'ธนาธร' ปลุกสังคมร่วมปกป้องสิทธิเสรีภาพ อย่าให้ใครสู้ลำพัง

'ธนาธร' ปลุกสังคมร่วมปกป้องสิทธิเสรีภาพ ยุติการอุ้มหายและการบังคับให้สาบสูญ ย้ำ อย่าปล่อยให้สู้อย่างลำพัง

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมเป็นวิทยากรงานเสวนา "แด่นักสู้ผู้จากไป ประชาธิปไตยแบบไหนที่จะไม่ปล่อยให้ใครลอยนวลพ้นผิด" อันเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการแสดงภาพถ่าย ที่นำเสนอเรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทย 58 คนที่ถูกลอบสังหารหรือบังคับให้สูญหาย  ซึ่งนอกจากนายธนาธรแล้ว ยังมีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย, นางสอน คำแจ่ม ภรรยาของนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนดงมะไฟ ที่ถูกลอบสังหาร, นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ แกนนำเยาวนปลดแอกและทายาทนายเตียง ศิริขันธ์ อดีตนักสู้เสรีไทยและรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกบังคับให้สูญหาย และ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ร่วมวงเสวนา

นายธนาธร กล่าวว่า เหตุการณ์ลอบสังหารและบังคับสูญหายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทย ตั้งแต่ตอนที่ตนเติบโตมาก็ได้ยินชื่อของทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน, ต่อมาได้รู้จักชื่อของเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนต่อต้านโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก, โตมาอีกหน่อยตนก็ได้รู้จักชื่อสมชาย นีละไพจิตร ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ถ้ามาถึงคนรุ่นนี้ จะได้ยินเรื่องราวของชัยภูมิ ป่าแส, บิลลี่, สุรชัย แซ่ด่าน, ต้าร์ วันเฉลิม ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามันไม่เคยหายไปเลย เราได้ยินเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ คุณูปการของคนเหล่านี้ไม่ได้รับการพูดถึงยกย่องเท่าที่ควร เช่น สิทธิลาคลอด 90 วันและระบบประกันสังคมที่เราได้รับอยู่ทุกวันนี้ ไม่มากก็น้อยมาจากการต่อสู้ของทนง โพธิ์อ่าน, ทรัพยากรในบ้านหินกรูด-บ่อนอกที่ยังหลงเหลืออยู่ทุกวันนี้ มาจากการต่อสู้ของเจริญ วัดอักษร และยังไม่รวมกับการต่อสู้ของประชาชนหลายคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก เช่นกรณีของคุณมณฑา ชูแก้าว และคุณปราณี บุญรักษ์ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตและศพถูกทำลายเพื่อข่มขู่ไม่ให้สมาชิกที่เหลือสู้ต่อ

"เหตุที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เพราะที่ผ่านมาพวกเราในสังคมต่างเพิกเฉย ไม่ลุกขึ้นปกป้องและยืนยันสิทธิของพวกเขา ที่ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องดิน น้ำ ฟ้า ป่า ของพวกเรา เรื่องพวกนี้เป็นทั้งเรื่องของกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-สังคม และเป็นเรื่องของประชาธิปไตยทั้งสิ้น หลายกรณีผู้กระทำผิดไม่เคยถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ด้านกลับของเรื่องนี้ก็คือประชาชนในประเทศนี้ไม่มีอำนาจ ไม่มีความหมาย ไร้ค่าในสายตาของชนชั้นนำ นี่คือข้อเท็จจริง นี่คือด้านกลับว่าทำไมประชาชนไม่เคยได้รับการปกป้อง เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะชนชั้นนำต่างคิดว่าพวกคุณไม่มีค่า ไม่มีความหมาย"  นายธนาธร กล่าว

