‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด‘ทรงตัว’ที่ 30.24บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินสหรัฐย่อตัวลง แต่นักลงทุนไม่กลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยเดิมอย่างบอนด์ ด้านเงินบาทเริ่มทรงตัวตามราคาทองคำ แต่ยังมีแรงขายหุ้นและบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติทยอยกดดันอยู่ ในระยะถัดไปจับตาภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์(SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.24 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.10-30.30 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินสหรัฐย่อตัวลงอีกครั้ง โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 0.81% หลังหุ้นขนาดเล็กและหุ้นเทคโนโลยีถูกขายทำกำไรหลังบวกแรงในช่วงวันก่อน
สวนทางกับฝั่งยุโรปที่ดัชนี STOXX 600 สามารถปิดบวกได้เล็กน้อย 0.19% โดยมีแรงหนุนจากตลาดหุ้นอังกฤษและฝรั่งเศส ในช่วงนี้ทั่วทั้งโลกกลับมากังวลกับความเสี่ยงฟองสบู่ของสินทรัพย์ต่าง ๆ หลังทางการจีนออกโรงเตือนว่าอาจเห็นฟองสบู่ในตลาดการเงินต่างประเทศแตกในที่สุด นักลงทุนทั่วโลกจึงพยายามปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตลง
อย่างไรก็ดี นักลงทุนไม่กลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยเดิมอย่างบอนด์เห็นได้จากยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ทรงตัว 1.41% ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาที่ระดับ 1738 ดอลลาร์ต่อออนซ์
โดยนักลงทุนฝั่งสหรัฐเลือกที่จะถือสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับแรงกดดันจากนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของนายโจ ไบเดนที่กำลังเข้าสู่สภา กดดันให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.3% โดยมีโครนนอร์เวย์ (NOK) และ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) เป็นสองสกุลเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านเงินบาทเริ่มทรงตัวได้ตามราคาทองคำ แต่ยังมีแรงขายหุ้นและบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติทยอยกดดันอยู่ ในระยะถัดไปจึงต้องจับตาภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกโดยมองความผันผวนที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดการเงินอ่อนไหวและเงินบาทอ่อนค่าต่อได้ในระยะสั้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่ยังคงผันผวนในกรอบกว้างอยู่ และอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ในช่วงที่ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงและลดการเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM
แต่ยังคงต้องระวังความผันผวนที่อาจกลับมา หากยีลด์ 10ปีสหรัฐฯ ยังพุ่งขึ้นต่อได้ ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจได้แรงหนุนจากการจ้างงานที่ดีกว่าคาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ สร้างแรงกดดันต่อตลาดการเงินอีกครั้ง ทำให้ สกุลเงิน EM อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ ตามแรงเทขายสินทรัพย์ EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก)
และแม้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้น แต่ก็จะไม่แข็งค่าไปมาก เนื่องจากผู้นำเข้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ต่างเริ่มทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็อาจเห็นแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อาทิ เงินเยนที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปิดปีงบประมาณของบริษัท MNC ญี่ปุ่น
ขณะที่ในฝั่งผู้ส่งออกก็ไม่รีบมาขายเงินดอลลาร์ เพราะมองว่า เงินบาทยังอาจจะอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อยู่ ทำให้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้างถึง 30.15-30.50 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ30.20- 30.35 บาทต่อดอลลาร์