พาณิชย์เดินหน้าทำเอฟทีเอสร้างแต้มต่อทางการค้า

พาณิชย์เดินหน้าทำเอฟทีเอสร้างแต้มต่อทางการค้า

กางแผนเดินหน้าเจราเอฟทีเอ 12 กรอบ เร่งเสนอครม.ไฟเขียวเปิดโต๊ะเจราเอฟทีเอไทย-อียู พร้อมฟื้นเจรจาเอฟทีเอใหม่ สร้างโอกาสการค้าไทย

เขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (Free Trade Area: FTA) หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกัน และปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ได้ขยายขอบเขตของ เอฟทีเอ ให้ครอบคลุมการค้าด้านบริการ อาทิ บริการท่องเที่ยว การรักษา พยาบาล การสื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ พร้อมกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย ซึ่งไทยได้มีการเอฟทีเอหลายประเทศ ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยในปี 2562 การค้าไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่ากว่า302,991ล้านดอลลาร์หรือกว่า 2ใน 3ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก และคิดเป็นสัดส่วน 63 % ของมูลค่าการค้าไทยกับโลกซึ่งมูลค่าการค้าของไทยกับโลก ปี 2562 เท่ากับ 482,528.68 ล้านดอลลาร์

ล่าสุดไทยลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ อาร์เซ็ป หลังจาก 15 ประเทศที่ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศและคู่เจรจา 5 ประเทศได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ยกเว้นอินเดีย ได้ร่วมลงนามผ่านระบบทางไกลเมื่อวันที่ 15 พ.ย.63 หลังใช้เวลา 8 ปี ในการเจรจา ซึ่งอาร์เซ็ปถือเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะเป็นกรอบความร่วมมือทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอาร์เซ็ปครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มีจีดีพี รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 30% ของจีดีพีโลก โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

160930297387

ภายหลังการลงนามอาร์เซ็ป ทั้ง 15 ประเทศจะดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศของตน เพื่อยืนยันการลงนามครั้งนี้และลงสัตยาบันสารยืนยันต่อเลขาธิการอาเซียน โดยกำหนดต้องครบไม่น้อยกว่า 9 ประเทศ จาก 15 ประเทศที่เป็นอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่ค้านอกอาเซียน 3 ประเทศ จึงจะมีผลบังคับใช้ได้จริง โดย15 ประเทศอาเซียนจะเร่งดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศตนเอง และลงสัตยาบันสารภายในกลางปี 2564 เพื่อให้ข้อตกลงมีผลใช้จริง

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป คือ สามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ คือ หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์ หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น และการค้าปลีก

ก้าวย่างปี 64 ที่ไทยจะต้องดำเนินการต่อไปหลังจากปิดดีลอาร์เซ็ปแล้วคือเร่งเสนอรัฐสภาเพื่อให้เห็นชอบการลงสัตยาบันคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนก.พ. เพื่อให้มีผลใช้บังคับกลางปีหน้า นอกเหนือจากอาร์เซ็ปแล้ว แผนงานการเดินหน้าทำเอฟทีเอที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ในปี 64 มี 12 กรอบเจรจา ภายใต้คอนเซ็ป ”รักษาตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่”เพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าและบริการของไทย ซึ่งการเจรจาเอฟทีเอมีทั้งการฟื้นการเจรจา เอฟทีเอกับประเทศคู่ค้า การเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ การเร่งรัดเอฟทีเอคงค้าง และการอัปเกรด เอฟทีเอ ที่มีอยู่เดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น

สำหรับการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ นั้นก็มีเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู แล้ว ซึ่งผลการศึกษา ประเมินว่า หากไทยและอียู 27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักรหรือยูเค  เพราะได้ออกจากอียูไปแล้ว ทำการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก

ทั้งนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะนำผลการศึกษา ผลการรับฟังความคิดเห็น และกรอบการเจรจา เพื่อนำเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้ไทยไปเจรจากับอียูต่อไป คาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564

ขณะที่เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่ ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบ คาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงต้นปีหน้า และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องความพร้อมและการเตรียมการของไทย

ส่วนการ เปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ ได้เตรียมเจรจาไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) คาดว่าการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงต้นปี 2564 และจะเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือเบื้องต้นกับยูเคเพื่อรวบรวมข้อสรุปเสนอระดับนโยบาย และไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย ,เอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา

160930338026

เอฟทีเอคงค้างมีจำนวน 3 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา จะเร่งรัดผลักดันให้มีความคืบหน้าและได้ข้อสรุป รวมทั้งจะเดินหน้ายกระดับและปรับปรุงความตกลงเอฟทีเอกรอบอาเซียน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เอฟทีเอ อาเซียน-จีน เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ และเอฟทีเอ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาด

นอกจากนี้การยกระดับความตกลงข้อบทต่างๆ ให้ทันสมัย สอดรับกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมีแผนจะประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) กับประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน เช่น กัมพูชา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เอเชีย เช่น จีน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และภูฏาน และภูมิภาคอื่นๆ เช่น รัสเซีย สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และสหราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่างๆ  โดยในส่วนของอาร์เซ็ปก็จะเร่งเสนอรัฐสภาเพื่อให้เห็นชอบการลงสัตยาบันคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนก.พ. 

การเดินหน้าเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรี หรือเอฟทีเอเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการค้าโลกในปัจจุบันที่หลายประเทศแสวงหาความร่วมมือด้านการค้ากับประเทศต่างไม่ว่าจะเป็นแบบทวิภาคี หรือพหุภาคี ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเอฟทีเอ จะเป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อการส่งออกของไทยในอนาคต หากไทยยังไม่เริ่มเปิดหรือฟื้นการเจรจาตามกรอบต่างๆที่วางไว้ ไทยจะเสียเปรียบกับคู่แข่งที่ก้าวหน้าไปแล้ว 1 ก้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนามที่มีการทำเอฟทีเอกับอียูไปแล้ว