EXIM BANK ลุย CSR สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ “สตรีกลุ่มเปราะบาง” ครบวงจรตั้งแต่ผลิตสู่การส่งออก

EXIM BANK ลุย CSR สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ “สตรีกลุ่มเปราะบาง” ครบวงจรตั้งแต่ผลิตสู่การส่งออก

EXIM BANK ลุย CSR สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ “สตรีกลุ่มเปราะบาง” ครบวงจรตั้งแต่ผลิตสู่การส่งออก

ประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) เป็นกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของภาคธุรกิจที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ให้ความสำคัญ โดยสาระสำคัญประกอบด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Protect) การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) และการเยียวยา (Remedy) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ภายใต้บทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็ก จึงนำเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน การออกผลิตภัณฑ์ การให้บริการ การรับฟังเสียงของลูกค้าอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ  เพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงานภายในองค์กร คู่ค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน สร้างประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและสังคมภายใต้แนวคิด Human Right In Process ต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แนวทางการบริหารของ EXIM BANK คือ People before Profit ตามหลักการ 4P (People, Planet, Productivity, and Profit) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยด้าน People “คนเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนา” ไม่ใช่แค่คนในองค์กร แต่ยังรวมถึงลูกค้า ผู้ประกอบการ พันธมิตร และที่ขาดไม่ได้คือ “ชุมชนที่เราอยู่” สำหรับพนักงานของ EXIM BANK มีสวัสดิการ Flexi Benefit เป็นสวัสดิการเท่าเทียม ที่ยึดหยุ่น ปรับได้ตามความต้องการของพนักงานแต่ละคนและแต่ละครอบครัว นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด สถานะใดก็ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่แบ่งแยกเพศ ศาสนา และไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ EXIM BANK เป็น Empathic Workplace ภายใต้แนวคิด “Diversity & Inclusion”

EXIM BANK ลุย CSR สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ “สตรีกลุ่มเปราะบาง” ครบวงจรตั้งแต่ผลิตสู่การส่งออก

ภารกิจของ EXIM BANK ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance : ESG) บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ผ่านการให้สินเชื่อและการระดมทุน โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อ EXIM Green Start สินเชื่อ SLL ของ Sustainability Linked Loan สินเชื่อ Solar Orchestra และสินเชื่อ EXIM Solar D-Carbon Financing  และการระดมทุนผ่านการออก Green Bond และ SME Green Bond รวมทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาทตามกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์สู่การเป็น Green Development Bank และเน้นย้ำถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์สีเขียวของ EXIM BANK ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนหรือการให้สินเชื่อเกี่ยวข้องกับ “การเคารพสิทธิมนุษยชน” โดยมีส่วนช่วยสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้ดีขึ้นช่วยให้มวลมนุษยชาติ สามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เขียวขึ้น สะอาดขึ้น น่าอยู่และปลอดภัยมากขึ้น อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกชีวิตพึงจะต้องมีเป็นลำดับต้น ๆ ของชีวิต

EXIM BANK ลุย CSR สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ “สตรีกลุ่มเปราะบาง” ครบวงจรตั้งแต่ผลิตสู่การส่งออก

EXIM BANK ลุย CSR สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ “สตรีกลุ่มเปราะบาง” ครบวงจรตั้งแต่ผลิตสู่การส่งออก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ไม่เพียงแต่นำเอา Human Right In Process มาใช้ในการทำงาน แต่ได้นำมาใช้ในการกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการ CSR in Process ของธนาคารด้วย โดยนำเครื่องมือ “เติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุน” เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอด และเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพตลอดห่วงโซ่การส่งออก ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่าง ๆ ตัวอย่างโครงการ CSR ของ EXIM BANK คือ การจัดพื้นที่ให้ร้านกาแฟยิ้มสู้ ภายใต้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มาจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมที่ผลิตโดยผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และการดูแลกลุ่มเปราะบางที่มีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองเมื่อพ้นโทษแล้ว

“หลายองค์กรเลือกทำโครงการ CSR ปลูกป่าช่วยลดโลกร้อน ซึ่งต้องใช้กำลังคนไปดูแล ถ้าไม่มีคนไปคอยรดน้ำ ให้อยู่ไปตามธรรมชาติ ก็จะล้มตายไป ในขณะที่กลับมาดูตัวเลขของจำนวนผู้ต้องขังในทัณฑสถานทั่วประเทศ ตามสถิติมีผู้พ้นโทษแต่อีกไม่นานก็กลับไปเป็นผู้ต้องขังใหม่ถึง 50% เนื่องจากออกมาแล้วไม่มีงานทำหรือสังคมไม่ให้โอกาส สถิติของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (Kenan Foundation Asia) พบว่า หากมีการบ่มเพาะความรู้ ฝึกอาชีพ จะช่วยให้อัตราการกลับไปเป็นผู้ต้องขังอีกลดลงเหลือ 35% ถ้าทุกคนทุกองค์กรช่วยกันทำให้อัตรานี้ลดลงเหลือ 0% ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากและจะแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

EXIM BANK จึงได้ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียและทัณฑสถานหญิงกลาง ริเริ่ม “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบาง” ขึ้น เพื่อคืนคนดีให้สังคม สร้างโอกาส พัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบาง ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการสตรีในชุมชนรอบ EXIM BANK ในเขตพญาไทและเขตจตุจักร รวมถึงผู้ต้องขังสตรีที่ใกล้พ้นโทษจากทัณฑสถานหญิงกลาง ให้สามารถพึ่งพาตนเองสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพ และเชื่อมโยงไปสู่ตลาดการส่งออกในอนาคต และได้ร่วมกับลูกค้า EXIM BANK รวม 5 องค์กรคือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรีเหล่านี้ไปใช้ในกิจการ

นางระพีพันธ์ หิมะคุณ เจ้าพนักงานราชทัณฑ์อาวุโส ดูแลฝึกอาชีพผู้ต้องขังหญิง ทัณฑสถานหญิงกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ร้านชวนชมซึ่งเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ต้องขังหญิงในส่วนของการฝีมือขายได้เดือนละ 3 แสนบาท มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่ทัณฑสถานนำมาฝึกฝีมือ ฝึกอาชีพ 190 คน มีการแบ่งปันผลประโยชน์เป็นไปตามกฎหมายคือ 50% ของกำไรสุทธิที่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เงินเหล่านี้จะสะสมไว้เป็นเงินทุนสำหรับผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษและไปประกอบอาชีพ ปัจจุบันสินค้ามีจำหน่ายที่เพจผลิตภัณฑ์ทัณฑสถาน ในเว็บไซต์ และในแพลตฟอร์ม Shopee ซึ่งมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาซื้อจากแพลตฟอร์มออนไลน์ และมียอดสั่งซื้อจากส่วนราชการและเอกชนที่ต้องการนำสินค้าไปใช้

นางระพีพันธ์ กล่าวว่า ผู้ต้องขังสามารถที่จะส่งสินค้าไปต่างประเทศได้ หากสังคมให้โอกาส ก็จะมีชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ เป็นการนำคนดีกลับคืนสู่สังคม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปัจจุบันสังคมเมืองและสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงมีความสามารถที่หลากหลาย โครงการ CSR ที่ให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพจะช่วยเสริมสร้างและหล่อหลอมให้เกิดคนดีที่มีความคิด ประกอบอาชีพสุจริต ขอบคุณคีนันและ EXIM BANK ที่นำสิ่งดี ๆ มาให้คนเหล่านี้ ทำให้หลายครัวเรือนมีงานทำและมีรายได้จุนเจือครอบครัว

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการทำ CSR อยู่แล้ว การเข้าร่วมรับซื้อสินค้าจากสตรีกลุ่มเปราะบางถือเป็นการคืนคนดีให้กับสังคม เป็นการคืนกำไรให้กับสังคมทางหนึ่ง คืนความสุขให้กับพนักงาน คืนกำไรให้กับผู้ถือหุ้นด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญและทำให้เรามีส่วนพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน 

นายวสุ กลมเกลี้ยง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราสนับสนุนโครงการของ EXIM BANK เพราะเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังให้มีอาชีพและสามารถกลับเข้ามาสู่สังคมได้ ปกติบริษัททำ CSR ต่อเนื่องด้วยการส่งเสริมอาชีพให้แก่ชุมชนด้วยการให้ปลูกผักใต้แผงโซลาร์เซลล์อยู่แล้ว แต่โครงการนี้เป็นการสร้างงาน สร้างอนาคตให้โอกาสกับคน เป็นโครงการที่ดีมาก จึงอยากสนับสนุน

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ของ EXIM BANK จะบ่มเพาะกลุ่มสตรีเปราะบางให้มีความรู้ในการทำธุรกิจ การวางแผน การทำบัญชี การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งการเขียนโมเดลธุรกิจ เพื่อจะได้เข้าใจองค์ประกอบของธุรกิจ และนำไปสู่การต่อยอดหรือหาเงินทุนสำหรับขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งวิธีการสร้างงานสร้างอาชีพจะช่วยให้ผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษมีอาชีพ มีรายได้ เป็นการสนับสนุนอย่างยั่งยืนที่ดีที่สุด

จากความมุ่งมั่นในการนำเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการองค์กรและปฏิบัติงานในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทานร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกโดยรวมไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ EXIM BANK ได้รับรางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น ประจำปี 2566”  ประเภทองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นับเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ในสังกัดกระทรวงการคลังแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลในปีนี้