6 ไอเทม "ผิวปัง" เที่ยวทะเลให้ผิวสวยในซัมเมอร์นี้

 6 ไอเทม "ผิวปัง" เที่ยวทะเลให้ผิวสวยในซัมเมอร์นี้

"แพทย์" แนะเคล็ด(ไม่)ลับ 6 ไอเทม ดูแล "ผิวปัง" เที่ยวทะเลให้ปลอดภัยจากผิวพรรณ พร้อมเผยการเลือก "สารกันแดด" ในการดูแลผิวตั้งแต่ใบหน้าไปจรดเท้า

ถึงเวลาเข้าสู่ช่วงเมษา-พฤษภา "หน้าร้อน" หลังจากหลาย ๆ คนอยู่ในช่วงของ Work From Home  และเด็กๆ กำลังเข้าสู่ช่วงปิดเทอมยาว รัฐบาลก็ใจดีประกาศให้หยุดยาวเพิ่มขึ้นเป็น 6 วัน ขณะที่ วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส "โควิด-19" เริ่มฉีดให้กับประชาชน หลาย ๆ คนกำลังมองหา "สถานที่ท่องเที่ยว" เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และใช้เวลาอยู่กับครอบครัว

"ทะเล" ดูจะเป็น "สถานที่ท่องเที่ยว"ที่เหมาะสมกับ "หน้าร้อน" อย่างมาก แต่การจะไปเที่ยวนอกจากปฎิบัติตามมาตรการป้องกัน "โควิด-19" อย่าง การสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงแล้ว การ"ดูแลผิวพรรณ"ขณะไปเที่ยว "ทะเล" ก็จำเป็นเช่นกัน

  • เที่ยว"ทะเล"กลัวแสงแดด จะดูแล "ผิวปัง" อย่างไรดี?

ผศ.พญ.สุวิรากร ธรรมศักดิ์ ประธานฝ่ายกิจกรรมสังคม "สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย" กล่าวว่า แสงแดด เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวแก่ ผิวเสื่อมเกิดริ้วรอย  เกิดฝ้า กระ และมะเร็งผิวหนัง โดยทุกคนควร"ดูแลผิวพรรณ" ดูแลตัวเอง ด้วยตัวช่วยเหล่านี้ 

ตัวช่วยที่ 1 ในการเตรียมชุดหมวกและร่มไปด้วย หากจะไปทะเลจะให้ใส่เสื้อแขนยาว ขายาว ก็อาจจะดูตลก ดังนั้นควรพกเสื้อคลุมกันแดด ผ้าคลุมปิดขา เวลาไม่จำเป็นต้องชุดสวยก็ให้คลุมผ้าชายทะเลพันทับกางเกงขาสั้นหรือบิกินีก็ได้ ถึงแม้จะไม่หนามาก แต่ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งและถึงแม้ว่าเราจะทาสารกันแดดแล้วแต่แสง UV A สามารถผ่านผ้าได้ และก็ช่วยกรองแสงแดดได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าด้วย ส่วนหมวกควรจะเป็นแบบปีกกว้าง เพื่อให้คลุมหน้าได้ และช่วงนี้ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ก็ทำให้ช่วยกันแสงแดดได้ดี

  • เคล็ดลับเลือก"สารกันแดด" ให้ "ผิวปัง"ตั้งแต่ใบหน้าจรดเท้า

ประธานฝ่ายกิจกรรมสังคม "สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าวต่อว่า ตัวช่วยที่ 2 สารกันแดด เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้น ต้องทาตั้งแต่ใบหน้า หลังคอ  แขน ขา แผ่นหลัง โดยเฉพาะผู้ชายไม่มีผมบังด้านหลังต้นคอ จะเป็นบริเวณที่ผิวไหม้ง่าย การทาพบว่าทุกวันนี้จะทาไม่ทั่วถึงและไม่ได้ประสิทธิภาพที่ต้องการ

การทาที่ถูกต้องปริมาณความหนาต้องให้ได้ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร คือ ถ้าเป็นครีมต้อง 2 ข้อนิ้วชี้ต่อ 1 หน้า หรือถ้าเป็นโลชั่นให้เทในอุ้งมือได้ขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท ทาให้ทั่วใบหน้า ใบหูหลังคอบริเวณท้ายทอยและทาทุกส่วนที่อยู่นอกร่มผ้า หากทำกิจกรรมมีเหงื่อหรือกิจกรรมทางน้ำ ต้องทำซ้ำ ๆ  ทุก  2  ชั่วโมง

