"ชัยชาญ" แจงดูแลทุก "ม็อบ" เท่าเทียม-ยุติธรรม

"ชัยชาญ" แจงดูแลทุก "ม็อบ" เท่าเทียม-ยุติธรรม

ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด "นายกฯ"​ถึงปฏิบัติการสลายการชุมนุม และการใช้กฎหมายดำเนินคดีกับม็อบคณะราษฎร พร้อมตั้งข้อสงสัยเจ้าหน้าที่สองมาตราฐาน ด้าน "รมช.กลาโหม" แจงแทนย้ำดูแลเท่าเทียม

        นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่อการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อสลายการชุมนุมของประชาชนในพื้นที่กทม. ที่ไม่ได้ขอหมายจากศาล และการดำเนินคดีของแกนนำผู้ชุมนุมและแนวร่วมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 
          “การชุมนุมทางการเมืองวันนี้ มีหลายกลุ่มทั้งคนเสื้อเหลือง และกลุ่มราษฎร โดยกลุ่มคนเสื้อเหลือง พบจัดกิจกรรมในกรุงเทพ และต่างจังหวัดโดยเป็นข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่น โดยคำชักชวนของรัฐมนตรีบางพรรคและผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้พบการอำนวยความสะดวกอย่างดีจากรัฐ ไม่มีการสลายการชุมนุม บางกลุ่มเผยแพร่ผ่านเพจกรมประชาสัมพันธ์ และใกล้เขตพระราชฐาน ขณะที่กลุ่มชุมนุมราษฎร ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกทำร้ายจากคนอีกกลุ่ม แต่ไม่ได้รับความสะดวก พบการสลายการชุมนุมและนำรถผู้ต้องขังมารอรับ ดังนั้นขอตั้งคำถามต่อมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่สองมาตรฐาน” นายรังสิมันต์ ตั้งคำถาม
          ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงแทนนายกฯ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยยืนยันต่อการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย และใช้หลักการสากล อาทิ การชี้แจง การเจรจา และได้เตรียมหมอ พยาบาล เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามประกาศของนายกฯ​ที่ยึดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามรัฐบาลห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนและการดูแลความปลอดภัยตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะถูกร้องเรียนว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
“เจ้าหน้าที่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้รัฐบาลตระหนักถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแม้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพ แต่มีเงื่อนไขคือต้องเป็นไปตามกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น โดยเฉพาะพฤติรกรม ยั่วยุ ก้าวร้าว ก้าวล่วง เพื่อสร้างความเกลียดชังที่จะเป็นชวนสรางความแตกแยกในสังคม” พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจง
      พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงด้วยว่า การตัดสินใจขอคืนพื้นที่ วันที่ 13 ตุลาคม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะมีหมายกำหนดการขบวนเสด็จ เวลา 15.00 น.​เจ้าหน้าที่จึงตรวจพื้นที่ เข้าเจรจาให้ผู้ชุมนุมรวมตัวบนทางท้า เพื่อให้ปลอดภัยอย่างสมเกียรติ และก่อนจับกุม ได้เจรจา ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้ความอดทน แม้จะถูกสาดสี ส่วน วันที่ 14 ตุลาคม มีคำถามเส้นทางหลัก เส้นทางรอง ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่หารือเพื่อปรับแนวทาง โดยเส้นทางรองต้องผ่านผู้ชุมนุมจำนวนมากเช่นกัน หากจะปรับทางอื่นต้องวางกำลังใหม่ ซี่งอาจทำได้ไม่เรียบร้อย  ดังนั้นทุกหน่วยงานได้วางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ส่วนการขอคืนพื้นที่ วันที่   16 ตุลาคม เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนและตามหลักสากล
160446469132_1
       
         “กรณีของคนเสื้อเหลืองที่แสดงความจงรักภักดี เป็นความรู้สึกของประชาชนที่แสดงความเห็น ปกป้องสถาบันที่คนไทยทุกคนเชิดชู กรณีที่บอกว่าเมื่อมาแล้ว ทำไมดูแลอำนวยความสะดวก นั้น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่มีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ดังนั้นประชาชนที่มารวมตัวถือว่ามาร่วมงานพระราชพิธี ไม่เข้าข่ายการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้มีบางกลุ่มแจ้งการชุมนุมและไม่แจ้ง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ดูแลตามกรอบกฎหมาย อย่างเท่าเทียมกัน” พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจง
     ทั้งนี้นายรังสิมันต์ ว่า ตนผิดหวังในคำตอบ เพราะต้องการทราบชื่อว่าใครสั่งการ, ผิดหวังต่อการสลายการชุมนุม และผิดหวังต่อการไม่ดำเนินคดีคนเสื้อเหลือง ที่ถูกมองว่าเป็นม็อบมีเส้น ซึ่งทำร้ายกลุ่มราษฎรที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้ขอให้ระวัง เพราะพูดเหมือนกับการชุมนุมและการรับเสด็จเป็นการกระทำแบบเดียวกัน ทั้งนี้การดูแลพื้นที่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่จากต่างจังหวัดถูกเกณฑ์เข้ามาดูแลสถานการณ์ จำนวน 1.4 หมื่นนาย และเชื่อว่าจะใช้งบประมาณต่อวัน ถึง 8.4 แสนบาท ทั้งนี้ขอทราบถึงงบประมาณที่ดำเนินการ และการร้องเรียนจากตำรวจที่ปฏิบัติงานที่ระบุว่าพบการหักหัวคิวเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่
         พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจง ทิ้งท้ายว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับทุกกลุ่ม โดยการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจากต่างจังหวัดการดำเนินการนั้น เพราะตำรวจควบคุมฝูงชนไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติตามแผน จึงต้องผลัดเปลี่ยนกำลังจากต่างจังหวัดช่วยปฏิบัติการ ส่วนอาหารนั้น เป็นนโยบายสำคัญของนายกฯ​ที่ให้ดูแลสิทธิ ที่อยู่ เบี้ยเลี้ยง อาหารเต็มที่  ซึ่งหมุนเวียน 15 -20 วัน การตรวจสอบหักหัวคิวนั้น ผบ.ตร.​ตรวจสอบข้อเท็จจริง บางส่วนเบิกจ่ายงบประมาณ ไม่ได้เบิกจ่ายตามงบประมาณ แต่เป็นการบริหารงานของหน่วยงาน ทั้งนี้มีนโยบายให้ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่เพื่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน.