เปิดทำเนียบนักการเงิน-ตลาดทุนดาวเด่นปี55

เปิดทำเนียบนักการเงิน-ตลาดทุนดาวเด่นปี55

ท่ามกลางกระแสความสั่นคลอนของเศรษฐกิจโลกทั้งในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนในบ้านเราปี 2012 พลอยสั่นไหวเป็นระยะตามกระแสข่าวที่ออกมา

อาจพูดได้ว่า ไม่ถึงกับยาก ในเวลาเดียวกันก็ไม่ง่ายซะทีเดียว สำหรับการบริหารจัดการ หลังจากสแกนทั้งตลาดเงินตลาดทุนในบ้านเรา "กรุงเทพธุรกิจ" จับโฟกัส 12 คนการเงินที่โดดเด่นปี 2012 มานำเสนอ จะได้รู้ว่าสนามไหนใครเป็นดาว

O "วิน" ดาวรุ่งแห่งสนามกองทุนรวม

ในแวดวงธุรกิจกองทุนรวม อาจจะมีทั้งคลื่นลูกเก่าและคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองหลายคน แต่ที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งแห่งวงการ บลจ. คงต้องยกให้ “ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ CEO ที่น่าจะมีอายุน้อยที่สุดของอุตสาหกรรมกองทุนไทยในปัจจุบัน

ผลงานในด้านการบริหารกองทุนคงเป็นที่ประจักษ์ในฝีมืออยู่บ้างไม่มากก็น้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่ในส่วนของงานบริหารเองนั้นคงเป็นบททดสอบใหม่ที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า ดร.วิน ยอมรับว่า ความท้าทายที่สุด คือ การทำให้ บลจ.วรรณเข้มแข็งขึ้นและเป็นที่รู้จักและยอมรับของนักลงทุนมากขึ้นท่ามกลางภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจจัดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก บลจ. ที่มีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความพร้อมความสามารถของบุคลากร ระบบ และ ขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า บลจ. อื่นๆ เพื่อทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าการลงทุนกับบลจ.วรรณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าบลจ.อื่นๆ อย่างสม่ำเสมอและมีความสะดวกมากกว่า พร้อมกับการมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายกว่าบลจ.อื่นๆ ด้วย

"วรวิทย์" มาแรงในแวดวงแบงก์รัฐ

สำหรับในฟากของกระทรวงการคลังในปีที่ผ่านมา “วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ถูกจัดเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงแบงก์รัฐ แม้การเมืองจะเปลี่ยนไปหลายสมัย เขาก็ยังเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของแบงก์รัฐมาโดยตลอด และ ด้วยวัย 40 ปีต้นๆ เขาก็ถูกคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งเอ็มดีธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ล่าสุดได้รับการสนับสนุนให้เข้านั่งในตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม คือ เบอร์หนึ่งของแบงก์ออมสิน ซึ่งเป็นแบงก์รัฐที่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่เทียบชั้นแบงก์เอกชน ส่วนจะยืนหยัดเป็นดาวค้างฟ้าได้หรือไม่ ให้ผลงานและเวลาเป็นตัวพิสูจน์

O “ประสาร" สุดยอดคนการเงิน

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นอีกหนึ่งคนการเงินที่โดดเด่นอย่างมากในปี 2555 ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะนอกจากงานดูแลด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจแล้ว ยังทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของ ธปท. และภาพลักษณ์ของประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเอา “ตำแหน่ง” เข้า “ขวาง” การโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) มาไว้ที่ ธปท.

หากจำกันได้ ช่วงปลายปี 2554 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2555 กระทรวงการคลัง ภายใต้การดูแลของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความพยายามที่จะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท มาไว้ที่ ธปท. เพราะหวังว่าเมื่อหนี้ส่วนนี้ถูกโอนไป จะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลลดลง ทำให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้น เพื่อไปฟื้นฟูประเทศหลังได้รับความเสียหายอย่างหนักจากปัญหาน้ำท่วม

หลังจากที่ “ประสาร” ทราบเรื่องดังกล่าว และสืบรู้มาว่า รัฐบาลได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยงุบงิบทำเป็น “วาระลับ” ก็ออกมาทำทุกวิถีทาง เพื่อป่าวประกาศให้คนทั่วประเทศได้รับรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยไม่สนใจว่าจะถูกบีบให้ลงจากตำแหน่งผู้ว่าการธปท.หรือไม่ จนท้ายที่สุดรัฐบาลยอมลดธงถอยครึ่งก้าว ซึ่งผลงานในคราวนั้นได้รับการชื่นชมอย่างดีจาก “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจว่า ปฏิบัติหน้าที่ได้ใกล้เคียง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

O "ไพบูลย์" บทบาทเด่นในตลาดทุน

ต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ มีบทบาทโดดเด่นในแวดวงตลาดทุนไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบทบาทในฐานะะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่พยายามผลักดันให้สภาธุรกิจตลาดทุนเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่เข้าไปมีส่วนในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและรัฐบาล หรือ กรอ.

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ กระตุ้นให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน 2 ฉบับ หลังจากคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ แฟทเอฟ (FATF) ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือ grey list ซึ่งจะมีผลกระทบกับตลาดทุน ทั้งในด้านความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ และการออกไปลงทุนต่างประเทศของเอกชนไทย

ล่าสุด สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ภายใต้การนำของไพบูลย์ ยังเป็นหัวหอกสำคัญ ในการเสนอให้รัฐบาล หรือ กระทรวงการคลัง เตรียมมาตรการรับมือกับการออกกฎหมายการรายงานข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐ หรือ แฟทกา (:FATCA) ที่บังคับทุกสถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลการลงทุนของชาวอเมริกัน หากประเทศใดไม่ร่วมมือ ผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในสหรัฐต้องถูกหักภาษีทันที 30%โดยกฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2557

O "สมภพ" ไอพีโอมือทอง

ปี 2555 นับเป็นอีกหนึ่งปีทองของหุ้นไอพีโอ โดยมีหุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จำนวนทั้งสิ้น 19 บริษัท ล้วนแต่สร้างผลงานในการเข้าซื้อขายวันแรกที่น่าพอใจ และใน 19 บริษัทนั้น “สมภพ กีระสุนทรพงษ์” กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มีส่วนร่วมด้วยถึง 11 บริษัท โดยเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 5 บริษัท และเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ทั้งหมด 6 บริษัท

สมภพ มีผลงานด้านงานวาณิชธนกิจ โดยเฉพาะเรื่องการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งแจ้งเกิดในปีนี้ โดยเคล็ดลับที่ทำให้นักลงทุนเชื่อมือเขามากที่สุด ก็คือการจัดสรรหุ้นให้นักลงทุน โดยเขาจะเน้นการกระจายหุ้นแก่นักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนมาก นอกจากการสัดส่วนการกระจายหุ้นที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ลงทุน และเหมาะกับไซส์ที่เสนอขายแล้ว การให้ส่วนลดในราคาหุ้นก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เขาไม่เคยละเลย

O “ประเวช" ขับเคลื่อนประกันไทยศูนย์กลางอาเซียน

“ประเวช องอาจสิทธิกุล” นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ถือว่าเป็นบุคคลที่โดดเด่นในแวดวงประกันในปี 2555 เพราะทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งเลขาฯ คปภ. เมื่อต.ค. 2554 ก็เจอกับน้ำท่วมครั้งใหญ่สุด

ประเวช มีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและรัฐบาล ในการวางกรอบ นโยบาย รวมถึงการเป็นผู้ประสานงาน และเป็นบุคคลสำคัญในการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ที่ถือว่าในขณะนั้นกองทุนฯ เป็นพระเอก เพราะที่ทำให้กลไก ของระบบประกัน สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทำให้บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ หรือ รีอินชัวเรอร์ ให้การยอมรับ และถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่กองทุนฯ ได้เข้ามาช่วยภาคเอกชนในขณะนั้น บวกกับเอกชนได้ยอมทุ่มทุนในการสร้างระบบสาธารณูปโภค

เลขาฯ คปภ. ยังนำพาอุตสาหกรรมประกันภัย รอดพ้นพงหนามมาได้ เขาต้องเดินทางไปเจรจากับรีอินชัวร์ หลายต่อหลายครั้ง จนสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น จึงหันมามุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพของบริษัทประกันภัย และประกันชีวิต ให้ขึ้นมาทัดเทียมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเตรียมการรองรับกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยได้มุ่งเน้นให้ทุกบริษัท ปรับตัวให้เร็วกว่าเดิม ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมประกันของไทยถือว่าติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศเออีซี และที่สำคัญธนาคารโลก กำลังจะยกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางประกันในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

O "กรรณิกา" แบงเกอร์ อิน โฟกัส

สำหรับในภาคการเงินปีนี้คงไม่มีใครอยู่ในโฟกัสของอุตสาหกรรมธนาคารไปมากกว่า "กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ "กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ อีกแล้ว เธอผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้สูงกว่าเป้าหมาย และมีผลประกอบการที่โดดเด่นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นเครื่องยืนยันถึงฝีมือและพลังของหญิงแกร่งคนนี้ที่ได้ใช้เวลากว่า 10 ปีในธนาคารแห่งนี้ และ 6 ปีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่นำพาธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มีความโดดเด่นและแข็งแกร่งในระบบการเงินไทย

จะเห็นได้ว่าในทุกตลาดที่ไทยพาณิชย์เข้าแข่งขันต้องเห็นคู่แข่งเริ่มขยับตัวบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อยที่เธอเข้ามาว่างรากฐานจนขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของระบบ ไม่ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมถึงธุรกิจประกันแม้กระทั่งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไทยพาณิชย์เข้ามาเขย่าวงการจนยักษ์ใหญ่ยังต้องตื่นมารักษาพื้นที่บ้าง

O “เทวินทร์" นำ ปตท.สผ. เพิ่มทุนฉลุย

ต้องยอมรับว่าบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. สามารถชนะการประมูลซื้อกิจการ บริษัท โคฟ เอ็นเนอร์ยี่ ตลอดจนการสามารถเพิ่มทุนครั้งสำคัญของได้สำเร็จ คือ “เทวินทร์ วงศ์วานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ปตท.สผ.

กว่าจะมาถึงวันนี้ ปตท.สผ. ต้องมีการจัดเตรียมแผน ทั้งด้านข้อมูล และด้านการเงินอย่างเข้มข้น กว่าจะชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง บริษัท เชลล์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของโลก ซึ่งต้องมีการขับเคี่ยว แข่งกันเสนอราคาหลายรอบ จนในที่สุด ปตท.สผ.ก็คว้าชัยชนะมาครอง

อย่างไรก็ตาม ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามว่า การทุ่มเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาทเพื่อซื้อกิจการโคฟฯ ในครั้งนี้ เป็นการจ่ายเงินที่แพงเกินไปหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารก็ยืนยันว่าเป็นการลงทุนที่บริษัทพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะสามารถสร้างมูลค่าและผลประโยชน์ให้กับบริษัท รวมถึงสร้างในการเพิ่มแหล่งพลังงานสำรองให้ประเทศ ประเด็นสำคัญที่ตามมา หลังการซื้อกิจการโคฟฯ คือ การเตรียมแผนทางการด้านการเงิน โดยช่วงแรก ปตท.สผ. ต้องกู้เงินมาจ่ายเงินค่าหุ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ดีอี) สูงขึ้นในระดับที่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตเรทติ้ง

เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ. ต้องประกาศแผนเพิ่มทุนครั้งสำคัญของบริษัท ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้มีมูลค่าสูง จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ถือหุ้นจะมีความกังวล โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นต่างชาติ ที่กังวลว่า ปตท.จะได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ “เทวินทร์” จึงต้องออกโรงเดินสายโรดโชว์ทำความเข้าใจกับนักลงทุนทั้งไทยและนอกหลายต่อหลายครั้ง กว่าที่นักลงทุนจะยอมรับ และใช้สิทธิเพิ่มทุนกันล้นหลาม ทำให้แผนเพิ่มทุนประสบความสำเร็จด้วยดี

O “คีรี" ส่งบีทีเอสตั้งกองทุน 5 หมื่นล้าน

ต้องยอมรับว่า “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) มีส่วนสำคัญทำให้ตลาดทุนไทยในปีนี้ “ตื่นตัว” และ “น่าสนใจ” ในสายตาของนักลงทุน นับตั้งแต่การแยกบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ซึ่งทำธุรกิจด้านการตลาด และขายสื่อโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าออกมา และเข้าจดทะเบียนระดมทุนตลาดในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยราคาเสนอขายที่ 35 บาทต่อหุ้น ซึ่งถูกมองว่ามีการเสนอขายในราคาค่อนข้างแพงในสายตานักลงทุน แต่ปรากฏว่าเปิดเทรดในวันแรก (11 ต.ค. 2555) ราคาพุ่งขึ้นถึง 20 บาท หรือ 55 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นถึง 57%

