'ยกธงขาว' ทางเลือกสุดท้ายของชาวมาเลย์

'ยกธงขาว' ทางเลือกสุดท้ายของชาวมาเลย์

'ยกธงขาว' ทางเลือกสุดท้ายของชาวมาเลย์ เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าพวกเขาพ่ายแพ้ ไม่สามารถเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้าเพราะผลพวงของการใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆของภาครัฐเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2563 ได้

ในยามปกติ ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาหน้าบ้านของ “คารูปิอาห์ รันกัน” จะเข้าใจว่าการที่เขาแขวนผ้าสีขาวไว้หน้าบ้านเพราะอยากให้ผ้านี้ได้รับแดดเต็มๆจะได้แห้งเร็วขึ้นแต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ กลายเป็นว่าการที่หนุ่มโรงงานคนนี้แขวนผ้าสีขาวไว้หน้าบ้านในสัปดาห์นี้เพราะต้องการขอความช่วยเหลือจากทางการ

คารูปิอาห์ วัย 54ปี เป็นหนึ่งในแรงงานชาวมาเลเซียหลายพันคนที่ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วยการแสดงสัญลักษณ์การยอมแพ้แบบสากล คนเหล่านี้ต้องการบอกให้โลกรู้ว่าพวกเขาพ่ายแพ้ ไม่สามารถเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้าเพราะผลพวงของการใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆของภาครัฐเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 2563 ได้

ตลอด1ปีครึ่งที่โรคโควิด-19ระบาด มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 32 ล้านคนเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด แม้ว่าจะประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.และขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่การติดเชื้อรายวันก็ทะยานขึ้นเหนือ 6,000 รายหลังจากลดลงต่ำกว่า 5,000 รายช่วงสั้นๆ ทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันมากขึ้น

ข้อมูลของ Our World ระบุว่า เมื่อเทียบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันต่อประชากรหนึ่งล้านคนพบว่าในรอบ 7 วัน มาเลเซียมียอดติดเชื้อต่อประชากรวันละกว่า 190 ราย สูงกว่าอินโดนีเซียซึ่งอยู่ที่กว่า 80 รายและสถานการณ์แบบนี้ในมุมมองของรัฐบาลถือเป็นบททดสอบที่น่ากลัว แต่สำหรับคารูปิอาห์แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมากเกินกว่าที่เขาจะรับไหว

“เรากินข้าวต้มเปล่าๆมา10วันแล้ว”คารูปิอาห์ กล่าว โดยเขาเป็นคนเดียวที่หาเลี้ยงครอบครัวทั้งหมด 6 ชีวิต รวมถึงแม่ของเขาที่เจ็บป่วย และภรรยาที่รอดตายจากโรคมะเร็ง

คารูปิอาห์ เป็นหัวหน้าสายการผลิตที่โรงงานผลิตสิ่งทอในเมืองราวัง ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศประมาณ 32 กิโลเมตรแต่เมื่อทางการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โรงงานที่เขาทำงานอยู่ตัดสินใจยุติการผลิต รายได้ที่เขาเคยได้เดือนละ 2,300 ริงกิต (553 ดอลลาร์)ก็หายไป เขาและครอบครัวจึงต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐ แต่เขาก็ไม่ละความพยายาม ยังคงหางานทำเพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวทุกวัน

กรณีของคารูปิอาห์สะท้อนถึงคนที่ไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคของชีวิตง่ายๆ แต่ก็มีหลายคนที่ถอดใจ ไม่สามารถสู้รบกับความยากจนและยากลำบากที่ถาโถมเข้ามาตลอดปีครึ่งได้อีก ส่งผลให้จำนวนผู้ฆ่าตัวตายในช่วง 5เดือนแรกของปีนี้มีมากถึง 468 คน เทียบกับตลอดทั้งปีที่แล้วที่มีจำนวน 631 คน

“นูร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์” ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขมาเลเซีย ยอมรับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สุขภาพจิตของคนทั่วโลกย่ำแย่ลง รวมทั้งประชาชนในมาเลเซีย พร้อมทั้งเตือนว่าบางคนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าและเกิดภาวะทางจิตในรูปแบบอื่นๆเพราะความเครียดและการต้องอยู่แบบโดดเดี่ยว

ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจของมาเลเซียหดตัว แต่ไม่ถือว่ามากมายนักแค่ติดลบ 0.5 % เท่านั้นในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยรัฐบาลและธนาคารกลางของมาเลเซียยังคงไม่ปรับลดเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าจะสามารถใช้เวลาที่เหลือทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ที่ 6-7.5% ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้

การยกธงขาวของแรงงานที่ตกงานเพราะโควิด-19ในมาเลเซียถูกนักการเมืองบางคนหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาโจมตีรัฐบาลว่าประสบความล้มเหลวในการช่วยเหลือประชาชน แต่เหล่าคนดังและซูเปอร์มาร์เก็ตตอบสนองกระแสยกธงขาวด้วยการสนับสนุนธนาคารอาหาร และจัดทำโครงการต่างๆเพื่อระดมทุนช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเพราะมาตรการคุมเข้มด้านต่างๆ

ด้านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศวานนี้ (6ก.ค.)ว่า รัฐสภามาเลเซียจะกลับมาเปิดการประชุมอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.นี้ หลังจากที่ระงับการประชุมไปตั้งแต่เดือนม.ค.ท่ามกลางการประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคโควิด-19

รัฐบาลตกลงที่จะให้คำแนะนำแก่กษัตริย์สุลต่าน อับดุลลาห์ ริอายาทุดดินให้ทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันเป็นเวลา 5 วันระหว่างวันที่ 26 ก.ค.-2 ส.ค. และให้วุฒิสภาประชุมกันเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันที่ 3-5 ส.ค.