"เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้ผ้าไทยสู่สากลที่มหาสารคาม
"เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผ้าไทยจากสีย้อมธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน ในงานเสวนาวิชาการ "การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล" ที่จังหวัดมหาสารคาม
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น พร้อมพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยองค์ความรู้ใหม่ซึ่งบรรจุอยู่ใน หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย หรือ "Thai Textiles Trend Book Spring / Summer 2022 เล่มแรก" ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น และทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร ทรงค้นคว้าองค์ความรู้ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เอง
หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยฯ เล่มแรก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อเนื่องมาถึงเล่มที่ 2 ได้แก่ Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022-2023
ในการนี้ "เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ได้เสด็จไปทรงเปิดงาน "Thai Textiles Trend Book Autumn / Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ" ซึ่งจัดโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ และทรงเป็นประธานในงานเสวนาวิชาการ ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน
และเพื่อเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และงานดีไซน์ ในระดับภูมิภาค ได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ผ้าไทย จึงมีการจัดงานเสวนาวิชาการหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 หรือ Thai Textiles Trend Book Autunm/Winter 2022-2023 อีกครั้ง ณ จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ม.ค.2565
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงเป็นประธานงานเสวนาวิชาการที่ จ.มหาสารคาม
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นประธาน งานเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย โดย 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำ รวมถึงการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพ และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
โดยมี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, สมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน, เกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ/นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน, รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข้าราชการ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เฝ้าฯ รับเสด็จ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ขณะทรงร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาวิชาการ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงมีพระราชดำรัสในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” เกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กเล่มที่ 2 ที่นำเสนอ กลุ่มโทนสีใน 6 ทิศทางหลัก ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนาผ้าไทยในตลาดยุคปัจจุบัน มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า
เทรนด์บุ๊กเล่มแรกประสบความสำเร็จมาก ในแง่ของผลตอบรับ อุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดควากระปรี้กระเปร่าในการผลิต เกิดกระแสและพลังงานที่ดีในการออกแบบ ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนา ทั้งเรื่องสีและองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้สึกปลาบปลื้มที่มีหนังสือวิชาการด้านแฟชั่นอย่างจริงจัง ในการนำไปใช้ทำการเรียนการสอน หรือใช้ประกอบอาชีพ หนังสือเล่มนี้สีสวย ครบรส และจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
“เล่มแรกได้แนะนำเรื่องลวดลายผ้าเป็นหลัก สำหรับเล่มที่ 2 คอลเลกชั่น Autumn / Winter 2022-2023 หรือเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวนี้ เน้นนำเสนอเกี่ยวกับโทนสีและใช้วัสดุย้อมสีจากธรรมชาติ ลดการใช้สีเคมี ดีต่อคนและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า 'Circular Colours' ซึ่งกำลังเป็นแทนด์โลก
