ศปม. คุมเข้มแคมป์คนงาน กทม.-ปริมณทล สกัดเคลื่อนย้าย 4 จชต.

ศปม. คุมเข้มแคมป์คนงาน กทม.-ปริมณทล สกัดเคลื่อนย้าย 4 จชต.

ผบ.ศปม. สั่งการด่วน หน่วยงานเกี่ยวข้องปิดแคมป์คนงาน กทม.-ปริมนฑล พร้อม สกัดเคลื่อนย้ายประชาชน 4 จังหวัดชายแดนใต้

26 มิ.ย.2564 จากกรณี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนและแรงงานในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง รวมทั้งการควบคุมแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น

ล่าสุด พลตรี ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วนผ่านระบบ VTC โดยสั่งการให้หน่วยขึ้นตรงศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) บูรณาการการจัดกำลังสนับสนุนและประสานการปฏิบัติกับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ในการสนธิกำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ให้มีความเข้มงวดกวดขันในการปฏิบัติภารกิจควบคุมแคมป์คนงาน และไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่ รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.สงขลา จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส) โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ (26 มิถุนายน 2564) เป็นต้นไป


สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงเหล่าทัพ รับผิดชอบ โดยมี ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร เป็นผู้วางแผนการปฏิบัติ

ในส่วนของจังหวัดในเขตปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, และนครปฐม มีกระทรวงมหาดไทย (จังหวัด), ตำรวจภูธรจังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพบก รับผิดชอบ


ในด้านการควบคุมการเคลื่อนย้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ โดยมีกระทรวงมหาดไทย (จังหวัด), ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตำรวจภูธร จังหวัด), ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพบก และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพเรือ รับผิดชอบ

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถจำกัดกลุ่มแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานในทุกกรณี อันจะส่งผลให้การควบคุมโรคเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นไปตามกรอบแนวทางของรัฐ บาลในการแก้ไขปัญหาที่มีความสำคัญเร่งด่วน และเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงภาวะปกติ โดยเร็วที่สุด ต่อไป