สตาร์ทอัพมีกี่ประเภท

สตาร์ทอัพมีกี่ประเภท

ขณะที่เราใช้คำว่า“สตาร์ทอัพ”อยู่เพียงคำเดียวทำให้ผู้ฟังจำต้องตีความหมายกันเองว่าผู้พูดหมายถึงผู้ประกอบการเริ่มใหม่ประเภทไหน

และแน่นอนว่า มาจนถึงขณะนี้แล้ว คำว่า “สตาร์ทอัพ” คงจะเป็นที่เข้าใจกับบ้างแล้วว่าไม่ได้หมายถึงผู้ประกอบการที่เริ่มต้นทำธุรกิจธรรมดาๆ ประเภท เปิดร้านขายกาแฟ ร้านขายโทรศัพท์มือถือ หรือร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่น

แต่ “สตาร์ทอัพ” หมายถึงผู้ประกอบการธุรกิจที่มีไอเดียธุรกิจที่แปลกใหม่ไปจากธุรกิจธรรมดาที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว ไอเดียใหม่นี้จะต้องมีการใช้เทคโนโลยีมาประกอบ เพื่อสร้างให้เป็นธุรกิจขึ้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ โมเดลธุรกิจของ “สตาร์ทอัพ” มักจะต้องเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็ว สามารถขยายขนาดออกไปได้โดยไม่เกิดข้อจำกัด และสามารถประยุกต์โมเดลธุรกิจเดิมให้ไปใช้ในตลาดใหม่หรือตลาดต่างประเทศได้โดยง่าย

และมุ่งหวังยอดขายในระดับสูง หรือการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนขนาดใหญ่ได้

โดยทั่วไปแล้ว สตาร์ทอัพ อาจแยกย่อยออกไปตามประเภทของตลาดหรือประเภทของธุรกิจ เช่น สตาร์ทอัพประเภท ฟินเทค (ธุรกิจด้านการเงิน) พรอพเทค (ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) อินชัวร์เทค (ธุรกิจประกันภัย) ฯลฯ

หรืออาจแยกออกตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ เช่น ทำแอพพลิเคชั่น ผลิตสินค้า ให้บริการ ตัวกลางทางธุรกิจ ฯลฯ

บ้างก็มองไปที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น เป็นสตาร์ทอัพที่เน้น B2B หรือ B2C

ทำให้สามารถแบ่งประเภทของ สตาร์ทอัพ แยกย่อยออกไปได้ตามสมควร เพราะลักษณะ อุปนิสัย และวิธีการทำงานของสตาร์ทอัพที่ต่างประเภทกันเหล่านี้ ก็จะแตกต่างกันออกไปเช่นกัน

มีความพยายามของนักวิชาการที่จะแบ่งประเภทของ สตาร์ทอัพ ที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น โดยพยายามค้นหาสิ่งที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ของกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจ สตาร์ทอัพ ซึ่งได้ค้นพบว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลัง ไอเดียธุรกิจ ของ สตาร์ทอัพ ก็คือ การมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งอาจจะแบ่งออกได้เป็น ลูกค้าบุคคล หรือ ลูกค้าธุรกิจ

โดยมีเป้าหมายที่จะตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีสินค้าหรือบริการที่มารองรับ หรือเป็นความต้องการที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการต่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต ในการทำงาน หรือในการทำธุรกิจ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นปัญหากวนใจ ที่ยังไม่มีใครนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาให้

หรืออาจเป็นความต้องการที่จะได้ใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่ผลิตภาพหรือประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ทำให้สามารถแบ่งประเภทของ สตาร์ทอัพ ได้เป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เช่น เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน หรือ เป็นเทคโนโลยีที่ต้องการคิดค้นใหม่ และตามลักษณะของความต้องการว่า เป็นความต้องการที่เกิดในตลาดที่มีอยู่แล้ว หรือมุ่งไปที่การคาดการณ์ความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นใหม่

กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มุ่งไปที่การพยายามนำเทคโนโลยีใหม่หรือคิดค้นเทคโนโลยีขึ้นใหม่ เพื่อนำไปสู่กลุ่มเป้าหมายในตลาดใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ต้องมีพื้นฐานอย่างดีทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และเรื่องของการพยากรณ์ตลาด จำเป็นที่จะต้องมี นักวิจัย หรือนักวิชาการ ร่วมอยู่ในทีม

กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่พยายามนำเทคโนโลยีใหม่ ไปใช้ในตลาดเดิมที่มีอยู่แล้ว มักจะประกอบด้วย ผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เป็นนักประดิษฐ์คิดค้น หรือเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นต้น

กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มุ่งการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปใช้สร้างความต้องการให้กับตลาดที่ยังไม่เกิดขึ้น มักจะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มีความชำนาญหรือประสบการณ์ด้านการตลาดที่ช่ำชอง เป็นผู้นำทีม

กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่นำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว นำไปใช้ในตลาดเดิมที่มีอยู่แล้วเช่นกัน ได้แก่ กลุ่มสตาร์ทอัพทั่วไป ที่มักจะพบกันได้โดยทั่วไป อาศัยการมีไอเดีย หรือความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ออกไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิม

การพยายามแบ่งประเภทของสตาร์ทอัพ จะมีประโยชน์ในการติดต่อ สื่อสาร หรือ สนับสนุน ธุรกิจของสตาร์ทอัพ ได้ตรงกับ คุณลักษณะ บุคลิก ความสนใจ และเป้าหมายทางธุรกิจ ของสตาร์ทอัพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น