พอเรานำมาใช้ จะเรียกว่า Circular Thai ด้วยวัสดุย้อมสีทีมีในท้องถิ่น โดยเฉพาะ คราม ซึ่งเป็นสีย้อมเย็น ที่ทั่วโลกมีการใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย เพียงแต่เฉดสีอาจแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ
สำหรับบ้านเรา ครามถือเป็นราชาแห่งการย้อม (King of Dye) และเป็นหัวใจของสีย้อมเลยก็ว่าได้ เมื่อนำไปผสมผสานกับวัสดุย้อมธรรมชาติต่างๆ เช่น ผสมกับ ครั่ง, เข, ดาวเรือง, ประดู่, เปลือกมะพร้าว, แก่นขนุน ก็จะได้เฉดสีที่หลากหลาย จำแนกเป็นกลุ่มโทนสี 6 ทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น ม่วงแดง น้ำเงินเข้ม เขียว น้ำตาล เหลือง และ เทา แล้วกำหนดเป็นสูตรเบอร์สีที่ตรงกับสากล ใช้ทดแทนสีเคมีได้ ซึ่งรวบรวมไว้อย่างพร้อมสรรพในเล่มนี้”
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาวิชาการ
นอกจากนี้ ภายในเล่มยังแนะนำ 6 เทคนิคพื้นฐานการผลิตผ้าไทย ได้แก่ ยกดอก ขิด จก ปัก มัดหมี่ ด้น เกาะหรือล้วง และ แพตช์เวิร์ค ซึ่งปีนี้ได้เน้น 2 เทคนิคสำคัญคือ แพตช์เวิร์ค และ การด้น เหมาะกับการผลิตเสื้อผ้าคอลเลกชั่นฤดูหนาว
งานแพตช์เวิร์คหรือการนำชิ้นผ้าหลากสีมาเย็บต่อเข้าด้วยกัน จะพบในภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่นิยมทำกันมาก ส่วนการด้นมือพบได้ในหลายภูมิภาค นำมาใช้ในการผลิตผ้าห่มบุนวมหรือชุดกีฬา เป็นต้น
“อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เทรนด์บุ๊กเล่มนี้จะสอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดของเสีย ซึ่งภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่มต่อๆ ไป”
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการฯ
ทั้งนี้ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงมีรับสั่งเป็นนิจว่า อยากให้มีการจัดงานยังภูมิภาคเริ่มจากจังหวัดมหาสารคาม พร้อมกับทรงเน้นย้ำว่าคำศัพท์แฟชั่นต้องพูดบ่อยๆ เพื่อให้นักศึกษาที่ทำงานด้านนี้หรือผู้ประกอบการได้เข้าใจ ซึมซับ และคุ้นเคยให้มากที่สุด และทั้งหมดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเทรนด์บุ๊กเล่มนี้
สำหรับกิจกรรมสัญจรที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามในครั้งนี้ คณะที่ปรึกษาในการจัดทำเทรนด์บุ๊กตั้งแต่เล่มแรกจนมาถึงเล่มที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ Wisharawish รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่างมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อให้ออกมาอย่างดีที่สุด ซึ่งเบื้องต้นการโรดโชว์ไปยังภูมิภาคที่จังหวัดมหาสารคามมีการวางแผนดำเนินการคู่ขนานกับการจัดงานที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยปัญหาและอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการเลื่อนจัดงานเรื่อยมา
นักศึกษาให้ความสนใจชมนิทรรศการเทรนด์บุ๊กฯ
ชิราวุทธิ์ ยุเหล็ก นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ฝันอยากเป็นนักออกแบบแฟชั่นมืออาชีพ เผยความรู้สึกหลังจากได้ชมนิทรรศการและร่วมฟังการเสวนา ว่า
"ปลื้มปีติที่เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ ทรงตั้งพระทัยที่จะพัฒนาผ้าไทยให้มีคุณภาพและทันสมัยยิ่งขึ้น มีโอกาสติดตามเทรนด์บุ๊กตั้งแต่เล่มแรก Spring/Summer 2022 ตอนนั้นยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เป็นหนังสือด้านแฟชั่นที่น่าสนใจมาก ได้ความรู้ใหม่ๆ พอมาเล่มที่สองนี้เป็นช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัยพอดี เป็นตำรานอกห้องเรียนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการนำไปต่อยอดกับสิ่งที่เรียนได้ โดยเฉพาะเรื่องเทรนด์การใช้สีย้อมจากวัสดุธรรมชาติ เพราะอย่างที่รู้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือแฟชั่นมีส่วนทำให้เกิดของเสียและภาวะโลกร้อน ซึ่งคนที่อยู่ในวงการนี้ จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน"
บรรยากาศและวิธีจัดแสดงนิทรรศการเทรนด์บุ๊กฯ เล่มที่ 2
อาจารย์ทัศนียา นิลฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบสิ่งทอ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ หนึ่งในผู้ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในการผลิตเทรนด์บุ๊กเล่มที่ 2 แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดแก่นักศึกษา กล่าวว่า
"หลักสูตรของสถาบันมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับผ้าทอพื้นเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผ้าไหมทอมือ ทำให้นักศึกษาได้สัมผัสผ้าพื้นเมืองมาโดยตลอด เราได้นำหนังสือเทรนด์บุ๊กมาเป็นแนวทางในการจัดการหลักสูตรเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีย้อมธรรมชาติ รวมถึงความรู้เรื่องเทรนด์ผ้าในตลาดสากล ซึ่งผลสำเร็จจากการนำไปประยุกต์ใช้ก็คือ นักศึกษาที่นำผลงานผ้าทอลวดลายที่ประยุกต์จากหนังสือและการย้อมสีธรรมชาติไปเข้าร่วมประกวดระดับประเทศสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้สำเร็จ
ขณะที่ในเรื่องของเทรนด์ผ้านั้น ได้นำวัฒนธรรมผ้าท้องถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาต่อยอดให้มีความทันสมัย ซึ่งเทรนด์บุ๊กสามารถเป็นแนวทางให้เราทำงานง่ายขึ้น ในการผลิตให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้อยากฝากข้อคิดเรื่องการย้อมสีธรรมชาติสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่อยู่ในวงการแฟชั่นว่า ควรใช้ทรัพยากรพร้อมกับปลูกทดแทนเพื่อความยั่งยืน เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่นักพัฒนาผ้ารุ่นใหม่ต้องใส่ใจ"
หลากหลายวัตถุดิบธรรมชาติสำหรับย้อมผ้า
ด้านผู้ประกอบการผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพ ไชยสุระ จากร้าน “จุฑาทิพ” จังหวัดขอนแก่น เผยว่า
"หนังสือเทรนด์บุ๊กทำให้ผู้ผลิตผ้าไทยเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานมากมาย อย่างเรื่องกลุ่มโทนสี ปกติคนในชุมชนที่ทำผ้าทอ ไม่ได้ให้ความสำคัญในการแยกโหมดสี เมื่อมีการศึกษาเนื้อหาในเทรนด์บุ๊กก็ปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน มีการแยกเฉดสีสำหรับการย้อม หรืออย่างลายผ้าบางลายเมื่อมีการชี้แนะแนวทางให้ก็มีการดัดแปลงจากลายดั้งเดิมให้สอดคล้องกับตลาด มีความร่วมสมัยยิ่งขึ้น
สำหรับแบรนด์จุฑาทิพเราเน้นความร่วมสมัย วัยรุ่นใส่ได้ นอกจากนี้ยังคงแนวคิดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์เรื่องการใช้สีธรรมชาติในการย้อมเป็นหลัก
ย้อนกลับไปเมื่อราว 8 ปีก่อนมีไม่กี่รายที่เลือกสกัดสีจากธรรมชาติในการย้อมผ้า และเราก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่เลือกสีธรรมชาติ เพราะมองเห็นว่าดีต่อสุขภาพของคนย้อมผ้าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการต้มหรือกำจัดทิ้ง ใบไม้หรือเปลือกไม้ที่นำมาย้อมก็นำไปเป็นปุ๋ยได้ด้วย และเท่าที่สังเกตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติเมื่อนำไปวางขายมักได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ลูกค้านิยมชมชอบ เป็นผลมาจากการดำเนินตามพระราชดำริของเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ ที่ทรงให้แนวทางเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเฉดสี ทำให้เราสามารถพัฒนาได้ตรงกับความต้องการของตลาด
เรื่องสีย้อมธรรมชาตินี้นอกจากเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแล้วยังเกิดจากการหัดสังเกต อย่างสีดำภูมิปัญญาดั้งเดิมได้จากมะเกลือ แต่ยุคนี้มีการทดลองพบว่าเปลือกมะพร้าวหรือใบยูคาลิปตัสก็ให้สีดำได้เช่นกัน เราพยายามปลุกเร้าชุมชนว่าวัตถุดิบมีอยู่รอบตัว เพียงนำมาทดลอง เมื่อได้ผลก็แทบไม่ต้องหาซื้อเลย ถ้ามองให้เป็นโอกาสก็จะมีทางเลือกมากขึ้น"
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ e-book ได้ทาง เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และที่ link : Thai Textiles Trend book หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร.0 2247 0013 ต่อ 4305 และ 4319 - 4321 ในวันและเวลาราชการ
บรรยากาศระหว่างการเสวนาวิชาการฯ ที่มหาสารคาม
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการหัตถกรรมชุมชน
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ-ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ชื่นชมผ้าทอมือจากชุมชน
ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ผศ.ดร.ศศิธร-สมคิด จันทมฤก, เกียรติศักดิ์-พรศรี ตรงศิริ
วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข-กุลวิทย์ เลาสุขศรี
จุฑาทิพ ไชยสุระ ผู้ประกอบการหัตถกรรมผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ
ทัศนียา นิลฤทธิ์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
ชิราวุทธิ์ ยุเหล็ก นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