'ส.อ.ท.' ห่วงชิพขาด-สินเชื่อฝืด ปัจจัยเสี่ยงอุตฯยานยนต์ปีนี้

'ส.อ.ท.' ห่วงชิพขาด-สินเชื่อฝืด  ปัจจัยเสี่ยงอุตฯยานยนต์ปีนี้

ส.อ.ท. ระบุ ยอดผลิตรถยนต์เดือนพ.ค. 1.4 แสนคัน เพิ่มขึ้น 150% แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด เล็งเดือนก.ค. ปรับเป้าเพิ่ม จับตาปัญหาขาดแคลนชิปอาจกระทบยอดผลิต 10% ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อรถถึง 30% อาจกระทบยอดขาย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนพ.ค. 2564 มีทั้งสิ้น 140,168 คัน เพิ่มขึ้น 150.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการผลิตเพื่อ

ส่งออกเพิ่มขึ้น 126.01% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 193.39 % ซึ่งการเพิ่มขึ้นมาจากฐานปีที่แล้วค่อนข้างต่ำแต่ถ้าหากเทียบกับพ.ค.2562 ก่อนโควิดก็ยังลดลง 22.70% ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตได้ 5 เดือนปีนี้(ม.ค.-พ.ค.) รวม 710,356 คัน เพิ่มขึ้น 32.9%

“ในปีนี้ยอดส่งออกดีขึ้นมาก เนื่องจากประเทศคู่ค้าเริ่มมียอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น เช่น ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 68.3% อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 1,443% เป็นต้น แต่ยังส่งออกน้อยกว่าเดือนพ.ค. 2562 ช่วงก่อนโควิด 16.63%”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดการผลิตจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่ผ่านมามาก แต่ทางกลุ่มก็ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์การขาดแคลนชิพที่ทวีความรุนแรงขึ้น และน่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีกกว่า 1 ปี ส่งผลบางโรงงานของไทยต้องหยุดผลิตในบางรุ่นไปถึง 1 เดือน และคาดว่าจะส่งผลต่อยอดการผลิตรถยนต์ของโลกปีนี้ประมาณ 4 ล้านคัน จากปริมาณผลิตทั้งหมด 78 ล้านคัน โดยประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบประมาณ 10%

นอกจากนี้ ยอดขายภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ในขณะนี้ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อสูงถึง 30% ของยอดขอสินเชื่อ สูงกว่าภาวะปกติที่ปฏิเสธสินเชื่อประมาณ 5% ซึ่งการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ได้ประกาศลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง ก็ยิ่งทำให้การปล่อยสินเชื่อลดลง

โดยจะกระทบต่อรถยนต์ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทมากที่สุด ส่วนรถยนต์ราคาเกิน 1 ล้านบาท ธนาคารยังปล่อยสินเชื่อตามปกติ เพราะผู้ซื้อกลุ่มนี้มีฐานะทางการเงินดี รวมทั้งยังต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะหากระบาดไปสู่โรงงานผลิตชิ้นส่วน หรือโรงงานผลิตรถยนต์ ก็จะทำให้ต้องปิดสายการผลิตหรือโรงงาน ทำให้กระทบต่อกำลังการผลิต ซึ่งในขณะนี้บริษัทผลิตรถยนต์ได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับคนงานอย่างเต็มที่ คาดว่าได้ฉีดวัคซีนให้กับคนงานไปแล้ว 30-40% และในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้าก็จะมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นมาก

“จากสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่ายอดผลิตเพื่อส่งออกในปีนี้น่าจะไปถึง 8 แสนคันได้ จากเป้าหมาย 7.5 แสนคัน แต่ทั้งนี้ จะต้องจับตาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่าจะกระทบต่อโรงงานผลิตหรือไม่ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนชิพที่อาจจะส่งผลต่อการผลิตได้ และปัญหาการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร"

ทั้งนี้ในเดือนก.ค.นี้จะประเมินอีกครั้งว่าจะปรับเป้าหมายการผลิตในปีนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากปรับประมาณการก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.55 -1.6 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 หมื่น ถึง 1 แสนคัน เนื่องจากสัญญาณการส่งออกยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังต่ำกว่าภาวะปกติที่มียอดการผลิตไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคัน

นอกจากนี้ มองว่าในอนาคตอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยจะคึกคักและขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ล่าสุด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ก็ได้เดินหน้าการผลิตอย่างเต็มที่ และคาดว่าจะมีค่ายรถจากจีนเข้ามาตั้งโรงงานเพิ่ม รวมทั้งยังจะทำให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในไทยเพิ่มมากขึ้น และมีราคาถูกลง ซึ่งที่ผ่านมาค่าย เอ็มจี มอเตอร์ ได้เปิดตัวขายรถยนต์อีวีราคา 1 ล้านต้น ๆ ทำให้ยอดขายรถยนต์อีวีขยายตัวอย่างรวดเร็ว