คลังจับมือเวิลด์แบงก์-เอดีบีศึกษาปรับโครงสร้างภาษี

คลังจับมือเวิลด์แบงก์-เอดีบีศึกษาปรับโครงสร้างภาษี

คลังจับมือเวิลด์แบงก์-เอดีบีศึกษาแนวทางการพัฒนาเพิ่มรายได้รัฐบาลอย่างยั่งยืน โดยโครงสร้างภาษีใหม่จะต้องแข่งขันได้ ทันสมัยและเป็นธรรม ระบุ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลหนัก โดย 7 เดือนแรกของปีนี้รายได้ต่ำเป้าแล้ว 1.29 แสนล้าน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับธนาคารโลก(เวิลด์แบงด์)และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี)ในการศึกษาแนวทางการพัฒนาเพิ่มรายได้ของรัฐบาลอย่างยั่งยืน ซึ่งจะดำเนินการผ่านการปรับโครงสร้างภาษี

ทั้งนี้ ระบบภาษีที่เหมาะสมจะต้องส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และทั่วถึง โดยจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและอยู่บน พื้นฐานของแนวทางปฏิบัติที่ดีของสากล

ดังนั้น แนวทางการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังจึงมี 4 เป้าหมายหลัก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเป้าหมายที่ 1 ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยโครงสร้างภาษีของประเทศ ไทยจะต้องสามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ มีระบบภาษีที่เข้าใจง่าย รองรับการเจริญเติบโตของ เศรษฐกิจ และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน โดยจำเป็นต้องพิจารณาระบบภาษี ของประเทศไทยทั้งระบบ ทั้งในด้านโครงสร้างภาษีและการบริหารจัดเก็บภาษี เพื่อหารายได้ เพิ่มขึ้น

เป้าหมายที่ 2 รองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นให้การบริหารจัดเก็บ ภาษีสามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการให้มากที่สุด รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีประสิทธิภาพและเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะภาษีจากการค้าขายออนไลน์ ธุรกิจดิจิทัล (e-Business) และธุรกรรมออนไลน์ (e-Commerce)

เป้าหมายที่ 3 ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว โดยระบบภาษีจะต้องคำนึงถึง การสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายที่ 4 เป็นธรรม ทั่วถึง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสนับสนุนโครงข่ายรองรับทางสังคม และสุขภาพ (Social Safety Net and Health Sector) เช่น สนับสนุนเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รวมไปถึงสนับสนุนระบบดูแลสุขภาพ

“ที่ผ่านมา เราได้มีการดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และอำนวย ความสะดวกแก่ผู้เสียภาษีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน การจัดเก็บรายได้ การปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศ รวมถึง การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน”

โฆษกกระทรวงการคลังยังกล่าวถึงสถานการณ์รายได้ของรัฐบาลด้วยว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.เป็นต้นมา การทวีความรุนแรงและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลพอสมควร ประกอบกับ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายภาษีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และภาระให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อภาพรวมรายได้รัฐบาล

ทั้งนี้ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1.22 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ประมาณ 1.29 แสนล้านบาท ส่วนในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับการประเมินผลกระทบว่าจะเป็นเท่าไหร่ คงต้องรอดูผลหลังจากสิ้นสุดมาตรการเลื่อนชำระภาษี เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

ในส่วนของการจัดหารายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะเพื่อเป็นแหล่งรายได้สำหรับการชำระหนี้ ในอนาคตนั้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้และอำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียภาษีอย่างต่อเนื่อง

โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมการชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการการจัดเก็บและตรวจสอบภาษี เช่น ระบบ บริหารความเสี่ยงในการคัดกรองการเสียภาษีของกรมสรรพากรและกรมศุลกากร การนำ เทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลสินค้า การขยายฐานภาษี เพื่อให้ผู้ที่อยู่นอกระบบภาษีให้มีการชำระภาษีอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความครอบคลุมและสอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน มากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดราคาโอนระหว่างนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเช่นกัน และผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เพื่อให้ระบบภาษีมีความทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และทำให้ การจัดเก็บรายได้ภาครัฐสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว