ณรงค์ ปรางค์เจริญ คอมโพสเซอร์ไทยบนเวทีโลก

ณรงค์ ปรางค์เจริญ คอมโพสเซอร์ไทยบนเวทีโลก

ด้วยพลังและความมุ่งมั่นของคนหนุ่ม นักแต่งเพลงชาวไทยที่ต้องการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของเขา เพื่อให้โลกได้รับรูู้

จากแคนซัสซิตี ศิลปินรางวัล ศิลปาธร ณรงค์ ปรางค์เจริญ แวะมาเยือนไทยเมื่อหลายวันก่อน พร้อมกับเจียดเวลาให้สัมภาษณ์แก่ "กรุงเทพธุรกิจทีวี" ถึงประสบการณ์การทำงานเป็นนักประพันธ์ดนตรีในต่างแดน


ในวันนี้ ณรงค์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านคอมโพสิชั่น จาก University of Missouri in Kansas City เรียบร้อยแล้ว ผลงานใหม่ของเขา The Migration of Lost Souls ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเสียงระฆังจากวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่งมีการบรรเลงในรอบปฐมทัศน์ โดยวง The American Composers Orchestra บนเวทีคาร์เนกี ฮอลล์ ในนิวยอร์ก ซิตี เมื่อเดือนตุลาคม 2012 ที่ผ่านมา ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้มหลามบนพื้นที่สื่อตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส


ณรงค์ ปรางค์เจริญ น่าจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่กำลังลงหลักปักฐานในการทำงานดนตรีคลาสสิกบนเวทีนานาชาติ ผลงานของเขาถูกนำไปบรรเลงโดยวงออร์เคสตราทั่วโลก และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุทางคลื่นดนตรีคลาสสิกอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกันกับการทยอยกวาดรางวัลตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น รางวัล อเมริกัน คอมโพสเซอร์ นิว มิวสิค รีดดิ้ง ดังที่มีการวิเคราะห์กันว่า หลายๆ คนที่ชนะเลิศจากรางวัลนี้ ต่อไปจะได้รับรางวัลใหญ่ขึ้น เช่น รางวัลพูลิตเซอร์ เป็นต้น


"มันเป็นเวทีที่ทำให้คนเห็น เช่น พอผมชนะเลิศรางวัลนี้ เริ่มมีพับลิชเชอร์ติดต่อเข้ามาแล้ว ว่าอยากได้เราอยู่ในแคตตาล็อก มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าไปที่ต่างๆ ง่ายขึ้น" ณรงค์ เล่าถึงชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในระยะนี้


นี่คือบางบทตอนจากการสนทนากับนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกคนนี้ ที่กำลังนำสุ้มเสียงแบบไทยๆ ไปให้ชาวโลกได้รับรู้

ถึงวันนี้ คุณได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ มามากทีเดียว ?


ครับ รางวัลหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเลย คือ Toru Takemitsu Awards ที่ผมได้เมื่อปี 2004 รางวัลนั้นเป็นรางวัลสำหรับคอมโพสเซอร์อายุต่ำกว่าสามสิบปี ทุกคนส่งเพลงเข้าไป จะมีกรรมการเป็นคนเลือกห้าคนสุดท้ายไปที่ญี่ปุ่น และเราเล่นคอนเสิร์ตกับวง โตเกียว ฟิลฮาร์มอนิก ที่โอเปร่า ซิตี้ ฮอลล์ พอได้รางวัลนั้นมา รางวัลอื่นๆ ทุกปีก็ตามมาเรื่อยๆ ที่สำคัญคือ Alexander Zemlinsky Prize , Annapolis Charter 300 ซึ่งอันนี้น่าสนใจตรงที่ว่า เขาฉลองครบรอบเมืองแอนนาโพลิส 300 ปี คอนเซ็ปต์เขาคือ จะเลือกคอมโพสเซอร์หนึ่งคน ทุกๆ หนึ่งร้อยปี เริ่มจาก 1708 เป็น Corelli's Concerto ปี 1808 เป็น Beethoven's Symphony No.5 ปี 1908 เป็น Ravel 's Symphonie Espagnole แล้วเขาหาคอมโพสเซอร์ที่แต่งเพลงปี 2008 ก็เลยประกาศให้ทุกคนสมัคร ก็มีคนสมัครประมาณ 200 คนจากประมาณ 40 ประเทศ เขาก็เลือก 4 คนสุดท้ายเข้าไปแต่งเพลงใหม่ของปี 2008 แล้วเอาไปเล่นแข่งกัน มีเจ็ดฝ่ายให้คะแนน เป็นคอนดักเตอร์ของวงนั้น นักดนตรีของวงนั้น เป็น music critic เป็นคนดูที่ดูในคอนเสิร์ต เป็นซีเนียร์คอมโพสเซอร์จากที่อื่น เป็นมิวสิคไดเร็คเตอร์จากวงออร์เคสตราชั้นนำ บวกกับคอนดักเตอร์ของวงออร์เคสตราอื่นๆ ก็มี 7 คนที่โหวต ผมได้ 6 โหวต กรรมการบอกว่างั้นไม่ต้องรอเสียงสุดท้ายแล้ว เพราะไม่มีผลแล้ว


