กรมควบคุมโรค จับมือ MP Group ตรวจคัดกรองไวรัสซิก้าในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จ.จันทบุรี

กรมควบคุมโรค จับมือ MP Group ตรวจคัดกรองไวรัสซิก้าในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จ.จันทบุรี

กรมควบคุมโรค ร่วมกับบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MP Group ออกหน่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสซิก้า ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จังหวัดจันทบุรี มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

เมื่อวันที่ 25 - 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดจันทบุรี และสำนักงานสาธารณสุข อำเภอเมืองและอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MP Group ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก ในพื้นที่ระบาด โดยตรวจคัดกรอง ไวรัสซิก้า ในหญิงตั้งครรภ์ ที่เทศบาลเมืองท่าช้าง โรงพยาบาลท่าใหม่ และโรงพยาบาลสองพี่น้อง พร้อมทั้งให้ข้อมูลกับหญิงตั้งครรภ์ ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยใช้เครื่องตรวจ STANDARD M10 ที่สามารถตรวจหาเชื้อ Arbovirus ซึ่งเป็นเชื้อที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรคได้ถึง 5 เชื้อในคราวเดียวกัน ได้แก่ เชื้อไวรัสเดงกี่ ที่ก่อให้เกิด โรคไข้เลือดออก เชื้อไวรัสซิก้า เชื้อชิคุนกุนยา เชื้อไข้เหลือง และเชื้อไข้เวสต์ไนล์ 

กรมควบคุมโรค จับมือ MP Group ตรวจคัดกรองไวรัสซิก้าในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จ.จันทบุรี

แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ของการมีผู้ป่วย โรคไข้เลือดออก และ ไข้ซิก้า เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกรณีการติดเชื้อ ไวรัสซิก้า ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสซิก้ามากถึง 30 ราย และติดเชื้อจริงๆแล้วกว่า 5-6 ราย เพราะฉะนั้น ถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องตรวจวินิจฉัยและทำการป้องกัน ควบคุมเชิงรุก เพราะเชื้อดังกล่าวมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เด็กที่เกิดมามีความผิดปกติ ศีรษะเล็ก กระทบต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเขาในอนาคต เราอยู่ในสถานการณ์ตอบโต้ต่อภาวะฉุกเฉินที่เรียกว่า EOC ทางผู้บริหารกรมควบคุมโรค จึงให้คิดค้นวิธีการตรวจวินิจฉัยให้เร็ว โดยใช้เครื่องตรวจเทคโนโลยี Fast-track Multiplex Real-time PCR Arbovirus panel ที่ โดยใช้เวลายืนยันผลในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น 

แพทย์หญิงฉันทนา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อก่อนหากสงสัยว่าจะป่วยเป็นไข้ซิก้า เราจะต้องเจาะเลือดส่งตรวจ ซึ่งใช้เวลานานมาก นานจนกระทั่งผู้ป่วยหายป่วยแล้วกลับไปทำงาน เราถึงได้รู้ จึงทำให้พลาดช่วงเวลาสำคัญของการควบคุมโรคไป เพราะการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงลาย เราจะมีวงจรของการควบคุมอยู่ว่า ถ้าเจอผู้ป่วยวันนี้ แล้วยุงกัดเขาประมาณ 7 วัน ยุงก็พร้อมที่จะไปกัดคนอื่นและแพร่เชื้อต่อได้ ส่วนคนที่โดนกัดอีกประมาณ 7 วัน ก็จะเริ่มป่วย เราก็จะมีวงจรจากคนไข้ 1 คน และต้องดูแลไปอีก 28 วัน แต่ต้องเริ่มทันที หากรู้ผลหลังวันที่ 28 ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปควบคุมป้องกัน เพราะยุงได้ไปกัดคนไข้และแพร่กระจายไปหมดแล้ว หรือถ้าจะพยายามทำจะต้องทำเป็นวงกว้างมาก ใช้ทรัพยากรเยอะมาก และมีคนเสี่ยงเพิ่มขึ้น

กรมควบคุมโรค จับมือ MP Group ตรวจคัดกรองไวรัสซิก้าในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จ.จันทบุรี

"นโยบายของทางผู้บริหารบอกว่าจะต้องทำให้ไวขึ้น เราก็มาดูว่านอกจากการส่งตรวจเลือดแบบปกติ แบบเดิมที่เราทำสามารถทำอะไรได้อีก ทาง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็มีชุดตรวจ Zika IgM ซึ่งหลังจากโควิดก็กลับมาผลิตใหม่เพราะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทางกองแมลงฯ ก็ได้นำชุดตรวจ Zika IgM มาใช้ ซึ่งเป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน แปลว่าต้องใช้ระยะเวลาหลังจากการติดเชื้อ ค่าจึงขึ้นมา แต่เรายังไม่ได้ตรวจเชื้อโดยตรง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีอีกเทสเข้ามาตรวจคู่กัน ก็พอดีกับการที่บริษัทฯ ได้พัฒนาชุดตรวจ PCR เรียกว่าเป็น PCR 5 โรค ก็จะมีไข้เลือดออก ซึ่งตรวจได้ 4 สายพันธุ์ เชื้อไวรัสซิก้า เชื้อชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และไข้เหลือง ทำให้เราสามารถได้ผลเร็วขึ้น ชั่วโมงเดียวก็ทราบแล้ว ซึ่งจะมีผลประโยชน์คือ ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที"

แพทย์หญิงฉันทนา กล่าวต่อไปอีกว่า ทางผู้บริหารของ กรมควบคุมโรค ได้มีนโยบายว่า การลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เป็นการทดสอบดูว่า ถ้าเจอเหตุการณ์การระบาดของ เชื้อไวรัสซิก้า อีก เราก็ไปตรวจ IgM คู่กับ RT-PCR ซึ่งเป็นผลดีต่อการดูแลคนไข้และชุมชน นอกจากนั้นยังมีนโยบายกระจายชุดตรวจให้กับทางพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย 

กรมควบคุมโรค จับมือ MP Group ตรวจคัดกรองไวรัสซิก้าในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จ.จันทบุรี

นอกจากนี้ ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ยังได้มีการนำเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลกับหญิงตั้งครรภ์ในการดูแลตัวเอง พร้อมทั้งแนะให้ตรวจอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ แม้ไม่มีอาการติดเชื้อก็ตาม เนื่องจากผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการชัดเจนเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนมากไม่แสดงอาการ และผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาจจะพบทารกผิดปกติได้เช่นเดียวกัน 

หากสงสัยว่าจะติดเชื้อ ไวรัสซิก้า ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422 และหากหน่วยงานใดสนใจเครื่องมือตรวจคัดกรอง ติดต่อได้ที่ไลน์ @mpgroupthailand หรือโทร. 02 538 0559

กรมควบคุมโรค จับมือ MP Group ตรวจคัดกรองไวรัสซิก้าในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จ.จันทบุรี