระบายอารมณ์ ปล่อยวางทุกอย่าง เหมือนเกิดใหม่ทุกวัน ก็เลยอยากทำงานศิลปะที่ว่าด้วยเรื่องของความตาย" ศิลปินสาววัย 22 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกเล่า

นั่นคือที่มาของผลงานศิลปะในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเมลานี ที่สื่อสารเรื่องราวของความเจ็บป่วย ความเจ็บปวด และความตาย ผ่านผลงานศิลปะในแนวทางที่ถนัดและชื่นชอบมาตั้งแต่เด็กๆ นั่นคือการวาดเส้นด้วยปากกาหมึกดำและดินสอสีบนกระดาษ ร่วมด้วยชุดผลงานภาพพิมพ์เทคนิคโมโนพริ๊นท์ (Monoprint) อีกบางส่วน

"สัญลักษณ์" ต่างๆ มากมายหลายรูปแบบ ถูกสอดแทรกไว้ในผลงานศิลปะของเมลานี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพร่างกายเปลือยเปล่าของมนุษย์ทั้งหญิงและชาย สัญลักษณ์ต่างๆ ตามความเชื่อของไทยและจีน เช่น ตัวเลขมงคล ผลไม้อย่างทับทิมและแอปเปิ้ล สัตว์ เช่น นก ผีเสื้อ งู และดอกไม้ต่างๆ หรือแม้แต่เพชรพลอย เครื่องประดับ สื่อความหมายถึงความคิดต่างๆ ของศิลปินที่ซ่อนไว้ในชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิริมงคล ความอุดมสมบูรณ์ หรือแม้แต่กิเลสต่างๆ ที่ครอบงำมนุษย์ ทั้งหมดก็เพื่อนำเสนอเรื่องราวของความตายในแง่มุมต่างๆ และที่สำคัญแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราทุกคนที่ได้เกิดมาย่อมมีความตายเป็นจุดหมายปลายทางเหมือนกันทั้งสิ้น ดังความหมายของชื่อนิทรรศการ "Born To Die" นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ศิลปินไม่ต้องการแสดงถึงด้านมืดมน น่ากลัว หรือความรู้สึกเชิงลบ แต่ถ่ายทอดเรื่องราวของความตายในฐานะสิ่งธรรมดาที่ทุกคนต้องประสบพบเจอ และสุดท้ายแล้วแม้แต่ "ความตาย" เองก็เป็นสิ่งที่ต้องผ่านเข้ามาและผ่านไปเช่นกัน

"รูปสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เอามาใช้ในงานแต่ละรูปจะมีเรื่องราวแตกต่างกันไป การสื่อถึงความตายไม่อยากจะวาดภาพร่างกายที่เน่าเฟะเพราะมันดูตรงตัวเกินไป หลักๆ จะใช้ภาพของร่างกายคน มือ เท้า หน้า และมีสัญลักษณ์ต่างๆ แทรกเข้ามา เช่น ภาพงูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกิเลส ตัณหา ภาพของดอกป๊อปปีซึ่งเป็นดอกไม้ที่หนึ่งต้นสามารถออกดอกได้พร้อมๆ กันหลายร้อยดอก แต่แค่วันเดียวก็จะร่วงโรยไป หรือเครื่องประดับต่างๆ ที่แสดงถึงเรื่องของกิเลส ภาพของแมลง หรือรากไม้ที่ออกจากร่างกายของเรา แสดงถึงช่วงเวลาที่ความตายมาถึงร่างกายของเราก็จะต้องย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้ดิน เป็นชีวิตใหม่ให้สัตว์อื่นๆ งานทุกชิ้นครอบคลุมเรื่องเดียวกันคือเกิดมาแล้วก็ต้องพบกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่ไม่อยากนำเสนอให้ความตายเป็นเรื่องที่น่ากลัว อยากให้มีแง่ของความงามอยู่"

"ที่ผ่านมาเคยคิดว่าการตายน่าจะเป็นทางออกสุดท้ายที่จะหนีจากความเจ็บป่วย แต่ทุกครั้งก็ไม่ได้ทำเพราะกำลังใจจากคุณแม่ คุณแม่บอกว่าดีแล้วละที่คิดเรื่องพวกนี้ เพราะการคิดเรื่องความตายเป็นอุบายของความไม่ประมาท คนที่มีความสุขดีก็ควรจะนึกถึงความตายบ้าง และการทำงานศิลปะ การวาดรูปก็เหมือนกับเป็นการบำบัดเราไปด้วย" เมลานี สรุป

ความเจ็บปวด ความงาม และคุณค่าของชีวิตเมื่อมองผ่านความตาย ถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะในนิทรรศการ “Born To Die” โดย เมลานี ไกร์ส จัดแสดงถึง 20 มิถุนายน 2556 ณ มายาซีเครต แกลเลอรี บ้านสีลม (สีลม 19) ดูเพิ่มเติมที่ www.mayasecretgallery.com สอบถามโทร.0 2635 2288