'ทฤษฎีแห่งความสุข' โดย 'ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี'

'ทฤษฎีแห่งความสุข' โดย 'ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี'

พบกับคอลัมน์เรื่องราว "ทฤษฎีแห่งความสุข" ในทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่สองของเดือน เขียนโดย "ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี"

ข่าวสารในปัจจุบันเดินทางถึงมือผู้รับสารอย่างรวดเร็ว ข่าวอาชญากรรม ข่าวการเมือง ข่าวปัญหาสังคมเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ข่าวความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความเครียด ความหดหู่ และความกังวลต่อเหตุการณ์นั้นๆ จนเป็นที่มาของความเครียดในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "การสร้างสมดุลให้ชีวิต" จึงกลายเป็น "หัวใจสำคัญ" ที่ทำให้เราสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างเข้มแข็ง และ "ความสุข" เป็นสารตั้งตนของพลังงานบวกที่จะทำให้เราสามารถออกไปใช้แรงกายแรงใจในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังสามารถถ่ายทอดส่งต่อให้ผู้อื่น เพื่อสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง และสังคมที่ดีได้ ท่ามกลางภัยและความวุ่นวายต่างๆ ที่รายล้อมเราทุกวัน 

"ธันย่า" อยากให้คนไทยมีความสุข เพื่อการมีสมดุลในชีวิต การสร้างค่านิยมแบบมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมสู่หลักนโยบายยั่งยืน จึงเกิดเป็นที่มาของคอลัมน์ ทฤษฎีแห่งความสุข (Theory of Happiness) ที่อัจฉริยะตลอดกาล อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขียนลงกระดาษจดของโรงแรมอิมพีเรียลในกรุงโตเกียวเมื่อปี ค.ศ.1922 มีใจความว่า "ชีวิตที่เรียบง่ายและเงียบสงบ จะนำความสุขมาให้ยิ่งกว่าการไล่ติดตามความสำเร็จ รวมทั้งความกังวลทั้งหลายที่มากับมันตลอดเวลาด้วย" ซึ่งธันย่าจะมาแบ่งปันข่าวที่เปี่ยมสาระดีๆ หรือเรื่องราวที่ทำให้ผู้คนยิ้มตามหรือผ่อนคลายจากความตึงเครียด พร้อมนำเสนอแนวคิด ความรู้กับทุกคนในหน้า หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่สองของเดือน กับเรื่องราวหลากหลายแง่มุมแห่งความสุขจากประสบการณ์ ทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม ความงดงามของผ้าไทย รวมไปถึงแง่มุมวิถีการใช้ชีวิต ที่มุ่งหวังสะท้อนเรื่องราวที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ สร้างสุขให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้อ่าน สะท้อนเป็นรอยยิ้มส่งต่อสู่ผู้คนรอบข้าง

ประเดิมเปิดเรื่องแรกกับเรื่องราวปีติสุขใจของศิลปะการแสดงโขนของไทย หรือ โขนไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากยูเนสโกเป็นลำดับแรกของไทย เมื่อปี พ.ศ.2561 ในบัญชี "Khon, masked dance drama in Thailand" (การแสดงโขนในประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากยูเนสโก 3 สิ่ง ได้แก่ โขน นวดไทย และโนรา ถือเป็น Soft Power ที่น่าภาคภูมิใจของชาวไทย 

เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้ด้วยการจัดการแสดงโขน ตอน กุมภกรรณทดน้ำ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2566 

การแสดง โขน ที่วิจิตรงดงามนี้รวบรวมองค์ความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ทั้งโขน ละคร ดนตรี คีตศิลป์ มารวมกันเพื่อการแสดงที่ยิ่งใหญ่แห่งปี เพื่อให้คนไทยได้เห็น และสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมแบบประเพณีโบราณตามจารีตดั้งเดิม ยังทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ การแสดงศิลปะชั้นสูงโดยนักแสดงมากฝีมือ พร้อมเครื่องประกอบฉากอันวิจิตร แต่กว่าจะออกมาเป็นผลงาน โขนพระราชทาน ในแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเตรียมการนานนับปี และมีการฝึกฝนอย่างหนัก ทีมนักดนตรีล้วนเป็นผู้ชำนาญดนตรีไทยทั้งระดับครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ที่ผ่านการฝึกจนเชี่ยวชาญเพราะเป็นการบรรเลงสดประกอบการแสดง พัสตราภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ มีการจัดซ่อมและสร้างใหม่ให้คงความสมบูรณ์อยู่เสมอทั้งเสื้อผ้าและหัวโขน แม้แต่ด้านเนื้อหาก็ยังปรับปรุงให้กระชับขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยศาสตร์และศิลป์ในแขนงต่างๆ เพื่อเป้าหมายทำให้โขนกลับมาได้รับความนิยมจากประชาชน 

การแสดงโขนพระราชทาน ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการฟื้นฟูนาฏศิลป์เก่าแก่ให้คงอยู่สืบไปเท่านั้น แต่ได้พลิกฟื้นงานฝีมือช่างหัตถศิลป์หลายสาขา อาทิ การทอผ้ายก การปักลายทองบนผ้า การทำหัวโขน การทำฉาก การแกะสลักและเขียนภาพ กระทั่งการแต่งหน้าตัวโขนให้เหมาะกับการแสดงบนเวทีแบบสมัยใหม่ ผลได้ที่ตามมาก่อให้เกิดช่างฝีมือรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจศิลปะแบบจารีตจำนวนมาก  

นับเป็นความโชคดีของคนไทยและประเทศไทย ที่มีศิลปะอันทรงคุณค่าเพื่อจรรโลงจิตใจคนไทย ทั้งยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างสังคมแข็งแกร่ง เมื่อรากฐานทางเศรษฐกิจดี ปัญหาสังคมก็จะลดลง ครอบครัวก็จะเข้มแข็ง เด็กและสตรีไทยก็มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ได้มีโอกาสทำงานที่ดี ได้อยู่ในครอบครัวที่ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เปิดการแสดงรอบแรก ธันย่า อิ่มเอมใจที่ได้เห็นผู้เข้าชมเต็มทุกที่นั่ง และระหว่างรอเข้าชมการแสดง ยังมีสินค้าจำหน่ายทั้งสินค้าที่ระลึกจากการแสดง และสินค้าจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ใครยังไม่มีบัตร รีบจองด่วน ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ธันย่าอยากแบ่งปัน ในวันนี้ขอส่งท้ายด้วย สถาบันพระปกเกล้า ขอเชิญร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 ถวาย ณ วัดชัยชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. (พร้อมกันภายในพระอุโบสถ)