"วันนี้เราต้องพูดให้ชัดว่า เราไม่ควรที่จะปล่อยให้พวกเขาต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว เราไม่ควรที่จะปล่อยให้การอุ้มหาย การถูกข่มขู่คุกคามเป็นเรื่องปกติสามัญในสังคม เราไม่ควรจะปล่อยให้รัฐกับทุนออกแบบโครงการจากส่วนกลางเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากประชาชน แล้วประชาชนต้องมารับกรรมจากการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งทุกอย่างมันเกิดจากการที่ประชาชน อำนาจ และทรัพยากรอยู่ห่างไกลกันมาก แล้วยังมีคนกลางที่แทรกตัวเองอยู่ระหว่างชาวบ้าน ตั้งแต่ระดับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงระบบราชการต่างๆ ที่ถือครองอำนาจและทรัพยากร ใช้อำนาจในการต่อรองกับชาวบ้านแล้วสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา กดให้ประชาชนต้องยอมรับความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธินี้ต่อไป เพราะฉะนั้น ยิ่งถ้าเราทำให้อำนาจและทรัพยากรอยู่ใกล้ประชาชนได้มากเท่าไหร่ ตัด agent ที่แทรกกลางระหว่างประชาชน อำนาจ และทรัพยากรได้มากเท่าไหร่ ปัญหาเหล่านี้ก็จะน้อยลง ถ้าคุณเอาทุกปัญหามาวางไว้ตรงกลาง คุณจะเห็นได้ว่ามันล้วนมี pattern เหมือนกัน ก็คือโครงสร้างอำนาจรัฐที่ประชาชนไม่มีความหมาย ประชาชนไม่มีเสียง และทรัพยากรถูกรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางนั่นเอง" นายธนาธรกล่าว

"เราต้องกลัมาปลูกฝังค่านิยมพลเมืองกันใหม่ ว่าประเทศนี้เราเป็นเจ้าของร่วมกัน การเมืองไม่ใ่ช่เรื่องสกปรก และเราต้องสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา เพราะตราบใดที่ยังมีคนเชื่อว่าเราต้องไม่สนใจการเมือง ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็จะยังคงเป็นผู้มีอำนาจต่อไป นี่คือวาทกรรมอำนาจนิยมที่ล้าหลัง วาทกรรมที่บอกว่าประชาชนโง่ เราต้องสู้กับวาทกรรมเหล่านี้ เพื่อจะบอกว่าสิทธิในประเทศนี้ ทรัพยากรในประเทศนี้ล้วนเป็นของพวกเรา อย่าให้วัฒนธรรมอำนาจนิยมรุกคืบเข้ามาได้อีก"

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การลอยนวลพ้นผิด มักเกิดในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีระบบยุติธรรม รวมถึงกลไกการสืบสวนสอบสวนที่อ่อนแอ ไม่โปร่งใส เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และทำให้ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมั่นใจว่าจะไม่ต้องรับโทษ 

นางอังคณา กล่าวว่า การบังคับสูญหายจึงเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนนิยมใช้ในการกำจัดผู้ที่เห็นต่าง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว แม้วันนี้รัฐบาลจะมีความพยายามให้มี พ.ร.บ.ทรมานสูญหาย และการปฏิรูปตำรวจ แต่ก็พบว่ารัฐบาลเพิกเฉยต่อการขับเคลื่อนปัญหานี้

นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ แกนนำเยาวชนปลดแอก มองว่า สังคมไทยอยู่ในระบอบการปกครองประชาธิปไตยมา 88 ปี แต่ประเทศนี้ยังไม่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่ผ่านมายังเห็นความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น เช่น สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน เมื่อคนรุ่นใหม่เห็นตรงกันจึงออกมาเรียกร้องโดยการขับเคลื่อนในปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดโอกาสให้เกิดความเท่าเทียม ให้เกิดการพูดคุย แต่กลับพบว่าผู้มีอำนาจไม่มีการพูดคุย มีเพียงการให้กลุ่มผู้ชุมนุมหันมาปรองดอง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ความปรองดองไม่สามารถปรองดองได้