เพลงนั้นคือเพลงอะไร


ชื่อว่า ไตรศตวรรษ ครับ ผมตั้งชื่อให้เป็น 300 ปี เพราะเขาฉลอง 300 ปี แล้วตอนนั้นเขาให้บินไปแอนนาโพลิสเพื่อไปดูเมือง จะได้เป็นแรงบันดาลใจเขียนเพลง เขาก็จ่ายเงินให้คอมโพสเซอร์ทุกคนไป บังเอิญผมมีคอนเสิร์ตที่ปักกิ่ง ผมก็บอกเขาไปว่า ไปไม่ได้ หลังจากนั้นจะหาโอกาส แต่ไม่มีโอกาสสักที เขาก็เลยถาม ประมาณสามเดือนถึงคอนเซ็ปต์ เมืองเขามีแม่น้ำผ่านกลาง กรุงเทพฯก็มีแม่น้ำผ่านกลาง ก็มีหลายที่เหมือนกัน ผมก็เลยบอกว่า จะแต่งเพลงที่เป็นของขวัญในการฉลองครบรอบ 300 ปีจากประเทศไทย เขาก็เลย อืม ! คอนเซ็ปต์ดี คนอื่นเขาก็จะไปพูดเรื่องสงครามที่เกิดขึ้นช่วงนั้น หรือเรื่องต่างๆ แต่ผมเป็นคนเดียวที่แต่งเพลงไม่เกี่ยวกับเรื่องพวกนั้นเลย ในที่สุด เพลงนั้นก็ได้โsวตจากคนดูเยอะที่สุดจากนักดนตรีเยอะที่สุด


เพลงของคุณโดดเด่นอย่างไร


ผมว่าของผมแตกต่างตรงที่ว่ามีการผสมผสานความเป็นไทยกับสากล เหมือนเวลาเราฟังเพลง นักแต่งเพลงคนไทยตอนนี้ บางทีอยากมีความเป็นไทยมาก แต่ว่าความจริงคนไทยไม่ได้มีความเป็นไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเรายังมีแม็คโดนัลด์ มีสตาร์บัคส์ มีทุกอย่าง เราไม่ได้กินข้าวด้วยมือเหมือนก่อน เราทานข้าวด้วยช้อนกับส้อม ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมของไทย เราถูกผสมผสานมาแล้ว โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่อย่างของผม ผมพยายามเรียนรู้จากตัวเองให้มากว่า การแต่งเพลงของเราเป็นแบบไหน เราชอบฟังเพลงสไตล์ไหน แล้วสิ่งเหล่านั้นจะเข้ามาช่วยการเขียนเพลงที่เป็นตัวของเรา เพราะถ้าบอกว่า เราเป็นคอมโพสเซอร์คนไทย มีคอมโพสเซอร์คนไทยหลายสิบหลายร้อยคน แต่ในกลุ่มคอมโพสเซอร์คนไทย มี ณรงค์ ปรางค์เจริญ แค่คนเดียว ถ้าเขาอยากได้ ณรงค์ ปรางค์เจริญ ต้องมาหา ณรงค์ ปรางค์เจริญ ที่เดียว ไปหาที่อื่นไม่ได้ ผมก็เลยโฟกัสที่ตัวเองมากขึ้น ทำอย่างไรเพื่อผสมผสานความเป็นไทยของเราในแบบของเรา ไม่ใช่ยกดนตรีไทยไป


ผมบอกกับน้องๆ หลายคนนะว่า เราไม่สามารถพูดภาษาไทยให้ฝรั่งเข้าใจได้ ฝรั่งไม่สามารถซาบซึ้งในสุนทรภู่ได้ เพราะเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ จนกว่าเขาจะมาเรียนภาษาไทย เขาถึงจะรักสุนทรภู่มากขึ้น ผมบอกว่าวิธีที่ผมทำคือผมพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทย มันก็จะดูแปลกๆ น่ารักดี ซึ่งเป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าใจเราง่ายขึ้น เราพูดภาษาเดียวกัน เราใช้วงออร์เคสตราแบบเดียวกันในการสื่อ เพียงแต่ว่าภาษาที่เราพูดมีสำเนียงเรา


ต้องทำงานกับวงออร์เคสตราใหญ่ๆ มากมาย เช่น วงอะไรบ้าง


ผมเล่นด้วยหลายๆ วง อย่าง แปซิฟิก ซิมโฟนี, โอเรกอน ซิมโฟนี, ไชน่า เนชั่นแนลซิมโฟนี, โตเกียว ฟิลฮาร์โมนิก อะไรอีกเยอะมาก เพลงกระจายไปทั่วโลก ผมยังพูดเล่นกับเพื่อนว่า นี่ถ้าแอฟริกามีวงออร์เคสตร้า บางทีฉันอาจจะได้ไปแอฟริกาด้วย ... จริงๆ ในอย่างประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิลฮาร์มอนิก เขาก็ช่วยพยายามเล่นเพลงของผมบ่อยขึ้น บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ก็เคยเล่นเพลงของผม แต่ที่เอเชีย เรามีวงออร์เคสตราใหม่ๆ เยอะขึ้นมาก อย่างเมื่อพฤษภาคม 2012 ที่ผ่านมา ผมมีเพลงเล่นกับ NCPA ออร์เคสตรา ที่ปักกิ่ง


ยากไหมกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้


จะว่ายากก็ยาก จะว่าไม่ยาก ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย การที่เราเป็นคนไทย ทำให้เรามีความแตกต่างจากชาติอื่นๆ มีหลายงานที่อยู่ๆ ผมได้งาน เพราะผมเป็นคนไทย ยกตัวอย่างเช่น มีคอนเสิร์ตที่ มิลเลนเนียมพาร์ค ชิคาโก เขาอยากได้เพลงมาเล่น แล้วไม่รู้เขานึกยังไง เขาอยากได้คนไทย เขาเสิร์ชกูเกิ้ลว่าไทยคอมโพสเซอร์ แล้วมีชื่อผมขึ้นมา เขาเห็นว่าผมทำอะไรมาบ้าง เล่นกับวงอะไรมาบ้าง เขาก็โทร.หาผู้จัดการวงพวกนั้น เขาก็ติดต่อมาให้ส่งเพลงไป พอทำแบบนั้นเหมือนกับว่า ทำให้งานเราแพร่หลายมากขึ้น มีอย่างอันหนึ่งเป็น โกลบอลมิวสิค เขาเลือกคอมโพสเซอร์ 94 คน จาก 94 ประเทศ ทุกคนเขียนเพลงคนละ 4 ห้อง แล้วรวมเป็นหนึ่งเพลง โปรเจ็คท์นี้เกิดที่ออสเตรเลีย ผมเป็นคนไทยที่ได้รับคัดเลือก จากที่เขารู้จักเราจากสื่อทั้งหลาย ที่อเมริกาและยุโรป อันนั้นเป็นจุดดี


จุดด้อยคือ ความที่ตลาดดนตรีคลาสสิกของเรายังเล็กอยู่ ความกลัวมีมากกว่าความเข้าใจ ผมบอกว่าถ้าคุณกลัวจะเข้าใจเพลงคลาสสิก อันนั้นเป็นเรื่องดี แสดงว่าอย่างน้อยคุณอยากรู้ แต่คนไทยส่วนมาก กลัวทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิกเลย แล้วเขากลัว ไม่อยากรู้ ไม่อยากเข้าใจ มันเหมือนมีกำแพงกั้น

โดยมาก เวลาผมเปิดเพลงของผมให้คนฟัง ผมถามว่าคิดถึงอะไร เขาจะบอกถึงอะไรต่างๆ นานา ซึ่งไม่มีอันไหนเป็นเรื่องผิดเลย เพราะดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่ใช้จินตนาการให้เราซาบซึ้งไปกับเสียงเหล่านั้น ด้วยความที่ไม่มีใครกำหนดว่า โน้ตตัวซี หมายความว่า เศร้าหรือมีความสุข มันเป็นความรู้สึกของเราเอง ผมยกตัวอย่างให้น้องคนหนึ่งฟัง เขาบอกว่า แล้วอย่างนี้ทุกคนจะมองเห็นเพลงคลาสสิกเหมือนกันไหมพี่ ผมก็บอกว่า ถ้าหยิบมีดมาหนึ่งอันแล้วบาดคุณตอนนี้ แล้วบาดผมตอนนี้ คุณคิดว่าคุณเจ็บเท่าผมไหม เขาก็บอกว่า ไม่รู้ว่าพี่เจ็บขนาดไหน ใช่ไหม การฟังดนตรีขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัว


รู้ตัวเมื่อไหร่ว่าชอบเส้นทางสายนี้

ผมเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อยู่มัธยม เริ่มชอบ พ่อแม่ก็สนับสนุนดี เรียนดนตรีก็ดีนะ มีกิจกรรมทำ พอผมจบม.6 แล้วผมบอกว่าอยากเรียนดนตรีแล้ว ตอนแรกก็คุยกันอยู่สักระยะหนึ่ง ทั้งพ่อและแม่นึกว่าให้เล่นเป็นของสนุกๆ เขาไม่รู้สึกว่าดนตรีเป็นอาชีพได้จริงๆ เขาถามว่าแน่ใจนะว่าจะทำอะไร ผมเลยบอกเขาว่า รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นอาชีพที่ผมมีความสุขตลอดเวลา ถ้าผมมีความสุขก็น่าจะทำอาชีพไปได้เรื่อยๆ ก็เลยบอกเขาว่าขอลอง ถ้าเกิดไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยผมยังทำอาชีพอื่นๆ ได้ ขอลองหน่อยว่ามันจะเป็นไปได้จริงๆ ไหม


ตั้งใจจะเป็นคอมโพสเซอร์เลย?


อ๋อ ไม่ครับ สมัยที่ผมเรียน ไม่มีอาชีพคอมโพสเซอร์ ไม่มีอาชีพนักดนตรี นอกจากเล่นที่ BSO ความฝันของการเป็นนักดนตรีคือสักวันเราอยากเล่นใน BSO ซึ่งตอนนั้นข้อมูลน้อยมาก ผมเข้าไปเรียนปริญญาตรี โดยที่ไม่รู้ว่าจบมาจะทำอะไร นอกจากรู้สึกว่า ถ้าเราได้สอนดนตรี เรามีความสุข ถ้าเราได้เล่นดนตรี เรามีความสุข ผมก็เสี่ยงเข้าไปทำ ... ผมเล่นทรัมเป็ตในวง พอเล่นไประยะหนึ่งอาจารย์ก็ให้ช่วยคุมวง จากนั้นก็เริ่มมาคอนดักท์บ้าง อะเรนจ์เพลงบ้าง มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพที่เราได้ใช้ในปัจจุบัน


เมื่อก่อนผมฝันอยากเป็นนักเปียโน เพราะพอผมเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ผมเจออาจารย์ท่านหนึ่ง อาจารย์เป็นนักเปียโนที่เก่งมาก ไปดูคอนเสิร์ตอาจารย์แล้ว ผมอยากเล่นแบบนี้ ผมเดินไปบอกอาจารย์ว่าอยากเรียน ท่านบอกให้ไปเล่นให้ดูที่บ้าน ผมเล่นไม่ได้ ไม่เคยเล่นเปียโน แต่เขาบอก ถ้าตั้งใจ เขาจะสอน จากนั้นก็เริ่ม เรียนไปได้ 2-3 ปี ผมเรียนเร็วมาก อาจารย์บอกว่านี่มีพรสวรรค์มาก แต่ผมบอกว่าไม่นะ เพราะเราซ้อมวันละ 6 ชั่วโมงทุกวัน ไม่รู้ว่าพรสวรรค์หรือเปล่า แต่เราซ้อมเยอะ จนมาถึงจุดหนึ่งที่ผมเบื่อซ้อมเปียโนเยอะ เราเริ่มไม่มีเพื่อน เพื่อนเริ่มไปกินข้าว โดยไม่ชวนเรา เพื่อนเรากลายเป็นเปียโน เราเริ่มไม่พูดภาษามนุษย์แล้ว จนผมเริ่มรู้สึก เอ๊ะ ! มันไม่ใช่อาชีพเรา ไม่ใช่ชีวิตเรา เราอยากมีสังคม ก็เลยบอกครูสอนเปียโน ครูก็บอกลองแต่งเพลงไหม

เปลี่ยนกันง่ายๆ จากเปียโนไปแต่งเพลง?


เหมือนเขาให้ลองดูว่า ทำอะไรแล้วจะได้ อาจารย์คนนี้พาผมไปเจอกับ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ (ธรรมบุตร) แล้วบอกอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ว่า มีลูกศิษย์คนหนึ่งเล่นเปียโนเก่ง ตั้งใจเรียน เอามาฝากเรียนคอมโพสิชั่นหน่อย อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ก็สอนอยู่ 2 ปี จากนั้นมีอาจารย์ฝรั่งจากอิลลินอย สเตท มาที่เมืองไทยแล้วผมเจอเขา ก็เอาเพลงไปให้ดู เขาถามว่า วางแผนไว้ว่าอะไร ผมบอกไม่มี อันนี้แต่งเล่นๆ เขาบอกถ้ายังไม่มีแผน ไปเรียนปริญญาโทกับฉันที่อเมริกา ตอนนั้นผมรู้ตัวตอนเดือนธันวาคม แล้วเดือนสิงหาคมต้องไปสอบ TOFEL หัวบานมาก สอบประมาณแปดครั้งไม่ผ่านครับ จนอาจารย์คนนี้บอกไม่ต้องสอบแล้ว แต่ต้องมา สิงหาคมต้องมา ผมเลยโอเค ไม่ต้องสอบก็ดี ได้ทุนด้วย ลองเรียนไป ปรากฏว่าถึงอเมริกาครั้งแรก โทร.บอกแม่ว่าอีก 2 ปีจะกลับเมืองไทยแน่ๆ เพราะเกลียดมากประเทศนี้ มันเหงา มันไม่เหมือนเมืองไทย ทุกอย่างปิดเร็ว เราติดนิสัยคนไทย คริสต์มาสเราไปเที่ยวห้าง ห้างเปิดถึงเที่ยงคืน มีลดราคากันระห่ำ ไปที่นู่นก็ปิดเพราะเขาอยู่กับครอบครัว


ไม่ชินหรือเพราะปกติอยู่กับดนตรี แต่งเพลง?


ด้วยความที่มันแปลกไปมากจากวัฒนธรรมแบบนี้ รู้สึกไม่ชอบ พอจบปริญญาโท เริ่มมีไอเดียแล้วว่า หรือเราจะทำเอกให้จบๆ ไปซะ จะได้ไม่ต้องกลับมาประเทศนี้อีก ตั้งแต่วันนั้นปี 2000 ที่โทร.บอกแม่ว่าจะกลับบ้าน จนถึงตอนนี้แม่เป็นคนถามแล้วว่า เมื่อไรจะกลับบ้าน


ตอนนั้นเรียนคณะอะไร เอกอะไร


เรียนดุริยางคศาสตร์สากล เป็นดนตรีศึกษา ผมเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ พอต่อปริญญาโทก็ต่อในสาขา Composition เลยครับ คือสาขาการประพันธ์เพลงโดยเฉพาะ


ถึงตอนนั้นก็ยังไม่ผ่าน TOFEL ?


ตอนที่เข้าไปเรียนปริญญาโท TOFEL ไม่ผ่าน ตอนที่จบปริญญาเอกนี่ ที่มหาวิทยาลัยเขากำหนดว่า คนที่เรียนปริญญาเอกต้องรู้อย่างน้อย 2 ภาษา ถ้าเราไม่พูดอังกฤษกับเยอรมัน เราก็ต้องพูดอังกฤษฝรั่งเศส หรืออะไรสักอย่าง เขาคิดว่าคนที่เรียนปริญญาเอกต้องรู้รอบด้าน ในที่สุดผมก็เลยบอกเขาว่า นับภาษาไทยได้ไหม เขาว่านับได้ แต่ต้องสอบ TOFEL ผ่าน 600 นะ ตอนที่เข้า 550 ก็แปดรอบแล้ว 600 นี่จะทำอย่างไร แต่ด้วยความที่อยู่อเมริกานานเป็น 10 ปีก็เริ่มชิน พอไปสอบจริงๆ ก็ประมาณสองครั้งก็ผ่าน 600 นิดๆ


การเรียนดนตรีที่อเมริกา แตกต่างกับที่ไทยมากน้อยแค่ไหน


ผมว่ามุมมองของการเรียนดนตรีต้องบอกหลายแง่มุม เช่น ผมบอกกับน้องๆ ที่เข้าเรียนดนตรีว่า ถ้าน้องอยากเป็นคนรวย น้องไม่สามารถเรียนดนตรี แล้วเป็นคนรวยมากนะ ผมลองเทียบให้ฟังว่า อย่างอาจารย์ของผมซื้อบ้านที่แคนซัสซิตี้มี 7 ห้องนอน มีคอนโดอยู่ติดกัน และมีอพาร์ตเม้นท์อยู่ในคอมเพล็กซ์เดียวกับคอนโดนั้น และมีที่นิวยอร์กอีกหนึ่งที่ มีรถบีเอ็มดับบลิวสองคัน แต่ถ้าเทียบว่าคนรวยในฐานะคอมโพสเซอร์ และเทียบกับวอร์เรน บัฟเฟต ถ้าเป็นนักธุรกิจจะรวยได้มากๆ ถ้าคิดว่าจะรวยแบบนั้นจริงๆ ทำธุรกิจน้องจะมีโอกาสรวยแบบนั้นจริงๆ ถ้าน้องเป็นนักดนตรีจะรวยได้แค่ระดับหนึ่ง ผมคิดว่าแค่เรามั่นคง เราอยู่อย่างสบาย มีกินมีใช้ เราแต่งเพลง ทำงานของเราไปได้ เราส่งเสียครอบครัวได้ อันนั้นเป็นอาชีพนักดนตรีที่เราทำได้


ตอนเรียนปริญญาตรีเคยคิดไหมว่าจะมายืนอยู่จุดนี้


ผมเองก็ยังมองไม่เห็นครับ กว่าผมจะรู้ตัวเองว่า ผมเป็นคอมโพสเซอร์แล้วเลี้ยงตัวเองได้ ก็ตอนที่เรียนปริญญาเอก เห็นคอมโพสเซอร์หลายๆ คน แล้วเขาแต่งเพลงอย่างเดียว และมีชีวิตอย่างดี ไม่เดือดร้อน ได้กินอย่างที่อยากกิน ได้เที่ยวอย่างที่อยากเที่ยว มันก็เป็นอาชีพได้ หลังจากนั้น ผมเลยเริ่มเรียนรู้ มันเป็นกระบวนการ ผมบรรยายให้น้องๆ ฟังว่า การที่เป็นคอมโพสเซอร์ น้องรู้จักแบรนดิ้งไหม ถ้าน้องไม่ทำแบรนด์แล้วจะอยู่อย่างไร เราต้องทำแบรนดิ้ง


ตอนนี้อย่างหนึ่งการศึกษาในเมืองไทย คือ เราสร้างนักดนตรี แต่เราไม่ได้สร้างนักดนตรีออกไปทำธุรกิจดนตรี เราสร้างนักดนตรีเพื่อออกไปเป็นนักดนตรี โดยที่เขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ผมบอกว่าพอมันเป็นอาชีพ น้องต้องทำเยอะกว่านี้มาก แล้วเราจะรุ่ง


เคยกลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จบ้างไหม


สำหรับผม ผมไม่กลัว เพราะอย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้น ผมมองความสุขของชีวิตมากกว่าเงิน สังเกตว่าคนไทยคิดว่ามีเงินแล้วมีความสุข แต่มีเงิน ไม่มีความสุขเสมอไป เวลาที่อวยพรกัน ขอให้รวย ไม่มีใครบอกขอให้มีความสุข จริงๆ แล้วร่ำรวยกับความสุขเป็นคนละเรื่อง มีหลายคนที่คิดว่า เวลาขอพรแล้วอยากรวย แต่ผมรู้สึกว่า ถ้าเราเกิดมาเป็นคนกวาดขยะ สมมติผมเกิดมาเป็นคนกวาดขยะ ก็ต้องทำงานกวาดขยะจนตาย เราเห็นคนแก่ๆ ที่ทำงานกวาดขยะ ถามว่าชีวิตเขามีแต่ความทุกข์ตลอดหรือเปล่า ผมว่าไม่จำเป็นนะ เขาอาจมีความสุขตลอดชีวิตก็ได้ กับงานที่เขาทำ


คือเลือกอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข ส่วนเรื่องฐานะแค่ความมั่นคง?


ถ้าเราไม่มีความสุข อย่างการแต่งเพลงตอนนี้ ผมรู้สึกว่า ถ้าผมอายุ 60 ผมมองย้อนกลับมา ผมไม่เสียดายเวลาที่ผมใช้ไป 60 ปี แล้วอาชีพแต่งเพลงเป็นอาชีพที่มั่นคงในระดับหนึ่ง สมมติเราขยันทำงาน ผมบอกเด็กๆ ว่าทุกคนประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่ใช้อะไรไปแลกมาเท่านั้น เช่น ถ้าเป็นคนไม่เก่ง แต่ขยันซ้อม ก็ประสบความสำเร็จได้ ถ้าเราบ้านจน แต่เรามีความพยายามมากกว่าคนอื่นสองเท่า เราอาจจะมีเงินไปเรียนดนตรีหรือทำดนตรีได้


บอกพ่อแม่อย่างไรให้พวกท่านเชื่อมั่น


ตอนที่คุยกับคุณพ่อ ไม่ค่อยยาก เพราะพ่อผมเลี้ยงผมแบบปล่อยๆ ปล่อยให้พยายามคิด และเวลาที่ผมทำอะไรพลาด เขาจะไม่ค่อยดุ ปล่อยให้พลาด แล้วค่อยดูกันว่าเป็นอย่างไร จำได้ว่า เคยทำนาฬิกาหาย ผมใส่ได้ประมาณ 2 อาทิตย์แล้วทำหาย กลับบ้านร้องไห้ พ่อบอกว่าร้องไห้ทำไม หายก็คือหาย แต่ไม่มีนาฬิกาแล้วนะ หายก็คือหาย แต่เวลาคุยกับคุณแม่ว่า จะเรียนดนตรี มันยากขึ้น เพราะแม่เขาจะห่วงเรา เหมือนกับเขารักเรามาก เขาก็ห่วงเรามากว่าจบมาแล้วทำอะไร แม่แก่ไปแล้ว ลูกจะทำอะไร ไม่มีแม่อยู่ แล้วลูกจะทำยังไง เลยต้องคุยกันนานจนอย่างที่ผมบอกว่า มันน่าจะเป็นอาชีพที่ผมทำได้ดี แล้วถ้าผมทำได้ดีก็จะมีความสุขทุกๆ วัน


จากนั้นก็คุยกันสักระยะ จนแม่ผมให้ลองโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าจบปริญญาตรีแล้วหางานไม่ได้ สองทางเลือกคือ เลือกเรียนราม หรือไม่ก็ไปทำงานอย่างอื่นที่ใช้ปริญญานี้ได้ ขายประกัน ขายกาแฟ ขายข้าวมันไก่ แต่บังเอิญผมโชคดีที่เรียนจบปุ๊บ ทางมหาวิทยาลัยจ้างให้เป็นอาจารย์พิเศษ ผมก็รอดไป จนถึงทุกวันนี้ แม่ก็ภูมิใจว่าในที่สุดเราก็ทำได้ เราเป็นที่ยอมรับ ผมคุยกับพ่อแม่ตลอดว่า เราไม่ได้มาจากตระกูลใหญ่โต การที่เราได้รับเกียรติแบบนั้น ตอนที่ผมมีคอนเสิร์ตที่อเมริกา ท่านทูตเคยมาดูคอนเสิร์ต สถานทูตไทยที่วอชิงตัน ดีซี จัดเลี้ยงรับรอง ผมก็บอกแม่ว่า เนี่ย ! คนไทยธรรมดาไป ไม่มีทางได้แบบนี้ แต่เราได้รับเกียรติแบบนั้น ตอนนี้แม่ภูมิใจกับเรื่องที่เราทำอยู่เรื่อยๆ


อะไรจะทำให้เยาวชนรุ่นหลังที่เจริญรอยตาม ประสบความสำเร็จ


อย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องมี คือต้องมีความมุ่งมั่น ตอนนี้ เรามีเด็กเก่งๆ เยอะ เรามีน้องที่ตอนอายุ 8 ขวบ เขาเป็นอัจฉริยะเล่นเปียโนเก่งมากเลย พอโตมาอายุ 16-17 เลิกเล่นเปียโน เรามีคนแบบนั้นเยอะ


ผมมักพูดเล่นตลอดว่า คนไทยปรับตัวง่าย รถติดในกรุงเทพฯ ตอนนี้ ทุกคนรู้สึกว่าโอเค ทั้งๆ ที่มันแย่มากๆ แต่คนไทยปรับตัวได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราออกไปแล้วไม่มีงาน คนอื่นทำอะไร งั้นเราปรับตัวค่อยๆ ถูกกลืนเข้าไปในสังคมกระแสหลัก


(การทำอาชีพนี้) อย่างแรกเลย คือต้องเข้าใจว่า เป็นอาชีพที่ยาก เพราะความจริงการแต่งเพลงเหมือนการเล่นกีฬา อย่างนักเทนนิสต้องซ้อมเทนนิสตลอดเวลา และไปแข่งตามที่ต่างๆ นักแต่งเพลงก็ต้องซ้อมเขียนไปเรื่อยๆ ต้องเดินทางไปที่นั่นที่นี่ไปเรื่อยๆ เพื่อแสดงผลงาน เราก็ต้องฝึกฝนฝีมือตลอดเวลา เราต้องรู้ว่าอาชีพของเรา ต้องทำอย่างนี้ หยุดไม่ได้ สมมติเราไม่มีความอดทนมากพอ การประสบความสำเร็จได้มันจะน้อย


หลายคนไม่รู้ว่าบราห์มส์ เป็นนักแต่งเพลงชื่อก้องโลก เสียชีวิตไปแล้ว แต่ทุกคนยังอยากฟังเพลงของเขา บราห์มส์ มีอาชีพเป็นนักเปียโนในบาร์ เพราะนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้เงินมาเลี้ยงตัวเอง แต่เขาก็แต่งเพลงไปด้วย ทุกคนไม่รู้ คิดว่าพวกนั้นเป็นพระเจ้า จริงๆ พระเจ้าคือมนุษย์ที่ใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าผมต้องไปขายกาแฟ 5 ปีเพื่อเลี้ยงตัวเองก็จะต้องทำ เพียงแต่เราต้องไม่เลิกแต่งเพลง ไม่เลิกฝัน เดินตรงไปที่จุดมุ่งหมาย


