ธุรกิจครอบครัว ประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ให้ราบรื่น ยั่งยืน

ธุรกิจครอบครัว ประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ให้ราบรื่น ยั่งยืน

การสร้างความยั่งยืนให้กับ "ธุรกิจครอบครัว" ตามแนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" ต้องประยุกต์ใช้อย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้

กรอบแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง คือมุ่งให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จะได้มีชีวิตที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเริ่มต้นจากการนำความรู้ความสามารถ ทักษะหรือศักยภาพที่ตนมีมาประกอบอาชีพหรือประกอบธุรกิจตามกำลังความสามารถ และค่อยๆ พัฒนากิจการให้เจริญเติบโตอย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน โดยไม่ลงทุนเกินตัว หรือเกินกำลังความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ทั่วโลกประสบ วิกฤติเศรษฐกิจ การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี จะเป็นการบริหารความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เพราะทำให้มีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ฉะนั้น การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว ด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ 

การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้ประกอบการควรเริ่มต้นจากการสำรวจเพื่อทบทวนสภาพธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจครอบครัว ที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นมีผลประกอบการเช่นใด กิจการสามารถเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ มีการขยายกิจการที่หลากหลายเกินกว่าความสามารถที่จะรับผิดชอบหรือไม่ ธุรกิจครอบครัวมีการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีเพื่อบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ หรือไม่ ตัวอย่างเช่น มีการจัดการทางการเงิน อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt Ratio) มีการบริหารจัดการที่นำไปสู่การสร้างความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ให้กับทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจ นวัตกรรมของสินค้า/บริการที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการ เช่น ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คนในชุมชนทั้งใกล้และไกล เป็นต้น  

ดังนั้น ในการประยุกต์ใช้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดผลสำเร็จ สมาชิกของ ธุรกิจครอบครัว ควรจะมีกรอบความคิด (Growth Mindset) ที่ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะได้มีการระเบิดจากข้างใน ทำให้มุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรพอเพียงที่ส่งเสริมให้มีการดำเนินงานในทางสายกลาง พอประมาณ มีเหตุมีผล สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับธุรกิจครอบครัวเป็นลำดับขั้นตอน บูรณาการความร่วมมือกับคนในองค์กรทุกระดับอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ เพื่อ "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา" โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รอบคอบ ระมัดระวัง คำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด ยึดมั่นในความรู้คู่คุณธรรม ซื่อสัตย์ อดทน ซึ่งล้วนเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่แท้จริง

ปัจจัยสู่ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวที่ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วัฒนธรรมความพอเพียง ปลูกฝังให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวใช้แนวทางในการประกอบธุรกิจหรือใช้ชีวิตร่วมกันอย่างพอเพียง คำนึงถึงความพอประมาณ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีเหตุมีผล ให้ความสำคัญกับความรู้และความรอบรู้ มีวินัยทางการเงิน อดออม ยึดมั่นในคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่น อดทน รอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตอย่างสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

กรอบความคิดในการปรับตัวเพื่อฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว (Resilience Mindset) เพื่อให้ ธุรกิจครอบครัว พร้อมปรับตัวรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง ทันท่วงที โดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ทำให้สามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบปัญหาด้านยอดขาย ธุรกิจครอบครัวต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น แสวงหา/พัฒนาสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอให้แก่ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ อยากกลับมาใช้บริการของธุรกิจครอบครัวต่อไป 

การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น สนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวมีการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม หรือเป็นธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ของโลก/ผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวมีความยืดหยุ่น สามารถรับมือกับผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม 

การเสริมสร้างคุณธรรมให้แก่สมาชิกในธุรกิจครอบครัว เช่น ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมในตนเองให้มี ความพอเพียง ทั้งในด้านวัตถุและด้านจิตใจ ได้แก่ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทน อดกลั้น คำนึงถึงผลประโยชน์ของธุรกิจครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวอยู่ร่วมกันด้วยความดี ความถูกต้อง และเป็นธรรม ทำให้สมาชิกของธุรกิจครอบครัวพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี มีแรงบันดาลใจที่จะทำงานเพื่อธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มกำลัง ทำให้สมาชิกของ ธุรกิจครอบครัว อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข มีความรัก ความผูกพันในธุรกิจครอบครัวและสมาชิกของครอบครัว พร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่ละทิ้งธุรกิจครอบครัวไปประกอบอาชีพอื่น ทำให้สามารถส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะเป็นผลให้ธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 

หลักของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังนี้

  • ห่วงที่ 1 พอประมาณ ยึดหลักความพอดี ได้แก่ การประกอบธุรกิจครอบครัว หรือการใช้ชีวิตของสมาชิกครอบครัวจะใช้สติปัญญาในการพิจารณาความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้การตัดสินใจตั้งอยู่บนพื้นฐานความไม่ประมาท ไม่หลงไปกับกระแสวัตถุนิยม ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่ใช้จ่ายเกินตัว หรือใช้เงินไม่คุ้มค่า เพื่อให้ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" จะได้สร้างความเข้มแข็งและความสมดุล มั่นคง ยั่งยืนให้แก่ธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม
  • ห่วงที่ 2 มีเหตุผล ยึดหลักความมีเหตุผล ทำให้การคิดและการปฏิบัติมีหลักในการพิจารณาตัดสินใจจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อให้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัด ส่งผลให้การตัดสินใจในธุรกิจครอบครัวจะคำนึงถึงประโยชน์ของธุรกิจครอบครัวและสมาชิกของครอบครัวเป็นหลัก 
  • ห่วงที่ 3 มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ยึดหลักการบริหารความเสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จะได้พร้อมปรับตัวรับมือกับปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงอย่างใช้สติและปัญญา โดยไม่หวั่นเกรงปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เพื่อให้การประกอบธุรกิจครอบครัวเป็นไปในทิศทางของการสร้างความสมดุลและความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว รวมทั้งการสร้างความสมดุลและความยั่งยืนของทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development: SD) และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

ทั้งนี้ การบ่มเพาะทายาทธุรกิจครอบครัว ให้ซึบซับการใช้เงื่อนไขความรู้และคุณธรรม เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นลูกหลานได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ ทักษะในการประกอบธุรกิจที่สร้างสรรค์ ฯลฯ ในรูปแบบของ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เป็นไปในทิศทางของการเจิญเติบโตอย่างสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นอกจากนั้น เพื่อให้ทายาทธุรกิจเติบโตอย่างงดงาม ควรส่งเสริมให้ ทายาทธุรกิจ มีคุณธรรมประจำใจ เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน พร้อมสร้างครอบครัวให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และในขณะเดียวกันก็มีความรัก ความผูกพันต่อธุรกิจครอบครัว พร้อมสืบทอดสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ธุรกิจครอบครัวเพื่อส่งต่อให้แก่คนในรุ่นต่อไป…จากรุ่นสู่รุ่น