'ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข…ภูมิใจเรียนรู้…ประวัติศาสตร์ไทย' โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี

'ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข…ภูมิใจเรียนรู้…ประวัติศาสตร์ไทย' โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี

คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับ มีนาคม 2567 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข…ภูมิใจเรียนรู้…ประวัติศาสตร์ไทย" เขียนโดย "ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี"

สวัสดีเดือนมีนาคม คนไทยสร้างพลังรักและความสามัคคี รักชาติบ้านเมือง ซึ่ง "ความรักชาติ" เป็นความรู้สึกฝังลึกและผูกพันอย่างแน่นแฟ้นในใจคนไทยทุกคน เป็นความรู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกัน มีความรู้สึกผูกพัน เพราะเป็นแผ่นดินที่เรารักมากที่สุด

ความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศไทยรักษาเอกราชมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะบูรพมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงเสียสละกำลังพระวรกาย พระราชทรัพย์ กำลังสติปัญญา และพระปรีชาสามารถในด้านต่าง ๆ ส่งต่อรัชกาลต่อรัชกาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมือง และประชาชนของพระองค์ท่าน

ชาติไทยเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน และเต็มไปด้วยตำนานอันน่าภาคภูมิใจอยู่ทั่วผืนแผ่นดิน รักษาความภูมิใจในความเป็นคนไทยในความเป็นชาติไทย ความศรัทธาที่เข้าถึงได้แต่ทำลายไม่ได้ 

วันนี้ "ธันย่า" เชิญทุกคนมาภูมิใจด้วยการเรียนรู้ความเข้มแข็ง ประวัติศาสตร์ไทย ผ่านพิพิธภัณฑ์ศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ความเป็นชาติ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบันที่น่าค้นหา มีหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เอกสารมรดกไทย-เอกสารมรดกโลก เอกสารวัตถุโบราณ กำไลสำริด ภาชนะดินเผา หินดุดินเผา ลูกกลิ้งดิน ไหโบราณ ผืนผ้าประดับทองคำ ในผืนแผ่นดินถิ่นอาศัย ผ่านกาลเวลาที่ยาวนานกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงพลเมืองผ่านการมีส่วนร่วม ตามหลักวิถีไทย ดำรงไว้ซึ่งความสามัคคี

เริ่มกันที่ความงดงามของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนแห่งแรกของไทยที่จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของประเทศไทย ทั้งเทวรูปโบราณ เครื่องประกอบการพระราชพิธีต่างๆ และพระพุทธรูป ปัจจุบันพิพิธภัณสถานแห่งชาติ พระนคร มีการจัดแสดงวิวัฒนาการของศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย ลำดับตามยุคสมัย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จวบจนรัตนโกสินทร์ สามารถใช้เวลาทั้งวันเดินชมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ เครื่องดนตรีโบราณ เครื่องแต่งกายและผ้าโบราณ และเครื่องไม้จำหลัก หากมีเวลาจำกัด หยิบแผนที่ห้องจัดแสดงจากประตูทางเข้า แล้ววางแผนเลือกชมตามอาคารที่ต้องการ

ต่อมาคือ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ในอาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณสี่แยกผ่านฟ้า สถาบันพระปกเกล้าได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ภาพถ่าย เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเอกสารและข้อมูลที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 7 ผ่านพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ที่ได้รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7 หาดูได้ยาก รวมทั้งจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของรัชกาลที่ 7 องค์ปฐมกษัตริย์ระบบประชาธิปไตยของไทย และได้มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการอธิบายและนำชม เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทย และประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดแสดงงานหัตถศิลป์จากผ้าอันทรงคุณค่าของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองต่างๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์การทอผ้าของไทย ให้คงอยู่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ 

นอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอีกหลายแห่งที่รอให้ทุกคนไปเปิดประวัติศาสตร์ไทย

แล้วพบกับธันย่า "ทฤษฎีแห่งความสุข" ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนใน "กรุงเทพธุรกิจ" ฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์