'ทีดีอาร์ไอ'มองปี 64 เศรษฐกิจยังโตได้ 0.5 -1% อานิงค์ ส่งออก - เบิกจ่ายเงินกู้ฯ

'ทีดีอาร์ไอ'มองปี 64 เศรษฐกิจยังโตได้ 0.5 -1% อานิงค์ ส่งออก - เบิกจ่ายเงินกู้ฯ

"ทีดีอาร์ไอ" คาดเศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัว จับตาไตรมาส 3 -4 รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ แต่ประเมินทั้งปียังบวกได้ 0.5-1% จากการส่งออก และมีเงินกู้ที่รัฐจะใช้อีกประมาณ 4แสนล้านบาทยังช่วยผลักให้เศรษฐกิจยังพอขยายตัวได้ แนะเฝ้าระวังการระบาดในภาคการผลิต

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอย่างมากจากระยะเวลาการระบาดที่รุนแรงและกินระยะเวลานานหลายเดือนทำให้มีหลายสำนักคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวหรือติดลบอีก 1 ปีซึ่งเป็นที่มาของความกังวลในเรื่องภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย" 

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่านิยามของคำว่า "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ในทางทฤษฎีแล้วเกิดจากการที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบสองไตรมาสติดต่อกันโดยปกติหากมีการติดลบติดต่อกันสองไตรมาสคือการขยายตัวของจีดีพีจากไตรมาสหนึ่งไปอีกไตรมาสหนึ่ง (Quarter-on-quarter growth) ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส เรียกได้ว่าถดถอยในทางเทคนิค (Technical recession)  

อย่างไรก็ตามการประเมินว่าเศรษฐกิจจะถดถอยหรือไม่ ควรประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันในปีนี้เทียบกับปีก่อนจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจไทยติดลบ 2.6% เนื่องจากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปีต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2564

ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ปีก่อนเศรษฐกิจไทยติดลบมากถึง 12.2% ส่วนในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น มีการล็อคดาวน์ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 กลับมาติดลบได้เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อนที่เรามีการผ่อนคลายมาตรการเนื่องจากผู้ติดเชื้อลดลง 

 

ส่วนในไตรมาสที่ 4 ต้องดูเศรษฐกิจจะติดลบหรือไม่ต้องพิจารณาจากการควบคุมการระบาดเป็นสำคัญ หากยังต้องมีการล็อกดาวน์และหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะติดลบเช่นกัน หากเป็นเช่นนั้นเมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เทียบปีต่อปีติดลบสองไตรมาสติดต่อกันก็เท่ากับว่าเกิดเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจได้

นางสาวกิริฎากล่าวว่าในภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2564 นี้ทีดีอาร์ไอประเมินว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ที่ระดับ 0.5 - 1% โดยปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้คือเรื่องการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐ

โดยในส่วนการส่งออกคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 15 - 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อรวมกับปัจจัยเรื่องของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าก็จะทำให้รายได้ของผู้ส่งออกสินค้าดีขึ้นไปด้วย และเนื่องจากภาคการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 55%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมาก จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในภาคการส่งออกก็ยังมีจากการระบาดของโควิดในคลัสเตอร์โรงงาน การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่อาจจะกระทบกับภาคการส่งออกได้เช่นกัน 

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการอนุมัติและเบิกจ่ายเงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ทั้งในส่วนของวงเงินเดิม 1 ล้านล้านบาท และวงเงินใหม่ 5 แสนล้านบาท รวมกว่า 4 แสนล้านบาท

โดยในส่วนของเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาทยังมีเม็ดเงินที่อนุมัติโครงการแล้วรอการเบิกจ่ายลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท ส่วนเงินกู้ 5 แสนล้านบาทมีการอนุมัติไปแล้วประมาณ 1.5 แสนล้านบาทคาดว่าจะมีการอนุมัติเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2 แสนล้านบาท ซึ่งการเบิกจ่ายเงินกู้ส่วนนี้ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจจะช่วยผลักดันให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้ระดับหนึ่ง