ของเล่นรักษ์โลก

ของเล่นรักษ์โลก

ขึ้นชื่อว่าไม้ ยังไงก็ต้องเจอปัญหามอดรบกวน ของเล่นแปลนทอยส์เองก็เช่นกัน "ตู้อบคลื่นไมโครเวฟปราบมอดจึงเกิดขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ

เรื่อง กานต์ดา บุญเถื่อน

ขึ้นชื่อว่าไม้ ไม่ว่าจะถูกแปรรูปให้เป็นตู้ เตียง โต๊ะ หรือว่าเก้าอี้ ยังไงมอดก็หาเจอ เช่นเดียวกับของเล่นไม้ยางพาราแบรนด์แปลนทอยส์ ที่ต้องหาวิธีเอาชนะมอดเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจไม่ต่างกัน

เพิ่มค่าไม้ยาง

วิมล วิระพรสวรรค์ ผู้อำนวยการพัฒนาและสนับสนุนองค์กร บริษัท แปลน ครีเอชั่น จำกัด กล่าวว่า แปลนทอยส์เป็นธุรกิจผลิตของเล่นจากไม้ยางพาราที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2524 นับเป็นเจ้าแรกๆที่นำไม้ยางพารามาแปรรูปจนเกิดมูลค่าให้เกษตรกรสวนยาง

ก่อนหน้าที่แปลนทอยส์จะเริ่มทำธุรกิจของเล่น เกษตรกรสวนยางจะกรีดเอาเฉพาะน้ำยางพารามาขาย เมื่อต้นยางหมดอายุการให้น้ำยาง ลำต้นและรากของต้นยางก็จะถูกโค่นและเผาทิ้งในแปลงปลูกโดยไม่เกิดประโยชน์ ทำให้แปลนทอยเห็นโอกาสธุรกิจจากไม้ยางพาราที่เป็นวัสดุเหลือใช้ของเกษตรกรอีกมุมหนึ่งซึ่งลดปัญหามลภาวะจากการเผาไม้ยางได้ด้วย

ของเล่นไม้ยางพาราต้นแบบถูกดีไซน์ขึ้น พร้อมกับนำไปเสนอกลุ่มเป้าหมายในตลาดต่างประเทศหลายเวทีก่อนที่จะลงมือผลิตจริงเพื่อให้แน่ใจว่าถ้าผลิตออกมาจะขายได้ ซึ่งถึงวันนี้ผ่านไป 32 ปีแล้ว ยอดส่งออกของบริษัทมีการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆจนปัจจุบันอยู่ที่กว่า 3 ล้านชุดต่อปีใน 67 กว่าประเทศทั่วโลก

เขากล่าวอีกว่า ความนิยมเครื่องใช้ที่ทำมาจากธรรมชาติของชาวต่างชาติเป็นทุนเดิมบวกกับทิศทางธุรกิจที่ชัดเจน ในด้านการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ปลอดภัยกับผู้ใช้ สีน้ำที่ใช้ก็ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี เมื่อใช้แล้วสามารถกำจัดทิ้งได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการผลิตและขนส่งทั้งหมดรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในแปลนทอยส์

:อุปสรรคเสริมแกร่งธุรกิจ

ผู้อำนวยการพัฒนาและสนับสนุนองค์กร บริษัท แปลน ครีเอชั่น จำกัด กล่าวอีกว่า ธุรกิจของเล่นจากไม้ยางพาราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนอย่างที่คิด เพราะขึ้นชื่อว่าไม้แล้วโดยเฉพาะไม้ยางพาราซึ่งมีแป้งและน้ำตาลในเนื้อไม้อยู่สูง ทำให้เป็นที่รักใคร่ในกลุ่มมอดและเชื้อรา จนเป็นอุปสรรคในการส่งออกและถูกตีกลับยกล็อตหากล็อตไหนเจอมอดหรือไข่มอดปนอยู่ในสินค้า

ที่ผ่านมาบริษัทแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้สารเมทิลโบรไมด์เคลือบ เพื่อกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของมอด แต่ก็ติดเรื่องความเป็นพิษต่อผู้สัมผัส และส่งผลต่อโอโซนในชั้นบรรยากาศจนหลายประเทศมีมาตรการห้ามนำเข้า ทำให้ต้องคิดหาวิธีใหม่เพื่อปราบมอดและเชื้อราอยู่หมัดและยังขายได้

เขากล่าวอีกว่า โจทย์เรื่องมอดถูกส่งต่อไปยังนักวิจัยเพื่อช่วยหาทางออกในปี 2554 โดย ผศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลาสมาเพื่อการประยุกต์ทางกสิกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จนเกิดความร่วมมือในการพัฒนาและออกแบบระบบกำจัดมอดในของเล่นไม้ยางพาราระหว่างองค์กรขึ้นมา

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทดลองใช้คลื่นไมโครเวฟในการอบเนื้อไม้ของเล่นที่มีมอดและไข่มอดอาศัยอยู่ จนเกิดความร้อนสลายตัวมอดและไข่มอดได้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้มีการขยายขนาดของเครื่องอบเป็นระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้อบของเล่นได้ 500-1,000 กิโลกรัมต่อครั้ง หรือ 24 รอบต่อ 8 ชั่วโมง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการ แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน

“คู่แข่งที่ผลิตของเล่นปลอดสารพิษในตอนนี้มีอยู่น้อย ทำให้แปลนทอยส์มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มทันทีหลังแก้ไขปัญหาเรื่องแมลงได้สำเร็จ”ผู้อำนวยการพัฒนาและสนับสนุนองค์กร บ.แปลน ครีเอชั่น กล่าวและว่า แปลนทอยส์ ไม่เพียงได้รับการยอมรับด้านการผลิตสินค้ารักษ์โลก แต่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนด้านการสร้างงานและรายได้ให้คนในท้องถิ่น รวมถึงสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 280 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย

:ตอบกระแสรักษ์โลกเต็มขั้น

2 ปีที่แล้วแปลนทอยส์ควักกระเป๋าลงทุนไป 50 กว่าล้านบาท ในการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ที่ชื่อว่า แปลนวูดส์ หรือของเล่นจากเศษขี้เลื่อยที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตของเล่นปกติ ซึ่งมีปริมาณมากถึง 1 ตันต่อวัน

“กระแสรักษ์โลกทำให้แปลน ครีเอชั่น ต้องหันมาใส่ใจเรื่องการใช้วัสดุที่มีอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งข้อดีของแปลนวูดส์ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังลดขั้นตอนการอบ เนื่องจากการอัดไม้เป็นของเล่นอีโคไม่เหมาะกับการวางไข่หรือการอยู่อาศัยของแมลงทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพพร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง”ผู้อำนวยการพัฒนาและสนับสนุนองค์กร บริษัท แปลน ครีเอชั่น กล่าวและว่า หลังนำสินค้าไปเปิดตัวในงานของเล่นที่ฮ่องกง เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปีที่ผ่านมามียอดสั่งซื้อถึง 6 หมื่นกว่าชุด

นอกจากนี้บริษัทยังนำเศษวัสดุเหลือใช้ในการผลิต เช่น เศษไม้ เศษขี้เลื่อย ที่นำไปใช้งานไม่ได้แล้วจริงๆ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตไฟฟ้าของโรงงานจนสามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าจาก 1.2 ล้านบาทต่อเดือนเหลือ 8 แสนบาท เรียกได้ว่าโรงงานผลิตของเล่นรักษ์โลกอย่างเต็มปาก