'เรื่องของอัศวินภาพยนตร์' : เป็นเอก รัตนเรือง

'เรื่องของอัศวินภาพยนตร์' : เป็นเอก รัตนเรือง

เสียงสะท้อนจากกูรูในวงการ ที่มองถึง ความโดดเด่นในผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้รับเชิดชูจากกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส

เมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 นายตีแยรี วีโต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้มอบอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินสาขาศิลปะและอักษรศาสตร์แก่นางสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัดและนายเป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ พิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์ฝรั่งเศส Clap! ในกรุงเทพฯประจำปีนี้


"คุณเปนเอก รัตนเรือง สําหรับมิตรไมตรีของคุณตอประเทศฝรั่งเศส สําหรับความคิดสรางสรรคเชิงศิลปะในผลงานของคุณ สําหรับคุณูปการของคุณตอการเผยแพรศิลปะและวัฒนธรรมในประเทศไทยและในโลก และเพื่อเชิดชูความสามารถของคุณ ในนามรัฐมนตรีวาการกระ ทรวงวัฒนธรรม ผมขอมอบเหรียญอิสริยาภรณตระกูลศิลปะและอักษรศาสตร ชั้นอัศวินใหกับคุณ" คํากลาวของ นายนายตีแยรี วีโต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ในพิธีมอบเหรียญอิสริยาภรณศิลปะและอักษรศาสตร ชั้นอัศวิน แดนายเปนเอก รัตนเรือง ผูกํากับภาพยนตร โดยเหรียญอัศวินที่เป็นเอกได้รับจาก กระทรวงวัฒนธรรม ฝรั่งเศสนี้


"ผมเขาใจดวยวาคุณนาจะเปนผูมีแนวคิดแบบฝรั่งเศสมากที่สุดในบรรดาผูกํากับชาวไทย ทั้งนี้ เพราะประเทศฝรั่งเศสชื่นชอบภาพยนตรของคุณ ตั้งแตกํากับภาพยนตรเรื่องยาวเรื่องแรก (ฝันบ้าคาราโอเกะ) คุณก็ไดรับรางวัลจากคณะกรรมการเทศกาลภาพยนตรสามทวีปแลว หลังจากนั้น ภาพยนตรสวนใหญของคุณก็ไดรับเลือกใหเขาฉาย Director's Fortnight (มนต์รักทรานซิสเตอร์) และ un certain regard (พลอย) ในเทศกาลภาพยนตรนานาชาติเมืองคานส เห็นไดชัดวา ผลงานความคิดสรางสรรคของคุณ ซึ่งอาจไดรับอิทธิพลมาจากงานโฆษณาซึ่งเปนอาชีพแรกของคุณ ถูกใจพวกเราชาวฝรั่งเศส"

ท่านทูตฝรั่งเศสฯ ยังได้ขยายความประทับใจต่อผลงานของ อัศวินภาพยนตร์ไทย คนล่าสุด กับทาง "จุดประกาย" ว่า
"ผมเพิ่งมาประจำการที่นี่เพียงสามเดือน และเพิ่งได้เจอคุณเป็นเอกเป็นครั้งแรกในงานนี้ แต่ผมก็ได้ศึกษาประวัติอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเขามาพอสมควร และเห็นว่าเขาเหมาะสมกับการยกย่องครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเราตั้งใจมอบเหรียญอัศวินให้กับคนที่ทำงานศิลปะทั้งนักดนตรี นักเขียน จิตรกร คนทำภาพยนตร์ ที่ต้องทำงานอย่างทุ่มเท และมีความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญงานสร้างสรรค์นั้นเป็นการทำงานความเข้าใจกับจิตวิญญานความเป็นมนุษย์ อย่างชาญฉลาด และมีความโดดเด่นไม่ซ้ำซาก(ในงานศิลปะนั้น)ด้วย เป็นรางวัลที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสพิจารณาเห็นสมควรมอบให้"

นอกจากกล่าวถึงงานของอัศวินภาพยนตร์คนล่าสุด แล้ว ท่านทูตยังให้ข้อมูลถึง การจัดมอบอิสริยาภรณ์ทางด้านศิลปะให้กับศิลปินชาวไทยว่า อาจจะเป็นการจัดมอบทุกปี และในอีกหลากหลายอาชีพ สายงานที่มีผลงานโดดเด่น และมีสายสัมพันธ์ผลงานที่เชื่อมโยงไทยกับฝรั่งเศสด้วย

