‘แบรนด์แฟชั่นโลก’เมินแก้ปัญหาบังคับใช้แรงงาน

‘แบรนด์แฟชั่นโลก’เมินแก้ปัญหาบังคับใช้แรงงาน

‘แบรนด์แฟชั่นโลก’เมินแก้ปัญหาบังคับใช้แรงงาน รวมแบรนด์เสื้อผ้าดังอย่าง อเล็กซานเดอร์ แมคควีน ,กุชชี, คริสเตียน ดิออร์, หลุยส์ วิตตอง ,โค้ช ,เคท สเปด และปราดา

บทวิเคราะห์ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า และสิ่งทอในเว็บไซต์อัลจาซีราห์ เปิดประเด็นด้วยการตั้งคำถามว่า"คุณชื่นชอบแบรนด์แฟชั่นที่บังคับใช้แรงงานหรือเปล่า ก่อนจะนำเสนอผลวิจัยที่บ่งชี้ว่า ทุกวันนี้บรรดาแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกยังคงมีการบังคับใช้แรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งรายงานเมื่อไม่นานมานี้ยังระบุว่าแบรนด์เสื้อผ้าหรูหราระดับโลกติดกลุ่มผู้กระทำผิดที่เลวร้ายที่สุด

KnowTheChain กลุ่มที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงาน ระบุว่า แฟชันโลกและอุตสาหกรรมค้าปลีกพึ่งพาการผลิตที่ให้ผลตอบแทนเร็วภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำผ่านทางการจ้างผลิตและระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความซับซ้อนและโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการบังคับใช้แรงงาน ขณะที่แบรนด์แฟชันรายใหญ่ๆของโลกได้ประโยชน์เต็มๆจากการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้จึงไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรุบปรุงปัญหาการบังคับใช้แรงงาน

KnowTheChain ระบุด้วยว่า จากข้อมูลของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการจ้างงานแรงงานทั่วโลกกว่า 60 ล้านคนและ 97% ของแบรนด์แฟชันและค้าปลีกมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจและปฏิบัติตามมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม(ซีเอสอาร์) แต่นโยบายต่างๆกลับไม่ได้ช่วยให้หลีกเลี่ยงการบังคับใช้แรงงาน หรือปกป้องผลประโยชน์แก่แรงงานเลย

รายงานชื่อ Apparel and Footwear Benchmark Report ปี2021 (พีดีเอฟ)ของ KnowTheChain ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ได้จัดอันดับบริษัทแฟชั่นรายใหญ่สุดของโลก 37 แห่งโดยให้คะแนน 0 -100 คะแนน สำหรับความพยายามของบริษัทเหล่านี้ในการต่อสู้กับการบังคับใช้แรงงาน โดย 100 คะแนนหมายถึงการต่อสู้กับปัญหานี้อย่างดีที่สุดและจริงจังที่สุด

กลุ่มที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงานระบุว่ามีการบังคับใช้แรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแฟชันในสัดส่วน 54% ของบริษัทที่ถูกสุ่มสำรวจ ทั้งยังพบว่าบรรดาแบรนด์แฟชั่นหรูหรารายใหญ่สุดของโลกอยู่ในกลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้อย่างเลวร้ายที่สุด ในฐานะที่ได้ประโยชน์จากระบบห่วงโซ่อุปทานเต็มๆ ได้คะแนนเฉลี่ย 31 จาก 100 คะแนน

“เคอริง” บริษัทผลิตสินค้าหรูหราสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าของเสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้ออเล็กซานเดอร์ แมคควีนและกุชชี ได้ 41 คะแนนจาก 100 ส่วนแอลวีเอ็มเอช ซึ่งเป็นเจ้าของยี่ห้อคริสเตียน ดิออร์ และหลุยส์ วิตตอง ได้คะแนน 19 จาก100 และ

Tapestry เจ้าของยี่ห้อเสื้อผ้าแฟชัน Coach และ Kate Spade ที่ถูกจัดอันดับเป็นครั้งแรกในปีนี้ ได้คะแนน 16 จาก 100 คะแนน

อย่างไรก็ตาม หลังจากรายงานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกมา บริษัทเคอริง แอลวีเอ็มเอช และ Tapestry ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วนปราดา บริษัทเสื้อผ้าแฟชั่นหรูหราสัญชาติอิตาลี ได้คะแนนแค่ 5 จาก 100 คะแนน ซึ่งปราดาชี้แจงกับเว็บไซต์อัลจาซีราห์ว่า ที่ผ่านมา บริษัทพยายามผลักดันเพื่อสร้างมาตรฐานในเรื่องนี้ให้สูงขึ้นพร้อมทั้งโต้แย้งวิธีคิดและประเมินของ KnowTheChain

ปราดา ระบุว่า KnowTheChain ไม่ได้นำข้อเท็จจริงที่ว่าโรงงานผลิตส่วนใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในอิตาลี ซึ่งอนุญาติให้มีการตรวจสอบการทำงานอย่างใกล้ชิดและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานหรือการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่ถูกต้องตลอดอยู่แล้ว

ขณะที่“เพเนโลปี ไคริทซิส” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจาก the Worker Rights Consortium ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์การที่มอนิเตอร์สิทธิแรงงาน กล่าวว่า “ความต้องการได้ผลตอบแทนในช่วงเวลาสั้นๆและได้สินค้าราคาถูกที่สุดจากบรรดาซัพพลายเออร์ของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นชั้นนำ ทำให้เกิดการแข่งขันในหมู่โรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์ แบรนด์แฟชั่นและค้าปลีกเป็นตัวแปรสำคัญทำให้เจ้าของโรงงานไม่สามารถปฏิบัติตามกฏหมายแรงงาน และปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิแรงงานได้”

“ปัญหาการบังคับใช้แรงงาน หรือเอาเปรียบแรงงานเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าพยายามลดผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยการยกเลิกคำสั่งซื้ออย่างกะทันหันจากโรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์ ซึ่งผลที่ตามมาคือ การเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก ผลักดันให้แรงงานมากมายเดินเข้าสู่ภาวะยากจน”ไคริทซิส กล่าว

ข้อมูลของศูนย์สิทธิแรงงานโลกมหาวิทยาลัยเพนน์ สเตท ยกตัวอย่างกรณีของแรงงานในบังกลาเทศ ที่มีแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากที่สุดอันดับสองของโลกรองจากจีน มีแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอจำนวนกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถูกปลดออกจากตำแหน่ง หรือไม่ก็ให้หยุดงานชั่วคราวเมื่อตอนที่แบรนด์แฟชันชั้นนำของโลกพร้อมใจกันยกเลิกคำสั่งซื้อในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงที่สุดเมื่อปีที่แล้ว