เคล็ดลับการเลือกสารกันแดด การจะเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดีและเหมาะสมนั้น จะต้องเลือก

1.เลือกผลิตภัณฑ์กันแดด ที่กันได้ทั้ง UVA และ UVB  โดยจะมีการเขียน PA+++ สำหรับการกัน UVA และ SPF สำหรับ UVB  โดยเลือกที่ค่าสูงไว้ก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ (อย.)ให้ได้สูงสุด SPF50  ที่เห็นสูงกว่านี้อาจไม่ถูกต้อง

2. เลือกตามกิจกรรมที่ทำ หากลงน้ำต้องเลือกชนิดกันน้ำได้ Water-Resistance อาจจะเป็นชนิดน้ำ ครีมหรือสเปรย์ได้และทาซ้ำเช่นเดียวกับใบหน้า

3.วันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ไม่มีแสงแดด ก็ต้องทา เพราะแสงUV ยังผ่านมาได้  

4. UVA ไม่ทำให้ไหม้ แต่ทำให้ผิวคล้ำได้อย่างเฉียบพลัน ส่วน UVB ทำให้ผิวไหม้ได้ และยังทำให้ผิวคล้ำช้าและอยู่นานกว่า หลายคนจึงมักจะบ่นว่าตอนไปเที่ยวไม่เห็นดำหรือผิวคล้ำ แต่พอกลับจากไปเที่ยว ผิวก็ค่อย ๆ คล้ำ เพราะ Delayed  Tanning ของ UVB นั่นเอง

5.หมั่นตรวจสอบวันหมดอายุทุกครั้งเพราะสารกันแดด หากเก็บไว้ไม่ดี โดนความร้อนหรือแสงสว่าง อายุของสายกันแดดก็จะสั้นลง บางครั้งพอนำมาทาแล้วไม่ได้ผล หรือเกิดอาการแพ้สารกันแดดได้

  • ตัวช่วยดูแลผิวพรรณ ให้ "ผิวปัง" ตลอดซัมเมอร์นี้ 

ตัวช่วยที่ 3 หากเกิดอาการผิวไหม้แดด จะทำอย่างไร หากเตรียมตัวมาดีแล้ว แต่ยังเกิดอาการแสบผิวแดง ปวดแสบปวดร้อน ให้ลดอุณหภูมิในร่างกาย อาบน้ำ ทาครีมให้ความชุ่มชื่น ถ้าหากมีว่านหางจระเข้ ให้ฝานเอาส่วนที่เป็นเจลใส ๆ มาประคบบริเวณที่แสบร้อน  หากมียาแก้อักเสบให้ทายาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ได้ ดื่มน้ำสะอาด "วิตามินซี" สารต้านอนุมูลอิสระ ถ้าปวดมากให้ทานยาแก้ปวด แก้ไข้ได้

ตัวช่วยที่ 4  อย่าลืมสวมแว่นกันแดด เนื่องจากแสงแดดและลมเป็นอันตรายต่อดวงตา ทำให้เกิดต้อเนื้อ ต้อลม ควรใส่แว่นตากันแดดด้วย และถ้าให้ป้องกันแบบเต็มที่ควรเลือกแบบที่มีปิดด้านข้างด้วย

 ตัวช่วยที่ 5 ไปเที่ยว"ทะเล"ต้องพึงระวัง เรื่องแมงกะพรุนด้วย แมงกะพรุนจะมี 2 ชนิดที่มีอันตรายคือ แมงกะพรุนกล่องและแมงกะพรุนสาย โดยเฉพาะช่วงวันฝนตก แมงกะพรุนจะถูกน้ำทะเลพัดเข้าฝั่ง หากร่างกายโดนหรือสัมผัสกับแมงกะพรุนอย่าเพิ่งตกใจ ให้รีบล้างด้วยน้ำทะเลสะอาด อย่าใช้น้ำเปล่าล้างโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้กระเปาะพิษแมงกะพรุนแตก ที่สำคัญหากมีน้ำส้มสายชูให้ผสมน้ำ พยายามล้างนานๆ ให้สังเกตว่าที่ชายทะเลมีต้นผักบุ้งทะเลหรือไม่  ถ้ามีให้ใช้ส่วนใบ บดกับน้ำให้ละเอียด แล้วเอามาพอกที่บริเวณแผล จำช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้

ตัวช่วยที่ 6  ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ รับประทาน วิตามิน ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยลดอาการอักเสบจากการถูกแดดแผดเผาได้  คราวนี้ก็สามารถไปเที่ยวทะเลได้อย่างสบายใจ