บุคลากรในสายงานภาพยนตร์ของไทยที่ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะจากฝรั่งเศส รวมถึง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เมื่อปี 2553 และปี 2555 ที่ผ่านมา มี เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯหรือเวิลด์ฟิล์ม ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนและโปรโมทงานภาพยนตร์ฝรั่งเศสในเทศกาลเวิลด์ฟิล์มมากว่าสิบปี

สายสัมพันธ์ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยกับฝรั่งเศส
เกรียงศักดิ์ หรือ วิคเตอร์ ในฐานะกูรูภาพยนตร์โลก ได้แสดงความเห็นต่อ สายสัมพันธ์ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยกับฝรั่งเศส ว่า

"ประเทศฝรั่งเศสนะ ต่อให้เราทำงานโดยไม่อิงเขาเลย แต่บังเอิญว่าเราอิง(หัวเราะ) เขาก็ชื่นชมคุณในทางศิลปะและวัฒนธรรมได้ พอคุณเป็นเอก มีหนังไปฉายเทศกาลเมืองคานส์ ได้ release (ฉายโรงปกติ)ที่นั่น และได้รับการพูดถึงในสื่อต่างๆ ของที่นั่น เขาก็ได้รับการ recognize ในฐานะคนทำหนัง เพราะฝรั่งเศสเขาถือว่าเขาเป็นผู้คิดค้นภาพยนตร์ และเขาก็ภูมิใจในเรื่องนี้ว่า เมื่อเขาเห็นใครที่ทำให้ภาพยนตร์มันเก๋มันเด้ง เขาก็ชื่นชม(และเชิดชู) กับคุณเป็นเอก ก็เป็นผู้ contribute ในส่วนนั้น"


ผลงานที่วิคเตอร์โปรดปรานของผู้กำกับคนนี้คือเรื่อง พลอย เหตุผลคือ "มัน bitchy ดี และมันตรึงเรานะ หนังไม่ทำให้เราอึดอัดเลย ทั้งๆที่มันก็เป็นหนังดำเนินไปแล้วสนุก หนังเรื่องนี้เอาเราอยู่ และมันไม่ซ้ำ (ไม่เป็น cliche) มันมีเซอร์ไพรส์เราตลอด ตลอดเรื่อง เราไม่รู้ว่าหนังมันจะพาเราไปไหน มันสนุกตรงนี้ "

พลอย เป็นเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่ชีวิตแต่งงานเริ่มไม่ลงตัว และมีเด็กสาวไร้แรงโน้มถ่วงแต่มีพลังดึงดูดชื่อพลอยเข้ามาในชีวิต กับช่วงคืนวันอันแสนเหงาของฝ่ายชาย หนังยังสำรวจความสัมพันธ์ของชายหญิง ที่ความคิด คำพูดและการสนทนาอาจจะไม่ช่วยในการหาคำตอบ

ความเก๋ความเด้งในงานภาพยนตร์ของเป็นเอก คืออะไร วิคเตอร์ อธิบายเชิงวิพากษ์ว่า "อันที่จริงเราว่าเป็นเอกน่าจะกล้าหาญกว่านี้ได้ หลายๆอย่าง เขากล้ามาแล้ว ในการใช้ภาษาหนัง การใช้เรื่องที่ฉีกออกไป และมีเซนส์ของการนำเสนอภาพยนตร์ดีอยู่แล้ว เขายังจะไปได้ไกลกว่านี้อีก แต่ผมอยากเห็นความกล้าบ้าบิ่นของเขามากกว่านี้อีก"

นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ที่ได้ร่วมงานใกล้ชิดกับเป็นเอก พูดถึงเกียรติยศครั้งนี้ว่า


"ไม่กังขาเลยครับ ก่อนคุณเป็นเอก ก็มี อภิชาติพงษ์ มีท่านมุ้ย(ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) จะเห็นว่าพัฒนาการทางความคิดในการส่งสารไปสู่ผู้ชมภาพยนตร์ของนักทำหนังเหล่านี้ มีความเด่นคือ หนึ่ง มีความต่อเนื่อง(ในงานภาพยนตร์ของพวกเขา) และ สอง คือ มีพัฒนาการที่ชัดเจน ถ้าเราเป็นแฟนคนทำหนังเหล่านี้ เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า คนทำหนังเหล่านี้แสดงความคิดของเขาออกมาในงานภาพยนตร์ และยังมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคม พูดถึงสังคมโดยรวม (ซึ่งการได้รับรางวัลแบบนี้) แสดงว่าต่างชาติเขาสัมผัสสิ่งเหล่านี้จากงานได้ และมีแรงสั่นสะเทือนบางอย่างกับประเทศฝรั่งเศสด้วย จึงไม่น่าแปลกใจหรอกที่เป็นเอกจะได้รางวัล"


ในมุมของแฟนหนังของเป็นเอก นนทรีย์บอกถึงหนังโปรดของเขาคือ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ด้วยเหตุผลส่วนตัวว่า "หนังมันให้พลังทางด้านภาพยนตร์สูงสุดสำหรับผม ตั้งแต่ตอนทำงาน(ถ่ายทำ)แล้ว แต่เรื่องอื่นๆ มันก็เป็นพลังในแบบอื่น แต่มันสะท้อนพัฒนาการของเขาในการทำหนัง"


นนทรีย์ เป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับเป็นเอก ในเรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ออกฉายปี 2544 และ "เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล" (Last Life in the Universe) ปี 2546 และเป็นหัวขบวนของหนังไทยยุคฟื้นฟู ( renaissance) และคนทำหนังที่สื่อต่างประเทศใช้คำว่า Thai New Wave ร่วมกับเป็นเอก ตั้งแต่ช่วงกลางพุทธทศวรรษ 2540 (เริ่มจาก นางนาก ทำเงิน 140 ล้านบาท ตรงกับปีค.ศ. 1999)

ความโดดเด่นในงานของผู้กำกับที่สมควรยกย่อง ยังรวมถึง "ไอเดียของเขา ที่มีความปลกออกไปและมีความแชัดเจนในความคิด ไม่ว่าเขาจะหยิบจับอะไรขึ้นมาทำ เขาจะมีมุมมองเชิงวิเคราะห์ และใส่ความคิดลงไป งานของเขาอาจจะไม่ได้ถูกใจคนในวงกว้าง แต่แน่นอนสำหรับคนที่ศึกษาภาพยนตร์และดูพัฒนาการเขาอย่างเข้าใจ จะเห็นได้ว่าเขาเติบโตมาก เหมือนคนในฝรั่งเศสเขามองศิลปินที่จะยกย่อง เขาจะดูว่าพัฒนาการเป็นไง ไม่ใช่ดูหนังเรื่องเดียวแล้วตัดสินคงไม่ใช่ และคนที่เข้าใจการดูภาพยนตร์ จะต้องศึกษางาน หลังจากชอบสไตล์คนนั้นก็ตามไปดูงานของเขาให้หมด" โดยนนทรีย์ยังบอกถึง จุดเด่นของเป็นเอก ในความพยายาม "สร้างภาษาหนัง" ที่เป็นของตัวเองอีกด้วย


ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่า หนังไทยของผู้กำกับที่ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะนั้น ได้รับเพราะว่า "ถูกจริตฝรั่งเศส" อย่างไรนั้น


นนทรีย์ให้ความเห็นที่ต่างไปว่า "ผมว่ายังไงก็ตามแต่ คนทำหนังไทยก็ทำเพื่อให้คนไทยดูเป็นอันดับแรก เพียงแต่ระบบที่เขาคิด และองค์ปัญญาความรู้ที่เขามี และวิธีวิเคราะห์ของเขาอาจจะไปตรงใจกับคนดูต่างชาติ ขอบอกอย่างนี้ดีกว่า เพราะตราบใดที่หนังพูดภาษาไทย ใช้คนไทยเล่น โลเกชั่นก็เมืองไทย ความคิดความอ่านที่ปรากฏในหนังก็ย่อมเป็นไทยอยู่แล้ว มันเกิดกระบวนการความคิดรวบยอดมันก็เป็นคนไทย แต่มุมที่เขามองมันอาจไม่ถูกจริตกับคนไทยก็ได้"
โดย นนทรีย์ ย้ำว่า หนังเป็นเรื่องรสนิยม เป็นความเชื่อและความชอบของแต่ละคน และนั่นเป็นคำตอบถึงการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างเขากับเป็นเอก ซึ่งระยะเวลาอันใกล้ยังไม่มีจังหวะปะเหมาะที่จะมีรูปธรรมออกมาได้

สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ผู้บริหารของบริษัทเอสเอฟซิเนมาซิตี้ จํากัด และ เป็นผู้รับมอบ เหรียญอิสริยาภรณตระกูลศิลปะและอักษรศาสตร ชั้นอัศวิน ในวันเดียวกันได้แสดงความเห็นต่องานของ ผู้กำกับหนังไทยขวัญใจชาวฝรั่งเศสคนนี้ว่า

"ชอบหนังคุณเป็นเอก เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ เพราะหนังมันดูสนุกมาก อีก(สอง)เรื่องที่ชอบคือ นางไม้ พลอย และ ฝนตกขึ้นฟ้า นี่เป็นหนังที่ชอบมากที่สุด เพราะชอบคุณปีเตอร์ (นพชัย ชัยนาม) เขาเล่นดีมาก เนื้อเรื่องก็ดี
คุณเป็นเอกผูกเนื้อเรื่องได้น่าสนใจและน่าติดตามตลอด"

สุวรรณี อยู่ในฐานะผู้สนับสนุนการฉายภาพยนตร์ฝรั่งเศสในประเทศไทย งานล่าสุดคือเทศกาลภาพยนตร์ฝรั่งเศส 2013 Clap! จัดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


อีกหนึ่งความคิดเห็น จากผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับเป็นเอก คือ ปีเตอร์ นพชัย ชัยนาม พระเอกหนังสองเรื่องหลังสุดของเป็นเอก นางไม้ และ ฝนตกขึ้นฟ้า คุณค่าทางศิลปะ
"เอาจากมุมของผม นะในวันที่ ฝันบ้าคาราโอเกะ ออกมาฉาย มันเป็นการเปิดโลกที่ผมไม่เคยเห็น ในแง่ภาพยนตร์ไทย ผมรู้สึกว่าสำหรับหลายๆคน มันคงเป็นแรงบันดาลใจ และคนไทยและต่างประเทศก็ได้เห็นตัวตนของคุณเป็นเอก และการที่คนเราได้ทำอะไรด้วยความเป็นตัวของตัวเอง สิ่งนั้นคนจะรู้สึกถึงคุณค่า ผมสรุปเอาเองว่า อันนั้นแหละที่เรียกได้ว่าผลงานศิลปะ

ปีเตอร์ บอกถึงประสบการณ์ทำงานร่วมกันว่า "ในกองถ่าย ไม่มีอะไรมาเบรกความคิดสร้างสรรค์ของเรา ในการแสดงอะไรออกไป เราอาจจะทำถูกทางหรือไม่ถูกทาง ก็คือทำออกไปก่อน แล้วมาว่ากันทีหลัง เวลาแสดงในงานของพี่เป็นเอก มันไม่มีกรอบ เราได้มาแสดงความคิดเห็นกัน แชร์กัน ซึ่งอันนั้นผมว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำภาพยนตร์"


ปีเตอร์ คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ปี 2555 จากบทบาทมือปืนเห็นภาพกลับหัว ใน "ฝนตกขึ้นฟ้า" งานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องที่ 8 โดย เป็นเอก รัตนเรือง ออกฉายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ดัดแปลงจากงานเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ พระเอกได้ให้ความเห็นต่อถึงความพิเศษใดที่ทำให้เขาทำงานเข้าตากรรมการ
"ผมว่าเป็นเพราะว่า พี่เป็นเอกเป็นผู้กำกับที่เข้าใจการทำงานในทุกๆสายงาน(ภาพยนตร์) เขาเข้าใจว่านักแสดงต้องการอะไร และรู้ระยะ ว่าเราต้องการอะไร เช่น ความมั่นใจ และบางอย่างที่ควรบอกนักแสดง หรือไม่ควรบอก แกจะกะระยะที่เหมาะสมได้"

ขณะที่ นักแสดงชื่นชม การยอมรับความคิดเห็น ในการทำงาน และคนดูเห็น การวิพากษ์สังคมในหนังของเป็นเอก มาหลายเรื่อง ผลงานลำดับที่ 9 ของเขา ที่ยังไม่กำหนดวันฉาย คือ ภาพยนตร์สารคดี สะท้อนสังคมไทยในช่วงการเมืองระอุด้วยความคิดเห็นนอกรัฐสภา ชื่อเรื่อง "ประชาธิปไทย"

ที่น่าจะถือเป็นงาน "ฉีกแนว" ตัวเอง ดังที่หลายๆคนข้างบนเอ่ยชื่นชมว่าเป็นหนึ่งในจุดเด่นของอัศวินภาพยนตร์คนล่าสุดนี้ด้วย