ประเทศไทยได้ 'คะแนนความโปร่งใส' คงที่ เป็นอันดับ 104 ของโลก
โฆษกรัฐบาลแจง "คะแนนความโปร่งใส" ของไทยคงที่ พร้อมเดินหน้าพัฒนาทุกกระบวนการให้ดีขึ้น โดยพบว่าไทยมีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ประจำปี 2563 อยู่ในอันดับ 104 ของโลก
วันนี้ (30 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ประเทศไทยมี "คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต" หรือ CPI ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) อยู่ในอันดับ 104 ของโลก จาก 180 ประเทศ
ตามประกาศขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ระบุว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อันดับของประเทศไทยถูกปรับขึ้นลงตามปัจจัยที่ผันแปรในแต่ละปี เช่น แหล่งข้อมูลที่สำรวจ หรือจำนวนประเทศ เป็นต้น แม้ว่าปีนี้เราจะขยับลงไป 3 อันดับ แต่ไทยยังคงรักษาคะแนนรวมไว้ได้ตลอด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2018-2020 ที่ 36 คะแนน
นอกจากนี้ อันดับของไทยในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 19 จาก 31 ประเทศ ส่วนอันดับในอาเซียนดีขึ้นจากอันดับ 6 เป็นอันดับ 5
เมื่อพิจารณาคะแนนจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง พบว่าไทยมีคะแนนไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหมด 8 แหล่ง มีเพียงข้อมูลจากการสำรวจของ IMD เท่านั้น ที่คะแนนลดลงจาก 45 เหลือ 41
โดยก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหา เรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบ่อนการพนันและแรงงานลักลอบเข้าเมือง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของคะแนนที่ลดลงจากแหล่งข้อมูลนี้
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้สั่งกำชับให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอย่างเด็ดขาด ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อย่างจริงจัง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อภาคธุรกิจและประชาชน เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบผลคะแนนดัชนีดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และทบทวนการปฏิบัติงานใหม่ โดยสิ่งใดที่เป็นข้อแนะนำของ TI เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยและความโปร่งใสในการได้รับสัญญานั้น จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำๆ อีกต่อไป