'เคียงข้างอาเซียนต้านจีน'ภารกิจรมว.ใหม่กต.สหรัฐ

'เคียงข้างอาเซียนต้านจีน'ภารกิจรมว.ใหม่กต.สหรัฐ

สหรัฐจะฟื้นฟูความเป็นผู้นำบนเวทีโลกให้กลับคืนมา เปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการทูตแต่เพียงฝ่ายเดียวและยังคงใช้แนวทางที่แข็งกร้าวกับจีนต่อไป

“แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐ เริ่มงานวันแรกเมื่อวันพุธ(27 ม.ค.)ด้วยการประกาศว่าทั่วโลกกำลังต้องการความเป็นผู้นำของสหรัฐและสหรัฐจะทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน ทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก วิกฤติเศรษฐกิจ ภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมด้านสีผิว และอันตรายจากการสั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงจากประเทศที่เป็นศัตรู
นอกจากนี้ บลิงเคน ยังแสดงความเห็นระหว่างคุยโทรศัพท์กับ“ทีโอโดโร ล็อคซิน” รมต.ต่างประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมให้คำมั่นว่าจะยืนเคียงข้างชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากจีน

"สหรัฐไม่เห็นด้วยกับการที่จีนอ้างกรรมสิทธิในทะเลจีนใต้เกินจากที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และสหรัฐขอยืนเคียงข้างอาเซียนต้านทานแรงกดดันจากจีน"รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ระบุ

จะว่าไปแล้ว บลิงเคน ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับอาเซียน โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ปีที่แล้ว เขาได้ทวิตแสดงความยินดีในโอกาสก่อตั้งอาเซียนครบ 53 ปี พร้อมระบุว่า อาเซียนมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสาธารณสุขโลก เป็นศูนย์กลางความมั่งคั่งและความมั่นคงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในวิกฤตต่างๆ

ในสมัยที่ บลิงเคน ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา เขาได้เดินทางมาเยือนหลายประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา และในการกล่าวสุนทรพจน์งานเลี้ยงอาหารค่ำการประชุมสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียนที่อินโดนีเซีย เมื่อปี 2558 ที่อินโดนีเซีย บลิงเคน กล่าวว่า ตอนที่รับตำแหน่งใหม่ได้ถามประธานาธิบดีโอบามาว่าอยากให้เขามุ่งทำงานในเรื่องใด ซึ่งประธานิบดีโอบามาก็ตอบทันทีว่า เอเชีย

นอกจากนัเ บลิงเคน ยังถือเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศในแถบแปซิฟิก(ทีพีพี) และในปัญหาทะเลจีนใต้ เราอาจได้เห็นบทบาทของสหรัฐที่เข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะในเวทีอาเซียน

รมว.ต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐ ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือและความโปร่งใสในการทำงาน ผ่านการลงมติรับรองของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวันอังคาร(26ม.ค..) ด้วยคะแนนเสียง 78-22 และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนที่ 71 ของสหรัฐ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญสูงสุดในคณะรัฐมนตรีและอยู่ในลำดับที่ 4 ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี หากว่าประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และประธานวุฒิสภา ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.บลิงเคน ประกาศว่า จะฟื้นฟูความเป็นผู้นำของสหรัฐบนเวทีโลก และเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการทูตแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ใช้อยู่ปัจจุบัน แต่จะยังคงใช้แนวทางที่แข็งกร้าวกับจีนต่อไป

“ความเป็นผู้นำของสหรัฐยังคงเป็นสิ่งสำคัญ” บลิงเคนกล่าวพร้อมเตือนว่านโยบาย “America First” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บ่อนทำลายความร่วมมือพหุภาคีของโลกอย่างมาก

“เมื่อเราไม่ได้มีส่วนร่วม เมื่อเราไม่ได้เป็นผู้นำ ก็จะมีประเทศใดประเทศหนึ่งพยายามจะแทนที่เรา แต่ไม่ใช่ในแนวทางที่ดูเหมือนจะเพิ่มผลประโยชน์หรือมูลค่าของเรา หรือบางที อาจจะแย่ถึงขนาดที่ไม่มีใครขึ้นมาแทน และอาจจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในโลก” บลิงเคน กล่าว

บลิงเคน มีความเห็นว่า การแสดงความเป็นผู้นำ และไม่กระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียว จะช่วยให้สหรัฐสามารถเอาชนะจีนได้ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด และรับมือกับความท้าทายระดับโลก ส่วนจีนถือเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐ โดยเฉพาะในแง่ของผลประโยชน์ของประเทศและผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน

ในการตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บลิงเคน บอกว่า เขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายจากจีน อิหร่าน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ ทั้งยังสัญญาว่าจะฟื้นฟูภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสหรัฐในสายตาประเทศอื่นให้กลับคืนมาอีกครั้ง รวมทั้งสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐด้วย

ในส่วนของไทย แสดงความพร้อมร่วมงานกับรมว.ต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐ โดย“ธานี แสงรัตน์” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้โทรศัพท์หารือกับบลิงเคน หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นคู่ภาคีสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย พร้อมที่จะร่วมมือกับบลิงเคนและสหรัฐในการเสริมสร้างเสถียรภาพ สันติภาพ และความรุ่งเรืองในประชาคมระหว่างประเทศ

“ความเป็นหุ้นส่วนถือเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมานานกว่าศตวรรษ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ดอน กล่าวกับบลิงเคนวานนี้ (28ม.ค.)

นอกจากนี้ ดอนยังได้เชิญบลิงเคนเดินทางเยือนประเทศไทยในโอกาสที่จะเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชีย เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันต่อ “มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก” (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ซึ่งไทยมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น