ไม่เพียงเท่านี้ “คีรี” ยังสร้างปรากฏการณ์สำคัญในตลาดทุน ด้วยการประกาศจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์กองแรกของประเทศไทย ขนาด 5-6 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอขายให้นักลงทุนในช่วงต้นเดือนก.พ. ปี 2556 หลายคนยอมรับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ เป็นช่องทางที่ “ฉลาด” ในการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน สำหรับการประมูลลงทุนโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาลในปี 2556 เพราะนอกจากบีทีเอสจะได้ประโยชน์ในรูปของเม็ดเงินที่จะเข้ามาในบริษัท การได้รับยกเว้นการภาษีเงินได้จากเงินปันผลที่ได้จากกองทุนฯ ซึ่งบีทีเอสจะถือหน่วยกองทุนในสัดส่วน 33.33% บีทีเอสยังจะได้ชื่อว่า เป็นบริษัทที่ตอบสนองโครงการของภาครัฐ ที่มีแนวคิดสนับสนุนการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกด้วย เรียกได้ว่า ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งใจ

O “ผ่องเพ็ญ" กับผลงานโบแดงแผนแม่บทฯ

อีกหนึ่งคนการเงินที่โดดเด่นไม่แพ้คนอื่นๆ เลยในปี 2555 คือ “ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ต้องบอกว่าปีนี้ถือเป็นปีทองของ ผ่องเพ็ญ โดยเฉพาะกับผลงาน “แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย” ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไทยในปีดังกล่าว เคลื่อนไหวได้อย่างสมดุล

สำหรับแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น เป็นแผนผ่อนคลายเงินทุนฝั่ง “ขาออก” โดยเฉพาะการผลักดันให้นักธุรกิจ นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเคาน์เตอร์ไฟล์ที่สวนกับเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เงินบาทไทยปี 2555 เคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างนิ่งและสมดุล

ด้วยผลงานที่โดดเด่นตรงนี้ทำให้ ผ่องเพ็ญ เป็น “ม้ามืด” ได้รับเลือกจากคณะกรรมการธปท. ให้ขึ้นมารับตำแหน่ง “รองผู้ว่าการ” ด้านเสถียรภาพการเงิน แบบพลิกความคาดหมายของใครหลายๆ คน

O “ธัช" จุดพลุหุ้นไอพีโอ

ไอพีโอ 2555 ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยบรรยากาศ CONSERVATIVE มีหุ้นเข้าซื้อขายไม่หลากหลายนัก และราคาเข้าซื้อขายก็ไม่สร้างความตะลึงให้ตลาดนัก แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง มีจำนวนหุ้นเข้ามาซื้อขายอย่างคึกคัก ส่วนราคาในวันซื้อขายวันแรกก็สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ แต่บริษัทที่ “จุดพลุ” ให้กับหุ้นไอพีโอที่แท้จริง ต้องยกให้ “โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส” หรือ PPS ซึ่งต้องยกเครดิตให้ “ธัช ธงภักดิ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส

นี่คือหุ้นไอพีโอบริษัทแรกที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะเพดาน และปิดการซื้อที่ราคาเพดานเช่นเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้น 200% จากราคาหุ้นไอพีโอ โดยหุ้น PPS เข้าซื้อขายเมื่อวันที่ 26 กันยายน ด้วยราคาหุ้นไอพีโอ 0.70 บาท และปิดการซื้อขายที่ระดับ 2.10 บาท และจากนั้น หุ้นไอพีโอก็ถูกคาดหวังว่าจะ “ร้อนแรง” เหมือนที่ PPS ได้สร้างสถิติไว้ และหุ้นที่เข้าซื้อขายตามมาก็ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง

O "จีรพันธ์" ผลักดันตั้งกองทุนภัยพิบัติ

สำหรับผู้บริหารบริษัทประกัน ที่โดดเด่น คงหนีไม่พ้น "จีรพันธ์ อัศวะธนกุล" นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่ได้ทุ่มเทให้กับสมาคมด้วยดีมาตลอด เพื่อนำพาสมาชิกสมาคมที่มีอยู่กว่า 60 บริษัท ให้พ้นวิบากกรรมจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา

บทบาทที่สำคัญและโดดเด่น คือ การที่เขาได้ทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในการเข้าไปมีบทบาทในด้านต่างๆ มีการนำข้อคิดเห็นของบรรดาสมาชิก ที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริงไปเสนอแนะให้ คปภ. รวมทั้งรัฐบาลรับทราบถึงแนวทางในการพัฒนาและแก้ไข เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทย ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทที่สำคัญในการเจรจา ต่อรอง และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติกับรัฐบาลและคปภ. ด้วย

ทั้งหมดนี้ คือ คนการเงินที่โดดเด่นในปี 2012 จับตามองต่อไป ว่า ปี 2013 พวกเขาจะยังรักษาระดับความคมชัดในผลงานได้ต่อไปหรือไม่