'ให้ศพของผมได้ใช้ประโยชน์...' คำสั่งเสียสุดท้าย 'นพ.มงคล ณ สงขลา'

'ให้ศพของผมได้ใช้ประโยชน์...' คำสั่งเสียสุดท้าย 'นพ.มงคล ณ สงขลา'

เปิดคำสั่งเสียสุดท้าย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สธ. และปลัด สธ. จากไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง โดยสั่งเสียบุตรชายให้จัดงานเรียบง่าย งดรับพวงหรีดขอบริจาคเงินแก่โรงพยาบาล พร้อมบริจาคร่างกายเป็น "อาจารย์ใหญ่"

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อดีตปลัดสธ. และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ด้วยวัย 79 ปี เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 ธันวาคม เวลา 22.00 น. หลังจากก่อนหน้านี้เริ่มมีอาการป่วยด้วย "โรคมะเร็ง" และเข้ารักษาอาการมาอย่างต่อเนื่อง 

เบื้องต้นจะมีงานสวดพระอภิธรรม นพ.มงคล ณ วัดปริวาส พระราม 3 ในวันที่ 15 ธ.ค. 2563 เวลา 18.30 น. และ พิธีฌาปนกิจ เวลา 14.00 น. ณ เมรุวัดปริวาส

โดย นพ.มั่นจิตต์ ณ สงขลา บุตรชาย นพ.มงคล ได้ระบุไว้ใน เฟสบุ๊คส่วนตัว ถึงคำสั่งเสียของบิดา ที่มีปณิธานแน่วแน่ที่จะบริจาคร่างกายตนเองเพื่อให้ได้ศึกษาต่อ และงดจัดงานศพอย่างสิ้นเปลือง ดังนี้

"นพ.มงคลได้สั่งเสียมาตลอดว่าอยากให้จัดงานสั้นๆ อย่างเรียบง่าย และจะบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล งานศพให้จัดสวดเพียง 1 คืนเท่านั้นที่วัดปริวาสราชสงคราม เขตยานนาวา และกำชับตลอดว่าขอไม่รับพวงหรีด ดอกไม้หรือปัจจัยใดๆ ก็ตาม หากญาติมิตรหรือผู้ใดต้องการมาร่วมงานแต่ไม่สะดวก ขอให้ทำบุญบริจาคให้กับโรงพยาบาลใดๆ ก็ได้ที่สะดวก โดยให้ถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน คุณพ่อได้รับความห่วงใยจากญาติพี่น้องและกัลยาณมิตรมาโดยตลอด ทั้งตอนที่แข็งแรงและเจ็บป่วย"

160775906022

  

  • ให้ศพของผมได้ใช้ประโยชน์ 

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 6 .. ที่ผ่านมา นพ.มงคล ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Mongkol Na Songkhla ถึงเรื่องราวการรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ไต ใจความว่า

"แม้แต่ในวันตาย ผมจะเอาศพส่งไปบริจาคที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นบ้านเก่าของผม เพราะผมเคยเรียน เคยนอนอยู่ที่นั่น ศพของผมจะได้ใช้ประโยชน์ให้กับนักศึกษาแพทย์"

“แม้แต่ในวันตาย ผมจะเอาศพส่งไปบริจาคที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นบ้านเก่าของผม เพราะผมเคยเรียน เคยนอนอยู่ที่นั่น ศพของผมจะได้ใช้ประโยชน์ให้กับนักศึกษาแพทย์ ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์น้อย เพราะโดนตัดไตไปแล้ว และร่างกายส่วนอื่นๆ ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่ก็ไม่เป็นไร ยังเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง"

"เสร็จแล้วไม่ต้องไปทำพิธีศพ ไม่ว่าสวด หรือเผา หลังจากเอาร่างกายไปมอบให้ศิริราชแล้ว ญาติ พี่น้อง เพื่อน จะเอาแค่รูป กลับมาที่วัดปริวาส พระราม 3 เอารูปไปวางเอาไว้ แล้วสวดหนึ่งคืน สวดรูป ไม่ได้สวดศพ ให้สมมุติว่ารูปคือศพ โดยสวดเพียง 1 คืนที่วัด จากนั้นวันรุ่งขึ้นให้ทำบุญ เลี้ยงพระ เสร็จแล้วก็เอารูปที่สวดไปเผา ไม่ต้องเผาในเตา ให้แกะกรอบรูปออกมาแล้วเผารูปริมแม่น้ำ ปล่อยให้ขี้เถ้าลอยไปกับน้ำ แล้วญาติพี่น้องทุกคนก็กลับจบสิ้น

"ท่านไม่ต้องเอาอะไรไปเลย ให้ไปตัวเปล่า ๆ ไปทำบุญร่วมกัน พวงหรีด ดอกไม้ไม่ต้องเอา เอาแค่ใจไป ถ้าท่านอยากจะทำบุญให้ผม สามารถทำบุญที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องทำให้กับเจ้าภาพ"

ผมเป็นห่วงมาก คือ การทำบุญ ทุกหนทุกแห่งเวลาทำบุญ ก็จะเอาพวงหรีดไป ผมเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ไม่อยากให้เอาพวงหรีดไปให้เป็นมลภาวะ ท่านไม่ต้องเอาอะไรไปเลย ให้ไปตัวเปล่า ไปทำบุญร่วมกัน พวงหรีด ดอกไม้ไม่ต้องเอา เอาแค่ใจไป ถ้าท่านอยากจะทำบุญให้ผม สามารถทำบุญที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องทำให้กับเจ้าภาพ เจ้าภาพจะไม่รับเงิน แต่ขอให้ท่านเอาเงินใส่ซอง หรือเอาเงินส่งเข้าบัญชีโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลใหญ่ทั่วประเทศ นั่นคือท่านได้ทำบุญร่วมกันแล้ว นี่คือสิ่งที่จะขอร้อง ผมขอขอบคุณทุก คนที่ช่วยกันทำบุญในครั้งนี้ ขอขอบคุณอย่างสูงครับ

  • ผลักดัน "ซีแอล" ยา เพิ่มการเข้าถึง 

ทั้งนี้ "นพ.มงคล ณ สงขลา" เคยได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ในปี พ.ศ. 2519 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลพลเอกสรุยุทธ์ จุลานนท์ ช่วงปี 2549-2551 ผลงานสำคัญคือผลักดันนโยบาย “ประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” หรือ “ซีแอล” (Compulsory Licensing : CL) ช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงยาอย่างทั่วถึง

โดยหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2545 แม้ว่าจะทำให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาได้ แต่ยังไม่ครอบคลุมการรักษาทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แม้ขณะนั้นองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะได้มีการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ จีพีโอเวียร์ (GPO vir) สำเร็จ และได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2548 แล้วก็ตาม 

แต่เนื่องยังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางส่วนที่เกิดภาวะดื้อยา และจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสสูตรถัดไปซึ่งมีราคาแพงมาก ส่งผลให้ประเทศไทย โดย นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้ผลักดันนโยบาย “ประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” หรือ “ซีแอล” (Compulsory Licensing : CL) โดยประกาศซีแอล “ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์” (Efavirenz) เป็นยารายการแรก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549

ต่อมายังได้มีการประกาศซีแอลรายการยาอื่นที่จำเป็นต่อการเข้าถึงของผู้ป่วยเพิ่มเติม อาทิ ยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ (Lopinavir & Ritonavir), ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งยารักษาโรคเส้นเลือดอุดตันทั้งในสมองและในหัวใจ ยารักษาโรคมะเร็ง (Docetaxel) ยารักษาโรคมะเร็งเต้านม (Letrozole) และยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Imatinib) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและการรักษาเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ นพ.มั่นจิตต์ ณ สงขลา โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวเพิ่มเติมว่า พิธีรดน้ำศพจัดขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค. 63 ที่ตึกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เวลา 14.30 น. เพื่อบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ที่มีความผูกพัน

"ขอให้ท่านเอาเงินใส่ซอง หรือเอาเงินส่งเข้าบัญชีโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลใหญ่ทั่วประเทศ"

จากนั้นจะจัดพิธีสวดที่วัดปริวาสราชสงคราม ในวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 เวลา 18.30 น. และวันที่ 16 ธันวาคม 2563 จัดถวายเพลและฌาปนกิจ เวลาประมาณ 14.00 น. ก่อนที่ครอบครัวจะนำเถ้าของรูปและดอกไม้ไปลอยลงแม่น้ำตามตามที่ นพ.มงคล ตั้งใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:   มะเร็งคร่า 'นพ.มงคล ณ สงขลา' อดีต รมว.สธ. วัย 79 ปี