นวัตกรรมผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ลดนำเข้า ดันไทยสู่ Medical Hub
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S curve) ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
สภาอุตสาหกรรม ระบุว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 120,000 ล้านบาท (ราคาขายส่ง) ขณะที่ ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า มูลค่านำเข้า ส่งออก อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ปี 2562 แบ่งเป็น นำเข้า 69,746 ล้านบาท ในส่วนมูลค่าการ ส่งออก คิดเป็น 106,358 ล้านบาท
โดยปี 2563 คาดว่ามูลค่าการจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโต 3.0% ชะลอจาก5.5% ปี 2562 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จะเติบโต ได้ต่อเนื่อง จากความต้องการใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (ไออาร์พีซี) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอนุมัติจัดตั้ง “บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ไออาร์พีซี และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด) โดย ไออาร์พีซี ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 60 และอินโนบิก (เอเซีย) ถือหุ้นร้อยละ 40 เดินหน้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์
เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบ เพิ่มเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับสากล
เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการรุกเดินหน้าการลงทุนธุรกิจ Life Science ของกลุ่ม ปตท. โดยผสานความรู้ด้านวัสดุศาสตร์กับความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพของทั้งสองบริษัทมารวมกัน ขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กลุ่มธุรกิจใหม่ในด้าน Life Science ของ ปตท.
โดยเป้าหมายสำคัญของการลงทุนครั้งนี้ คือ การสร้าง Product Champion ที่สามารถต่อยอดเป็นวัสดุและชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญในอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพอื่น ๆ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และส่งเสริมนโยบายการพัฒนา New S-Curve ทางด้าน Medical Technology ของประเทศไทย
“ชวลิต ทิพพาวนิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ ไออาร์พีซี กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการขยายธุรกิจโดยต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสุขภาพ สุขอนามัยและการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ ไออาร์พีซี ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่ Smart Material ที่ตอบสนองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง ยังเป็นการขยายผลความร่วมมือทางธุรกิจที่มีอยู่ อาทิ บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการกลางที่ให้บริการทดสอบคุณภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
สำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown มีลักษณะเส้นใยขนาดเล็ก และละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนชนิดพิเศษ (PP melt blown grade) ที่บริษัท ไออาร์พีซี วิจัยและพัฒนาเป็นผู้ผลิตแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
“ไออาร์พีซี และ อินโนบิก (เอเซีย) เชื่อว่าการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 สู่การเป็น Medical Hub รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด” ชวลิต กล่าว
สำหรับโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown นี้จะตั้งอยู่ที่ เขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง คาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564
นอกจากนี้ ไออาร์พีซี และ ม.นวมินทราธิราช ยังได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ หวังยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2564 ลดการพึ่งพาการนำเข้าและเพิ่มเสถียรภาพด้านสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน
“รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า สถานการณ์ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในภาวะวิกฤตที่ผ่านมา และยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ความร่วมมือในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์นี้ จะนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลการทดสอบที่ถูกต้องและแม่นยำตามมาตรฐาน มอก. 2424 – 2562 สำหรับหน้ากากอนามัย และ มอก. 2480 – 2562 สำหรับหน้ากาก N95
ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐาน ASTM และ EN ในต่างประเทศ โดยนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และด้านการแพทย์ของทั้งภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย มาใช้ในการบริหารจัดการให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล อีกทั้งจะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่ได้มาตรฐานในประเทศไทยต่อไป