เคยคิดไหมว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จจะไปทำอย่างอื่น


ผมเคยพูดเมื่อสัก 4-5 ปีที่แล้ว สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจนี่แหละครับ ผมบอกว่า ถ้าอายุ 40 ผมไม่ประสบความสำเร็จ ผมจะกลับเมืองไทย เปิดร้านขายกาแฟก็ได้ เปิดร้านขายข้าวมันไก่ก็ได้ ผมจะทำอันนั้นเป็นแผนสำรอง ถ้าเป้าหมายของเราคือเงินเยอะ เราไม่ควรทำดนตรีตั้งแต่แรก ถ้าเราคิดว่า อยากมีความสุข เราพยายาม อย่างงั้นอาชีพสำรองของผมก็แค่มาขายอะไรไปเรื่อยๆ ก็มีความสุขไปจนบั้นปลายชีวิต


โอกาสของเด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างไร


ความจริง เรามีน้องๆ ที่แต่งเพลงเก่งเยอะมาก แต่น้องพวกนั้นขาดโอกาส ความเก่งกับโอกาสเป็นของคู่กัน น้องเก่ง แต่น้องยังไม่มีโอกาสมากเท่าไหร่ มีน้องๆ หลายคนที่แต่งเพลง ผมพยายามเอาเพลงเขามาเล่น เราต้องให้โอกาสกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ความใฝ่ฝันของผม จริงๆ คืออยากเป็นคนไทยที่ไปยืนในระดับนานาชาติ ผมอยากไปยืนใน textbook ผมอยากตายไปแล้ว มีคนมาเรียนประวัติผมแบบเบโธเฟน แต่ไม่จำเป็นต้องมีผมคนเดียว เราอาจจะมีกองทัพนับร้อยของนักแต่งเพลงชาวไทยที่ไปยืนอยู่จุดนั้น การที่เรามีโอกาสแล้วเก็บโอกาสนั้นไว้ ไม่ใช่เรื่องฉลาด การที่เราให้โอกาสคนอื่นต่างหากเป็นเรื่องฉลาด คนเก่งในแง่มุมผม คือคนที่ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ไอน์สไตน์เก่ง เพราะเขาคิดสร้างประโยชน์แก่คนอื่นได้ แบบเดียวกัน


เมื่อเทียบกับเด็กที่เติบโตมากับดนตรีคลาสสิก เด็กบ้านเราด้อยกว่าเขาหรือเปล่า


ถ้าเทียบในแง่ของการเป็นนักดนตรี เรามีแต่มันยาก ผมพูดเสมอว่า การที่เราสร้างคอมโพสเซอร์หนึ่งคน มันถูกมาก สิ่งที่คอมโพสเซอร์ต้องการอย่างเดียวคือจินตนาการ เป็นอะไรที่ลมๆแล้งๆ คนไทยชอบเพ้อฝัน นั่นเป็นจุดดีของเราเหมือนกัน ถ้าเรารู้จักเรียนรู้จะใช้ประโยชน์จากมันได้มาก การที่เราแตกต่างและไม่รู้เรื่องดนตรีคลาสสิกมาก นั่นเป็นทั้งข้อดีข้อด้อย เช่น เราไม่รู้ เราอาจจะทำไป โดยที่เราไม่รู้ แต่การที่เราทำไปโดยไม่รู้ เราอาจประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ มาก็ได้


ประโยคหนึ่งซึ่งคนไทยชอบพูด คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก นั่นจริง เพียงแต่เราต้องพยายามมองในบริบทว่า เราไม่แพ้ชาติใดในโลกในแง่ไหน อย่างเช่นมีคนเรียกผมนักแต่งเพลงระดับโลก ผมบอกว่าพวกนักแต่งเพลงระดับโลกจริงๆ ไม่ต้องบอกว่าเขาเป็นระดับโลก เพราะเขาเป็นระดับโลกอยู่แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวนะที่คำว่า 'ระดับโลก' ของคนไทยไม่ได้แปลว่า world class แต่แปลว่า world best ซึ่งมันไม่ใช่นะ อาจด้วยความที่เราอยากได้อะไรมาง่ายๆ มันเลยทำให้ความไม่แพ้ชาติใดในโลกของเรามันเเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อย เพราะความจริงคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ ถ้าเราไม่หลอกตัวเอง เราจะไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างยั่งยืนจริงๆ


.....................................................................................


หมายเหตุ : ติดตามชมการให้สัมภาษณ์ของ ณรงค์ ปรางค์เจริญ ได้ในรายการ World Class Smart Thai และ รายการ Judprakai Music ทางกรุงเทพธุรกิจทีวี หรือชมย้อนหลังทาง youtube.com ผ่านทาง KTTVNEWS