มหาสารคาม คุมเข้ม สั่ง “งดกินข้าวร่วมกัน” สกัดคลัสเตอร์โควิด
จังหวัดมหาสารคามประกาศ ให้ประชาชน “งดทานอาหารร่วมกัน” ในกิจกรรมทางสังคมและสถานที่ทำงาน ฝ่าฝืน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
สืบเนื่องจากขณะนี้เกิดการระบาดของคลัสเตอร์โควิด-19 ในจังหวัดมหาสารคาม จากการรวมกลุ่มสังสรรค์ในงานต่างๆ และการทานอาหารร่วมกันในสถานที่ทำงาน ล่าสุดจึงมีการเผยแพร่คำสั่งให้ งดทานอาหารร่วมกัน ผ่านประกาศเรื่อง "การงดรับประทานอาหารร่วมกันในกิจกรรมทางสังคม และสถานที่ทำงาน" ลงนามโดย นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม และ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 4 ก.พ.65 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.65 รายละเอียดประกาศดังนี้
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน (Omicion) ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น และปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามมีผู้ติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19 ) เป็นคลัสเตอร์จำนวนมากเกิดจากกิจกรรมการรวมกลุ่มและมีการรับประทานอาหารร่วมกัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2565 และ(ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ให้ออกประกาศจังหวัดมหาสารคาม มีรายละเอียดดังนี้
ให้ประชาชนงดรับประทานอาหารร่วมกัน ในกิจกรรมการประชุม การสัมมนา การจัดกิจกรรมทางศาสนา งานศพ งานบวช งานแต่ง การจัดงานบุญ งานประเพณี รวมถึง การงดรับประทานอาหารร่วมกันในสถานที่ราชการ สถานที่ทำงาน และสถานประกอบการ
เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มีความผิดตามมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 34 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป