อนาคต“ยูเรกา ดีไซน์”จากใจหนุ่มพัทลุง“นรากร ราชพลสิทธิ์”

อนาคต“ยูเรกา ดีไซน์”จากใจหนุ่มพัทลุง“นรากร ราชพลสิทธิ์”

ล้วงลึกความคิด “นรากร ราชพลสิทธิ์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ “ยูเรกา ดีไซน์” ไอพีโอน้องใหม่ “3 ปีแรกโต 30% 3 ปีหลัง ยิ่งแรงกว่า” “หนุ่มพัทลุง” วานบอก

“มุนษย์เงินเดือน” อาชีพที่ “บอล” นรากร ราชพลสิทธิ์ หนุ่มผิวเข้มคมขำ ชาวพัทลุง เจ้าของ “ยูเรกา ดีไซน์” (EUREKA) ไอพีโอน้องใหม่ที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 1 มี.ค.2556 ตั้งใจจะยึดเป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว งานด้านเครื่องจักรกลในบริษัท ผลิตภัณฑ์วิศวไทย จำกัด บริษัทในเครือซิเมนต์ไทย (SCC) คืองานชิ้นที่แรกของเขา หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” โทรนัดหนุ่มคนที่ว่า เพื่อให้เขาบอกเล่าอนาคตของ “ยูเรกา ดีไซน์” หลังจากเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกบริษัทจดทะเบียน ด้วยการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ราคาหุ้นละ 2.25 บาท

“บอล” และ “พีอาร์สาว” นั่งจิบกาแฟรอในร้าน เซ็ทเทรด ดอท คอม “ชายมาดนุ่ม” ส่งยิ้มหวาน ก่อนเปิดบทสนทนาด้วยประโยค “ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายผมไม่ได้อยากเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเท่าไร ใจจริงอยากเรียนโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือ แต่ดันน้ำหนักไม่ถึง 45 กิโลกรัม ตามเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด (หัวเราะ) ตอนนั้นจำไม่ได้แล้วว่าหนักเท่าไร รู้แต่ว่าผอมมาก ผ่านมาถึงวันนี้ต้องขอบคุณที่น้ำหนัก ไม่ถึง (หัวเราะ)"

ทำไมถึงเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ? ง่ายๆผมไม่ชอบ “เลือด” ไม่ชอบผ่าซากสัตว์ แต่รักการประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นคณะนี้แหละเหมาะสมกับคนอย่างผม เรียกว่า “ถูกจริต” ก็ว่าได้ คนส่วนใหญ่ชอบบอกว่าหน้าตาผมเหมือนวิศวกร ถามต่อว่าทำไมต้องเลือกสาขาเครื่องกล? เขายิ้มก่อนบอกว่า เรื่องนี้บังเอิญเพื่อนๆที่เรียนปี 1 ด้วยกัน เขาเรียนเก่งกันทุกคน ทำให้เขาเลือกเรียนสาขาเครื่องกล ผมก็เลยเลือกตามเพื่อน ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เรียนไปเรียนมาดันชอบซะงั้น สาขานี้มี “เส่นห์” มากเมื่อเทียบกับหลายๆสาขาของคณะวิศวกรรมศาสตร์

ตอนเรียนอยู่ปี 3 บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด มาเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ถึงมหาวิทยาลัย สุดท้ายได้งานในเครือซิเมนต์ไทย เขาส่งผมไปประจำการณ์ที่โรงปูนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำได้ 2 ปี ตั้งใจจะลาออก เพื่อเรียนต่อปริญญาโท พอเดินไปบอกหัวหน้า แกให้ข้อเสนอว่า บริษัทจะให้ทุนกลุ่มไปเรียน Master of Mechanical and Aerospace Engineering มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก ผมตัดสินใจสอบชิงทุน สุดท้ายก็สอบผ่าน ใช้เวลาเรียน 2 ปี

เมื่อเรียนจบก็กลับเมืองไทย ตอนนั้นบริษัทให้เลือกระหว่างใช้เงินคืน 2 เท่า กับใช้เวลาคืน 3 เท่า ผมเลือกอย่างหลัง (หัวเราะ) ช่วงนั้นตั้งใจจะยึดอาชีพ “มุนษย์เงินเดือน” เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง ทำงานได้ 7 เดือน เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 “ปูนซิเมนต์ไทย” เลือกจะขายธุรกิจเครื่องจักรกล ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลัก (คอร์บิซสิเนส) ให้กับกลุ่มโตโยต้า ทำให้ผมมีโอกาสทำงานกับกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น

ผมชอบการทำงานกับญี่ปุ่นมาก (ลากเสียงยาว) เขามีระบบการทำงานที่แตกต่างจากคนไทย ญี่ปุ่นหากมั่นใจ 50% เขาลงมือทำงานเลย ถ้าโอเคทำต่อ หากเจอปัญหาจะรีบแก้ไข แต่คนไทยจะคิดก่อนแล้วค่อยทำ พอจะลงมือบางครั้งก็สายไปแล้ว สไตล์การทำงานแบบนี้ผม “แฮปปี้” ตำแหน่งผู้จัดการส่วนวิศวกรรมและเทคนิคเป็นงานสุดท้ายที่ทำในบริษัทญี่ปุ่น เรียกว่าไต่เต้ามาเรื่อยๆจากตำแหน่งผู้จัดการแผนกงานโครงการที่เน้นดูแลการออกแบบกระบวนการ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

ต้นปี 2545 ผมตัดสินใจลาออก ตั้งใจจะไปเรียนต่อปริญญาเอก และใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกกับภรรยา เชื่อหรือไม่ผมไปสมัครเรียนและยื่นใบลาออกจากบริษัทแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้ไป จำต้องล้มเลิกแผนทั้งหมด เพราะช่วงเดือนเม.ย.คุณแม่ป่วย ไม่มีคนดูแล น้องสาวก็อยู่อเมริกา ช่วงนั้นก็นอนคิดจะทำมาหากินอะไรต่อ ครั้นจะเดินไปขอเขาทำงานใหม่ก็ใช่เรื่อง พอดีช่วงนั้นอุสาหกรรมยานยนต์กำลัง“บูม” และหาผู้ผลิตเครื่องจักรที่เป็นคนไทยแทบไม่ได้ มองไปทางไหนเห็นแต่คนไทยทำอาชีพขับรถให้ฝรั่งนั่ง ทำให้เกิดความคิดอยากมีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติบ้าง

เดือนส.ค.ผมตัดสินใจเปิด “ยูเรกา ดีไซน์” ด้วยเงินตั้งต้น 1 ล้านบาท ทำคนเดียวไม่มีเอี่ยวกับใคร วันแรกมีพนักงาน 3 คน (หัวเราะ) รวมผมแล้วนะ คอนโดมิเนียม ย่านประชาชื่น คือ ฐานประจำการณ์ชั่วคราวของบริษัท ตอนนั้นวางแผนคร่าวๆว่า ทำงานไปแบบ “ฮาๆ” เรียกเพราะๆว่า “พอเพียง” ผมตั้งใจว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้า บริษัทจะไม่มีรายได้เข้ามา (เราต้องอยู่ให้ได้ด้วยทุนเท่านี้) เพราะงานหลักของเรา คือ ออกไปพบลูกค้า นำเสนอตัวเองให้เขารู้จักให้มากที่สุด ผมโชคดีตรงที่ช่วงทำงานที่โตโยต้ารู้จักลูกค้าค่อนข้างเยอะทำให้เข้าไปคุยงานง่ายขึ้น งานมูลค่า 800,000 บาท ในปี 2546 เป็นเงินก้อนแรกที่บริษัทได้รับ หลังขายเครื่องจักรให้กลุ่มยามาฮ่า ใช้เวลาคุยเพียง 3 เดือนเท่านั้น นับจากวันเปิดบริษัท (ยิ้ม)

หลัง “หนุ่มบอล” ร่ายประวัติชีวิตยาวยืด พีอาร์สาวอีกคนก็ตามมาสมทบ

ก่อนปล่อยให้ “ผู้บริหารปักษ์ใต้” เริ่มต้นฉายภาพอนาคตของ “ยูเรกา ดีไซน์” ว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) รูปร่างหน้าตาของเรายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% เราทำได้ แต่ 3 ปีหลังจากนั้น ขนาดของบริษัทจะเริ่มไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะตัวเลขทางการเงิน

ถามต่อว่าฐานะการเงินมีโอกาสกลับไปยืน “จุดพีท” อย่างที่เคยทำได้ในปี 2552 หรือไม่ โดยเฉพาะในแง่ของอัตรากำไรขั้นต้นที่เคยยืนระดับ 35.54% และอัตรากำไรสุทธิ 6.38% “บอล” เลือกจะตอบคำถามแบบ “อนุรักษ์นิยม” ว่า หากฟังแผนงานที่กำลังจะเล่าให้คุณฟัง ตัวเลขเหล่านั้นคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ “คุณพ่อลูก 2” นามว่า “นรากร”

“ยูเรกา ดีไซน์” มี 3 ธุรกิจหลัก ไล่มาตั้งแต่ 1.ธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องจักรใหม่ แบ่งเป็นเครื่องจักรทดสอบการรั่วของชิ้นงาน เครื่องล้างทำความสะอาดชิ้นงาน เครื่องกดอัดชิ้นงาน เครื่องขันน๊อต เครื่องประกอบชิ้นงาน และเครื่องทำ สัญลักษณ์ในชิ้นงาน ซึ่งงานเหล่านี้เป็นแหล่งทำเงินหลักของเรา

ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 85% เราตั้งใจจะขายผลิตภัณฑ์เดิมให้กับลูกค้ารายใหม่ๆ เรียกง่ายๆว่าขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ขณะเดียวกันผมกะว่าจะขายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้กับลูกค้ารายเดิม ส่วนเรื่อง “โกอินเตอร์” ทุกคนได้เห็นเรารุกคืบแน่นอน ทุกวันนี้เรามีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพียง 10% จากการขายสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศอินเดีย และประเทศเวียดนาม

แต่ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ตั้งใจจะให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% เราจะบินไปขายของในประเทศใหม่ๆอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เมื่อเร็วๆนี้ ผมเพิ่งไปคุยกับค่ายรถยนต์ยี่ห้อ “โปรตอน” เขาอยากได้ “เครื่องขันน๊อต” เพราะมีแผนจะขยายการผลิตใหม่ ซึ่งพันธมิตรของบริษัทเป็นคนแนะนำ “ยูเรกา ดีไซน์” ให้โปรตอนรู้จัก คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนม.ค.นี้

“พูดตรงๆผมไม่ได้หวังว่า ต้องขายสินค้าได้มากมาย ขอแค่เขารู้จักแบรนด์ของเราก็พอแล้ว ส่วนประเทศอินเดีย และเวียดนาม เรามีแผนจะขายของมากขึ้น ล่าสุดเราเตรียมจะไปตั้งสาขาเพื่อให้บริการ ที่ประเทศอินโดนีเซีย น่าจะเป็นแห่งแรกที่บริษัทจะลงมือทำ”

2.ธุรกิจออกแบบและผลิตชุดอุปกรณ์จับยึด (JIG) สำหรับปรับปรุงเครื่องจักรเดิม งานประเภทนี้ส่วนใหญ่จะล้อไปกับงานออกแบบและผลิตเครื่องจักร เรียกว่าขายตัวแรกได้เท่าไร ตัวนี้ก็จะมีรายได้เข้ามาไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่เราจะทำเพิ่มเติม คือ ออกแบบอุปกรณ์จับยึดลักษณะใหม่ๆ ถ้าให้อธิบายเรื่องนี้มันจะค่อนข้างละเอียด พูดแบบคร่าวๆก็พอ (ยิ้ม)

ธุรกิจสุดท้าย คือ ธุรกิจปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงและซ่อมแซมเครื่องจักรเดิม และการจัดหาอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองให้ลูกค้า งานชิ้นนี้อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงมากหน่อยเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ เราจะทำเป็น “เซอร์วิส แพลน” อธิบายง่ายๆ คือ เดิมเราไม่เคยมีสาขาเพื่อรองรับการบริการลูกค้า ส่วนใหญ่เวลามีปัญหาลูกค้าจะโทรมาหาบริษัทเราตั้งใจจะเข้าไป “ชิมลาง” เปิดสาขาแรกในจังหวัดฉะเชิงเทรา ถ้าโอเคทำต่อ ภายใน 3 ปีข้างหน้า น่าจะได้เห็นเป็นรูปร่าง

“กรรมการผู้จัดการหนุ่ม” ทิ้งท้ายว่า เรามุ่งมั่นว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า “ยูเรกา ดีไซน์” ต้องเป็นผู้ผลิตและออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอันดับ 1 ใน 10 ของอาเซียน ตามที่เคยจั่วหัวไปแล้ว การเข้ามาเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ นอกจากหนี้ระยะสั้นของเราจะหายไปจนทำให้ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ “ความฝัน” ของผมเป็นจริงอีกต่างหาก

“วันนี้เราก้าวผ่านอุปสรรคเกี่ยวกับบุคลากรมาแล้ว ปฎิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจลักษณะนี้จะขับเคลื่อนได้ต้องมีคนมากพอ เราตั้งใจว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ไม่ควรมีคนเกิน 150 คน วันนี้มีพนักงาน 132 คน จำนวนเท่านี้ ก็เพียงพอจะขับเคลื่อนให้เราเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% แล้ว"