‘หอการค้า’ ประเมินคลายล็อค ประชาชนยังไม่กล้าออกจากบ้าน

‘หอการค้า’ ประเมินคลายล็อค ประชาชนยังไม่กล้าออกจากบ้าน

เริ่มคลายล็อคดาวน์ 1 ก.ย. “หอการค้า” คาดประชาชนยังไม่กล้าออกจากบ้าน แนะภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคลายล็อค เพิ่มเยียวยาประกันสังคม คนละครึ่ง ปรับยิ่งใช้ยิ่งได้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นเรื่องดีเพราะจะทำให้เศรษฐกิจทยอยกลับมาเดินได้ แม้ว่ามีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งคงต้องเข้มข้นในมาตรการการป้องกัน โดยเฉพาะการออกนอกที่พักและการดำเนินกิจกรรมที่คลายล็อคดาวน์

ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่าภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมการระบาด มาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ควบคู่กับมาตรการควบคุมสถานประกอบการที่ดำเนินการตาม COVID Free setting  ซึ่งภาคเอกชนจะมอนิเตอร์เพื่อลดความเสี่ยงตามแนวทางผ่อนคลายกิจกรรมการเปิดเมือง เพื่อเรียนรู้อยู่ร่วมสถานการณ์ระบาดและป้องกันการเสียชีวิตควบคู่กัน ซึ่งจะลดการเป็นจุดแพร่ระบาดใหม่ 

นายสนั่น กล่าวว่า มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ควรมีเพิ่ม คือ

1.การเยียวยาในระบบประกันสังคม ม.33 , ม.39 และ ม.40

2.การเพิ่มวงเงินโครงการ "คนละครึ่ง" เพราะเงินหายจากระบบเศรษฐกิจมาก

3.การปรับมาตรการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" เป็น "ช้อปดีมีคืน" ที่จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย

ส่วนมาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" หรือ "ทัวร์เที่ยวไทย" รัฐบาลควรเตรียมนำกลับมาใช้ในเดือน ต.ค.นี้ เพราะเป็นฤดูท่องเที่ยว ซึ่งกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมอบรมสัมมนาในประเทศ ซึ่งหากกระจายวัคซีนได้ดีจะทำให้อยู่กับสถานการณ์ระบาดได้

"ช่วงสัปดาห์แรกถึงแม้จะผ่อนคลายให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่กล้าเท่าไหร่ คิดว่าน่าจะทยอยเดินทางช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือน ก.ย.นี้"

ทั้งนี้หอการค้าไทยประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจพบว่า หากไม่มีการล็อกดาวน์การจับจ่ายใช้สอยในระบบของประชาชนในประเทศจะอยู่ที่ 20,000 ล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อล็อกดาวน์เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจวันละ 10,000-13,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 300,000-400,000 ล้านบาท

สำหรับการคลายล็อกดาวน์ครั้งนี้คาดว่าประชาชนยังไม่กล้าออกมาดำเนินกิจกรรมเท่าที่ควร จึงคาดว่าความเสียหายจะลดเหลือ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้น เดือน ก.ย.นี้ จะเกิดความเสียหายเมื่อเทียบกับการดำเนินธุรกิจปกติอยู่ที่ 200,000-300,000 ล้านบาท ทั้งนี้ อาจต้องพิจารณามาตรการที่ภาครัฐจะออกมาเพิ่มเติม ซึ่งบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง และรัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณเยียวยา กระตุ้นและฟื้นฟู เพื่อให้เศรษฐกิจไม่เสียหายกว่านี้ โดยต้องใช้งบประมาณให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ต้องการให้ภาครัฐเร่งมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการการและมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้ปฏิบัติตามมาตรการรัฐทั้งบับเบิลแอนด์ชีลและการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK โดยหลายโรงงานมีค่าใช้จ่ายด้านนี้มากจึงต้องการให้รัฐช่วยค่าใช่จ่ายส่วนนี้

รวมทั้งขณะนี้สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกดีขึ้นมาก แต่การระบาดยังเป็นที่กังวลและหากโรงงานใดมีพนักงานติดเชื้อต้องหยุดบางส่วนทำให้กำลังการผลิตลดลง และการคลายล็อคดาวน์ไม่ส่งผลกับภาคอุตสาหกรรมนัก โดยมีผลดีเฉพาะการขนส่งโลจิสติก