ติดอาวุธผู้นำรับเออีซี วิถี มาแชล โกลด์สมิท

ติดอาวุธผู้นำรับเออีซี
วิถี มาแชล โกลด์สมิท

ผู้นำที่เก่งในวันนี้อาจไม่เก่งในวันข้างหน้า จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ Global Leadership Competency

เมื่อโลกแคบลง ฝนที่ตกทางโน้น เลยหนาวถึงคนทางนี้ ซึ่งหมายถึงอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกย่อมกระเทือนถึงอีกซีกโลก และอะไรๆ ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงบริบทความเป็น "ผู้นำ"


ซึ่งเรื่องนี้ ดร.มาแชล โกลด์สมิท ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและโค้ชผู้มีผลงานด้านการพัฒนาผู้นำที่ได้รับการยกย่องจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลก ได้ส่งสัญญานเตือนมานานแล้ว


แน่นอน ประชาคมอาเซียน ที่กำลังเคลื่อนตัวใกล้ตัวเข้ามาทุกที ก็เป็นอีกตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้ "ผู้นำ" จำต้องปรับตัว และมีข่าวดีที่ว่าในเวลานี้องค์กรไทยตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมผู้นำของตัวเองให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนานับประการที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น


กลายเป็นที่มาของคำว่า Local Leadership Competency และ Global Leadership Competency


"ประเด็นของคนไทยก็คือ มักมองว่าผู้นำคนนี้เก่ง แต่ไม่ได้มองไปข้างหน้าว่า เก่งวันนี้อาจไม่ได้เก่งในวันข้างหน้า เพราะบริบทในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ลูกน้องหรือตลาด คนรอบๆ ตัว จะเปลี่ยนแปลงไปในวันข้างหน้าอยู่เสมอ"


ดังนั้นหากต้องการรับมือให้ทัน ผู้นำต้องพัฒนาความสามารถของตัวเองให้ก้าวข้ามจาก Localไปสู่ความเป็น Global ให้ได้


ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนและที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการในเรื่องของการพัฒนาภาวะผู้นำ แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยจาก ดร. มาแชล โกลด์สมิท กล่าว


อะไรที่ส่งผลต่อความเก่งหรือความสามารถของคน ทำไมคนที่เก่งในวันนี้อาจไม่ใช่คนเก่งในวันข้างหน้า?


ดร.อัจฉรา บอกว่ามีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย หนึ่ง คือ ปัจจัยภายนอกองค์กรหรือบริษัท ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น นโยบายภาครัฐ ภัยธรรมชาติ สองคือ ปัจจัยภายในองค์กรเอง สามารถควบคุมได้ หากองค์กรนั้นมี HR ที่เป็น Strategic HR จริงๆ เพราะเขาจะรู้และปรับกระบวนการภายในให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้นำหรือซีอีโอได้ เช่น มีการสร้างสมรรถนะให้กับคน มีการสร้างโปรแกรมรักษาคนดี คนเก่ง รวมไปถึงสร้างการสื่อสารไหลลื่นไม่ว่าจะระดับล่างสู่บน Bottom-up หรือบนไปสู่ระดับล่าง Top-Down และสาม ซึ่งมีความสำคัญก็คือ ความสามารถของตัวผู้นำเองว่ามีมากมีน้อยเพียงไร หรือ capability


จะต้องพัฒนา หรือต้องติดอาวุธแบบใด จึงทำให้ผู้นำพร้อมรบ


เมื่อ 4-5 ปี ดร.มาแชล โกลด์สมิท ได้ทำผลสำรวจผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติชั้นนำ อาทิ ยูนิลีเวอร์ ไมโครซอฟท์ แอคคอร์ จีอี ฯลฯ จำนวน 150 คน ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จจากการบินลัดฟ้าไปบริหารงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก วัตถุประสงค์ก็เพื่อค้นให้เจอว่า Competency หรือ ความสามารถเชิงสมรรถนะ (คุณลักษณะทั้งในด้านทักษะ ความรู้ และพฤติกรรม ของบุคคล ที่ช่วยทำให้การปฏิบัติงานประสบความสำเร็จ) สำหรับผู้นำของโลกยุคใหม่ต้องเป็นอย่างไรกันแน่


และก็ได้พบว่า สมรรถนะที่ดีของผู้นำนั้นมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ ประการแรก สามารถการรับมือกับความคลุมเครือได้ดี เนื่องจากเวลาไปบริหารต่างบ้านต่างเมือง ผู้บริหารมักเจอะเจอกับบรรยากาศและข้อมูลที่ไม่มีความแน่นอน ไม่เหมือนตอนที่บริหารอยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองไทย ซึ่งผู้บริหารที่เก่งจะไม่เครียดกับความคลุมเครือ แต่จะหันซ้ายหันขวาหาข้อมูลเพื่อมองปัญหาให้ออก ตีจนแตกว่ามัน คือเรื่องอะไร


ประการที่สอง สามารถเข้ากับทีม ซึ่งเป็นคนในประเทศนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ดร.อัจฉราบอกว่า นั่นเป็นเพราะผู้นำที่เก่งจะมีทักษะในการฟังที่ดีด้วย จึงสามารถเชื่อมตัวเองกับทีมได้ค่อนข้างเร็ว แต่หากทำได้ช้าก็จะกลายเป็นที่มาของความไม่เข้าขาและทำให้งานล่าช้าติดหนึบ


ประการที่สาม จะไม่ยึดติดกฏ กติกาจากสำนักงานใหญ่ (ป็นโรคประจำตัวของผู้บริหาร) จนเกินไป แต่มีความยืดหยุ่น และปรับกฏระเบียบให้สอดคล้องกับพื้นที่


ประการที่สี่ มักจะเก่งเรื่องคน มีภาวะหยั่งรู้ใจคน คือรู้ว่าลูกน้องต้องการอะไร และตอบสนองให้ตรงกับความต้องการ


ประการสุดท้าย ให้ความร่วมมือพัฒนา Successor สร้างตัวตายตัวแทน เพราะในวันใดหนึ่งผู้นำก็ต้องหมดวาระและเดินทางกลับประเทศ ดังนั้นหน้าที่นี้จำเป็นต้องทำร่วมกันระหว่างผู้นำกับ HR


พัฒนาผู้นำใน 5 เรื่องให้สำเร็จนั้นไม่ยาก หากแต่ดร.อัจฉราเตือนว่ามีหลุมพรางที่เมื่อตกลงไปแล้วปีนกลับขึ้นมาแสนลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการของโรค 3 ชนิด นั่นคือ Egocentric Syndrome, Language Syndromeและ Culture Syndrome


โรคชนิดแรก นั้นติดมาจากสำนักงานใหญ่ เลยทำตัวยิ่งใหญ่ เก่งที่สุดทุกคนจึงควรต้องฟังและทำตาม ส่วนโรคชนิดที่สองก็คือ หากพนักงานพูดภาษาเดียวกับตัวเองได้ ก็หมายถึงความเข้ากันได้ดี และ จะทำตัวสนิทสนมเป็นพิเศษ ซึ่งผู้นำไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และโรคที่สามก็คือ การมองวัฒนธรรมประเทศของตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล มองประเทศอื่นต่ำค่าเป็นดาวบริวารที่หมุนรอบ นั่นเป็นเพราะดวงอาทิตย์ก็ มีวันดับแสงได้ ประเทศมหาอำนาจหรือผู้ที่เคยยิ่งใหญ่ก็มีวันล่มสลายเช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ดี เมื่อไม่มียาครอบจักรวาล เช่นเดียวกันคงไม่มีผู้นำคนไหนเพอร์เฟ็คหมดจด มีคุณสมบัติครบทุกข้อ
กูรูระดับตำนานไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ ดรักเกอร์กระทั่ง ดร.มาแชล โกลด์สมิท ฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่สุดแล้วทุกคนต้องมีข้อบกพร่อง หากแต่ผู้นำจะต้องรู้ข้อดี ข้อเสียของตัวเอง และหาทางปิดแก๊บที่มี


ไม่ว่าเรื่องใดย่อมมีทั้งโอกาสและอุปสรรค ซึ่งดร.อัจฉราบอกว่าการเตรียมความพร้อมผู้นำเพื่อรับเออีซี ในเวลานี้ยังไม่สายเกินไป อีกทั้งเศรษฐกิจไทยเองก็เป็นช่วงขาขึ้น เป็นโอกาสที่ดีสำหรับองค์กรมีกำไรและเงินทุน ทว่าสำหรับธุรกิจขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอีก็อาจยังเป็นเรื่องยาก เพราะติดขัดในงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเรื่องค่าแรง 300 บาทที่ต้องดูแล


หากแต่ "วันเวลานั้นไม่เคยคอยใคร" ก็คือสัจธรรมความเป็นจริง ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็เป็นเช่นนั้นเสมอ